สงครามความทรงจำ กับปฏิบัติการทางการเมือง:
ขบวนการนักศึกษาไทยหลัง 6 ตุลา-ปัจจุบัน
ประจักษ์ ก้องกีรติ
การหายตัวของนักศึกษา: อะไรหาย ?
ผู้เขียนเดาว่าหลายคนเมื่อเห็นแค่ชื่อบทความนี้ก็คงเบือนหน้าหนีเสียแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด และถ้านึกอยากไปชวนใครสนทนาถึงเรื่องบทบาทนักศึกษาเข้า ก็เชื่อได้ว่าคงหาคู่สนทนาไม่ได้เอาเสียเลย มิหนำซ้ำอาจจะถูกเย้ยหยันว่าเป็นคนเชย ตกยุค ก้าวไม่ทันโลกเอาเลยก็ได้ คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาหรือ?
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2535 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง “ชนชั้นกลางกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย” ขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดกับหัวข้อดังกล่าว เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คำว่า “ชนชั้นกลาง” ได้กลายเป็นศัพท์แสงทางการเมืองยอดนิยมที่ถูกนำไปพูดคุยถกเถียงตามหน้าหนังสือพิมพ์ และงานวิชาการต่างๆอย่างมากมายนับไม่ถ้วน[1] ในการสัมมนาครั้งนั้นได้มีการเสนอบทความรวมทั้งสิ้น 10 บทความ แม้ทว่าหัวข้อการสัมมนาจะว่าด้วยชนชั้นกลาง แต่บทความที่นำเสนอก็มิได้รวมศูนย์อยู่ที่ชนชั้นกลางแต่กลุ่มเดียว มีการพูดถึง กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นกับประชาธิปไตย, ทหาร, องค์กรพัฒนาเอกชน และลูกจ้าง คนจนเมืองกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม[2] แต่ที่สะดุดตาสะดุดใจที่สุด คือ ไม่มีบทความที่กล่าวถึงนักศึกษาเลยสักบทความเดียว
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านักศึกษาไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้นำในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เฉกเช่นการต่อสู้ในเหตุการณ์ปี 2516 และ 2519 แต่ไฉนเลยผู้จัดงานสัมมนาดังกล่าวจึงพาลละเลยไม่เอ่ยถึงแม้แต่บทบาทของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์กรนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนจะมีการรัฐประหารของรสช. และเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น องค์กรนักศึกษาก็เป็นกลุ่มที่ยืนหยัดชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของรสช. ท่ามกลางการเงียบเฉยกระทั่งชื่นชมยินดีของชนชั้นกลางไทย(ที่ภายหลังกลับถูกยกย่องว่าเป็นกองหน้าของประชาธิปไตย) ต่อการรัฐประหารครั้งนี้
ตัวอย่างที่หยิบยกมานี้ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของกลุ่มคนที่เรียกขานกันว่านักศึกษาไม่ได้รับความสนใจจากแวดวงการถกเถียงต่างๆ อีกต่อไปไม่ว่าจะในแวดวงสื่อสารมวลชน หรือในวงวิชาการ ฉะนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดยิ่งกว่าการหายไปของบทบาททางการเมืองของนักศึกษา ก็คือ การหายไปของการพูดและเขียนถึงบทบาทของนักศึกษา นักศึกษาในปัจจุบันอาจจะมีบทบาทมากบ้างน้อยบ้าง มีการรวมกลุ่มกันที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง แต่พวกเขา/เธอไม่ได้ถูกหยิบมาวิเคราะห์อย่างจริงจังอีกต่อไป
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเสียทีเดียว แต่เป็นแนวโน้มที่เริ่มเห็นได้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 และปรากฏชัดเมื่อขึ้นสู่ต้นทศวรรษ 2530 ประจักษ์พยานอันหนึ่งก็คือ หนังสือรวมบทความที่นักศึกษาจัดทำกันเองในวาระครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีบทความที่เขียนถึงบทบาทนักศึกษาเพียงบทความเดียว[3] และอีก 2 ปีถัดมาในหนังสือรำลึกวาระ 14 ปี 14 ตุลา การพูดถึงบทบาทนักศึกษาก็หายไปโดยสิ้นเชิง[4] ในขณะที่เมื่อย้อนกลับไปในการจัดงานรำลึก 10 ปี 14 ตุลา เนื้อที่ที่มีให้กับการวิเคราะห์ถึงบทบาทของนักศึกษายังมีอยู่ค่อนข้างมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ประเด็นนี้จะขยายความต่อไปข้างหน้า) ฉะนั้น นอกจากแวดวงของผู้ที่อยู่ภายนอกจะไม่สนใจที่จะพูด/เขียนถึงนักศึกษาแล้ว ตัวนึกศึกษาเองก็ปฏิเสธที่จะพูด/เขียนถึงตัวเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ที่พยายามทวนกระแสความเงียบงันนี้ ลุกขึ้นมาเขียนบทความทั้งที่เป็นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และการทบทวนประวัติศาสตร์พร้อมทั้งข้อเสนอเชิงนามธรรมบางประการต่อขบวนการนักศึกษา[5] และอย่างน้อยเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ก็ได้เป็นแรงผลักดันให้มีการกลับมาพูดถึงบทบาทของนักศึกษาอยู่บ้าง แม้จะเกิดขึ้นในระดับที่บางเบามากก็ตามที[6] สำหรับผู้เขียน ไม่ว่าบทความเหล่านี้จะถูก-ผิด ตื้นเขิน-ลึกซึ้ง แค่ไหน อย่างไรก็ตาม มันก็ควรได้รับการยกย่องชมเชย ในฐานะที่มีความตั้งใจและพยายามที่จะจุดประเด็น กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงวิวาทะเกี่ยวกับนักศึกษาขึ้นมาบ้าง โดยไม่หวั่นกลัวกับการจะถูกปรามาสหัวเราะเยาะว่าพูด/เขียนอะไรที่เชยแสนเชย
ดังได้กล่าวแล้วว่าภาวะที่บทบาทนักศึกษาไม่ถูกพูดถึง ไม่ได้รับความใส่ใจนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่ดึกดำบรรพ์ หากเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราวปลายทศวรรษ 2520 ต่อต้นทศวรรษ 2530 หลายคนคงจะไม่เชื่อว่ายุคสมัยหนึ่งสังคมไทยได้เคยทุ่มเทเวลา กำลังสมอง กำลังกายไปกับการพูด/เขียนถึงนักศึกษาอย่างคึกคักเร่าร้อนผิดกับความเงียบที่ปรากฏในปัจจุบัน เปล่าผู้เขียนไม่ได้หมายถึงช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 แต่ผู้เขียนกำลังหมายถึงยุคสมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2523-2528 เป็นต้นมาต่างหาก เพราะในช่วง 3 ปีของยุคประชาธิปไตยเบ่งบานนั้นการลงมือปฏิบัติเปลี่ยนแปลงสังคมดูจะเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน และนักศึกษาก็พอจะมีทิศทางของคำตอบให้กับตัวเองอยู่แล้ว ว่าควรจะทำอะไร และมีบทบาทอย่างไรในสังคม การวิวาทะถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทที่ควรจะเป็นของนักศึกษากลับเป็นสิ่งที่สำคัญเร่งด่วนกว่าสำหรับคนในยุคที่เรียกว่ายุควิกฤตศรัทธา หรือยุคแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ช่วงปี 2523-)[7] มีการจัดวงเสวนา อภิปราย เขียนบทความ ออกจุลสาร หนังสือ เพื่อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากมายราวดอกเห็ด กล่าวได้ว่าไม่เคยมีช่วงไหนในประวัติศาสตร์ไทยที่บทบาทของนักศึกษาจะได้รับความสนใจเป็นหัวข้อสนทนาเท่ายุคนั้นเลย
ทว่าสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้และน่าสะดุดใจมากกับการวิวาทะถกเถียงถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของนักศึกษาในยุคดังกล่าว ก็คือ มีการหยิบยกอดีตมาอ้างถึงค่อนข้างมากอย่างเห็นได้ชัด อดีตช่วง 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 ถูกนำมาใช้เป็นฐานวิเคราะห์ เป็นกรอบอ้างอิง เป็นมาตรวัด เป็นข้อเตือนใจ กระทั่งเป็นคำขู่ให้ระมัดระวังกับบทบาทในปัจจุบัน ที่มักจะมีการกล่าวกันว่าเราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อสามารถเรียนรู้บทเรียนจากอดีต ดูเหมือนว่าผู้คนในยุคนั้นจะพากันสมัครเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์กันเป็นทิวแถว ข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทนักศึกษาของแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่เสนอออกมากันในช่วงนั้น สืบค้นดูเถอะ มันล้วนวางอยู่บนความทรงจำที่มีต่ออดีตบางประการ อดีตกับปัจจุบันสนทนากันอย่างดุเดือดผ่านความทรงจำของผู้คนมากมาย จนผู้เขียนอยากจะเรียกมันว่า สงครามแห่งความทรงจำ
สิ่งที่ผู้เขียนจะทำต่อไปในบทความนี้จะไม่ใช่การเขียนประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด และก็ไม่ใช่การเสนอยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ทางออกรูปธรรมใดๆต่อขบวนการนักศึกษา(ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ) แต่ผู้เขียนอยากจะสำรวจงานที่เขียน/พูดเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาตั้งแต่ยุควิกฤติศรัทธาซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของการถกเถียงผ่านมาจนถึงสมัยปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา โดยจะชี้ให้เห็นถึงการวิวาทะของความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งในขณะเดียวกันวิวาทะเหล่านั้นก็ได้สะท้อนถึงความทรงจำต่ออดีตที่แตกต่างกันด้วย ผ่านการสำรวจงานเหล่านี้เราอาจจะตระหนักว่า ความทรงจำต่ออดีตได้มีส่วนกำหนดความคิดข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาทางการเมืองในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันการเมืองของปัจจุบันก็ทำให้เราหันกลับไปสร้างความทรงจำต่ออดีตใหม่อย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นการเล่นกลของอดีตกับปัจจุบัน ทว่าก็มีแต่การเปิดโปงกลไกการทำงานของมายากลนี้ บทบาทของนักศึกษาจึงจะก้าวไปสู่อนาคตอย่างไม่ตกเป็นเหยื่อของความทรงจำ อย่างมีความหวัง และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
ยุควิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2 กับการเปิดฉากสงครามความทรงจำ
จะเข้าใจสิ่งที่เรียกกันว่ายุควิกฤตศรัทธาหรือยุคแสวงหาครั้งที่ 2 ได้ก็ต้องเข้าใจบริบททางการเมืองและภูมิปัญญาของสังคมไทยในเวลานั้น และประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาหลัง 6 ตุลาอยู่บางประการ
นักศึกษาในช่วงนั้นแบ่งยุคสมัยของพวกเขาหลัง 6 ตุลา เป็น 3 ช่วงย่อยๆ คือ[8]
1.ช่วงหลัง 6 ตุลา-ปลายปี 2520
สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเด็จการพลเรือน ธานินทร์ กรัยวิเชียรซึ่งดำเนินนโยบายเผด็จการ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากเดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) เนื่องจากถูกชีวิตถูกข่มขุ่คุกคามจนไม่สามารถอยู่ในเมืองได้ รวมทั้งการหมดหวังกับวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมในแนวทางอื่นๆ ยอมรับแนวทางการปฏิวัติอำนาจรัฐของพคท. อย่างไรก็ตามยังมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าป่า ยังคงอาศัยอยู่ในเมืองและร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยต่อ แต่มหาวิทยาลัยในช่วงนั้นก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกต่างๆอย่างเสรีได้ นักศึกษาที่ยังต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องเคลื่อนไหวแบบไม่เปิดเผยและลง “ใต้ดิน”
2. ช่วงปี 2520 – ปลายปี 2522
การรัฐประหารล้มรัฐบาลธารินทร์ของคณะทหาร โดยมีพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นผู้นำเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 รัฐบาลใหม่ของพล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ผ่อนคลายความเป็นเผด็จการลง เปิดให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หรือที่เรียกขานกันว่าเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ส่งผลให้นักศึกษามีโอกาสแสดงออกมากขึ้น เริ่มมีกิจกรรมระดับคณะ ชมรมขึ้นในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งมีการเรียกร้องที่จะให้มีการรื้อฟื้นองค์กรนักศึกษาที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงกลับขึ้นมาใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มนักศึกษาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย(นต.ปช.) ขึ้นมาเมื่อ 28 ก.พ. 2521 ในช่วงสั้นๆนี้มีการดำเนินกิจกรรมทางสังคมการเมืองที่เด่นๆอยู่ 2-3 เรื่อง ไล่ตั้งแต่การจัดงานรับขวัญผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลาฯ 19 คน การตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การคัดค้านรัฐบาลเวียดนามกรณีลำเลียงคนเวียดนามอพยพออกนอกประเทศ การคัดค้านการขึ้นราคาน้ำมัน สังเกตได้ว่ากิจกรรมในช่วงนี้ลดความเข้มข้นทางการเมืองลงอย่างเห็นได้ชัด แม้กระนั้นก็ตามระยะนี้เป็นระยะที่ขบวนการนักศึกษายังคงมองโลกในแง่ดีและมีความเชื่อมั่นต่อบทบาทของตนเองในการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ข้อเขียนบทความต่างๆในจุลสารที่เผยแพร่กันในขบวนการนักศึกษาเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่แล้วความเชื่อมั่นทั้งหลายก็พังทลายลง กลายเป็นความสับสน ความมุ่งมั่นถูกแทนที่ด้วยความท้อแท้ อ่อนล้า อุดมการณ์ความคิดความเชื่อที่เคยยึดถือก็ถูกท้าทายตรวจสอบ และแล้วขบวนการนักศึกษาก็ย่างเข้าสู่ยุควิกฤตศรัทธา
3. ยุควิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2[9]
จากคำเรียกขานยุคสมัยนี้ทั้งสองชื่อ ก็พอจะสะท้อนได้ว่ามีสองด้านที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไปเหมือนสองด้านของเหรียญ และนี่คือบุคลิกลักษณะของยุคสมัยนี้ คือ ด้านหนึ่งเกิดความสับสนและสูญเสียความเชื่อมั่นต่อบทบาทของขบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามที่จะออกจากทางตันนี้ แสวงหาบทบาทใหม่ที่ควรจะเป็น
ถ้าจะกล่าวโดยรวบรัดแล้ว วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นก็คือวิกฤตศรัทธาที่มีต่อความคิดสังคมนิยมซึ่งนักศึกษาได้ยึดมั่นมาตั้งแต่ประมาณปี 2518 ส่วนสาเหตุหลักก็ได้มีคนวิเคราะห์ไว้มากมายแล้ว ในที่นี้จึงขอสรุปแต่เพียงสั้นๆว่าวิกฤติศรัทธาเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการมาบรรจบกัน ได้แก่ การที่รัฐบาลตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้นโยบายที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มอื่นๆในสังคม เช่น กลุ่มนักธุรกิจ, กลุ่มทหารบางกลุ่มได้ออกมาชูความคิดประชาธิปไตยกันเกร่อไปหมด ทำให้นักศึกษาสับสนและไม่รู้จะกำหนดบทบาทท่าทีของตนทางการเมืองอย่างไร สาเหตุที่สองซึ่งสำคัญยิ่งกว่าและส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงลึกซึ้ง คือ การแตกหักระหว่าง พคท.กับบรรดานักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่า ความผิดหวังกับความไม่เป็นประชาธิปไตย ความคับแคบทางความคิด และการตกอยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้นักศึกษาจำนวนมากพากันทยอยออกจากป่า และหันมาวิพากษ์วิจารณ์พคท.อย่างดุเดือดรุนแรง มีบางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การ “ตระหนักตื่น” ของปัญญาชนนักมนุษยธรรมต่อขบวนการคอมมิวนิสต์[10] ปรากฏการณ์ตระหนักตื่นต่อพคท. นี้เกิดขึ้นพร้อมกับความสับสนในสถานการณ์การเมืองของฝ่ายสังคมนิยมในระดับสากล[11] จนเกิดเป็นความถดถอยของความคิดสังคมนิยมโดยรวม
ผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตนี้นำมาสู่การลดน้อยถอยลงของปฏิบัติการทางสังคม หรือถ้ามี ก็ปรับรูปแปรร่างไปในลักษณะที่ผิดแผกจากเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นแทนคือ การหันกลับมาตั้งคำถาม ถกเถียง จับกลุ่มพูดคุย เสวนา หรือไม่ก็วิวาทะกันด้วยการผลิตงานเขียนผ่านเวทีทางความคิดอันหลากหลายที่มีอยู่ในเวลานั้น และหัวข้อหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนและถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างมากคือ บทบาทของขบวนการนักศึกษาต่อสังคมควรเป็นเช่นไร ?
ตรงนี้เองที่สงครามความทรงจำเริ่มปรากฏให้เห็น เพราะเพื่อจะตอบคำถามนี้นักคิดทั้งหลายพากันหันกลับไปมองอดีต ฉวยคว้าและคัดสรรเอาความทรงจำบางชุดบางตอนเกี่ยวกับบทบาทของขบวนการนักศึกษาในอดีตมาเพื่อเป็นฐานของข้อเสนอในปัจจุบัน เพื่อจะบอกว่านักศึกษาควรทำ/ไม่ควรทำอะไร ข้อเสนอของแต่ละคนล้วนแฝงไว้ด้วยความทรงจำแบบใดแบบหนึ่ง แน่นอนว่าความทรงจำเองไม่ได้เท่ากับความเป็นจริงในอดีตร้อยเปอร์เซ็นต์ และผู้เขียนก็ไม่ได้กำลังมาตัดสินว่าความทรงจำของใครเที่ยงตรงต่อความเป็นจริงในอดีตมากน้อยกว่ากัน สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การเลือกสรรความทรงจำมาคนละแบบมีผลในการก่อรูปความคิดว่าควรจะทำอะไรต่อปัจจุบันแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตามกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การจราจรทางเดียวที่ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดความทรงจำแต่ฝ่ายเดียว หากทว่าความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับความทรงจำนั้นเป็นไปอย่างซับซ้อน เป็นวิภาษวิธี(dialectic) คือตอบโต้ซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าความต้องการที่จะจดจำอดีตในปัจจุบันเป็นตัวไปเลือกสรรความทรงจำบางชุดขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันความทรงจำนั้นๆ ก็กำหนดรูปความคิดในปัจจุบันด้วยเช่นกัน[12] ก็เพราะเราจำอดีตแบบหนึ่งเราจึงคิดและทำอะไรในปัจจุบันแบบหนึ่ง หรืออาจจะกล่าวอีกทางหนึ่งว่าการที่เราจะตัดสินใจทำอะไรมาจากการที่เราบอกตัวเองในขณะหนึ่งๆว่าเราคือใคร ด้วยเหตุนี้ความทรงจำจึงมีความสำคัญต่อการกระทำของมนุษย์ เพราะความทรงจำมีส่วนในการประกอบส่วนสร้างอัตลักษณ์ของมนุษย์ ดังที่มีนักวิชาการคนหนึ่งพูดถึงความสัมพันธ์นี้ไว้ว่า “ความทรงจำเป็นดังเยื่อใยโปร่งเบาที่เชื่อมเหตุการณ์ในอดีตรวมตลอดถึงเค้าโครงแห่งอดีต(plot) เข้ากับบุคลิกและตัวตนของตัวบุคคลผู้จดจำเหตุการณ์นั้น”[13]
จนกระทั่งปัจจุบัน สังคมไทยยังคงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับช่วง 14 ตุลาคม 2516 -6 ตุลาคม 2516 ขึ้นมาอย่างไร อย่าว่าแต่แบบเรียนซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของนักการเมืองและผู้มีอำนาจเลย[14] ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เป็นงานวิชาการซึ่งที่จริงแล้วสามารถผลิตได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจของกระทรวงก็ยังไม่มีสักฉบับ นักประวัติศาสตร์ไทยคนสำคัญท่านหนึ่งกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์เดือนตุลาเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ “ลงตัว” อันที่จริงยังไม่มีคำอธิบายใดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางด้วยซ้ำ”[15]
เนื่องจากการไม่มีประวัติศาสตร์ที่ลงตัวของเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่ทุกคนยอมรับนี่เอง ทำให้ความทรงจำทำงานของมันอย่างแข็งขัน มีผู้คนมากมายแวะเวียนกันเข้ามาผลิตความทรงจำเกี่ยวกับอดีตช่วงนี้ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนแย่งชิงที่จะให้ความหมายผ่านความทรงจำ ดังที่ George Orwell เคยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความทรงจำว่าใครควบคุมปัจจุบัน ควบคุมอดีต ก็สามารถควบคุมอนาคต ดังนั้นความทรงจำจึงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจและการต่อต้านขัดขืน[16]
ความทรงจำนั้นต่างกับประวัติศาสตร์ ความทรงจำนั้นมีชีวิต เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นผลของการโต้ตอบระหว่างการจำกับการลืม เปราะบางที่จะถูกควบคุมจัดการ และก็อาจจะนอนอยู่อย่างสงบเป็นเวลานาน เพียงเพื่อมาถูกปลุกให้ตื่นอย่างกะทันหัน[17] ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นการสร้างขึ้นใหม่ของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ความทรงจำเป็นปรากฏการณ์ของปัจจุบันขณะ พันธนาการเราเข้ากับปัจจุบัน ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นความพยายามเสนอภาพอดีต ความทรงจำเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและการเล่นกล เปราะบางที่จะถูกแปรเปลี่ยน คัดสรร ตัดตอนแก้ไข ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นกิจกรรมทางปัญญา มุ่งที่การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ ความต่างที่สำคัญอีกประการคือ ความทรงจำเป็นของบุคคลหรือของกลุ่มที่เชื่อมต่อกัน ความทรงจำจึงมีมากมายหลากหลาย แต่โดยธรรมชาติของมันแม้จะมีความหลากหลาย กระนั้นก็ยังมีความเฉพาะเจาะจง และยังคงดำรงลักษณะปัจเจกท่ามกลางความทรงจำรวมหมู่ ในขณะที่ประวัติศาสตร์นั้นอ้างตัวเองว่าเป็นของทุกคน ไม่เลือกหน้า และดังนั้นจึงเป็นสากล และสุดท้ายแล้วเป้าหมายของประวัติศาสตร์ก็คือ การปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากความทรงจำ ทำลายความทรงจำ และเข้าแทนที่ความทรงจำในที่สุด[18]
Pierre Nora นักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำ มีทัศนะว่าความทรงจำเป็นการจัดการอดีตของสังคมโบราณดั้งเดิม ในขณะที่เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ความทรงจำจะถูกกดเอาไว้ และถูกการจัดการอดีตแบบประวัติศาสตร์เข้าแทนที่[19] ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ไทยท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว เขาไม่คิดว่ามีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างความทรงจำกับประวัติศาสตร์อย่างที่ Nora เสนอ โดยเฉพาะในกรณีของสังคมไทยซึ่งไม่เคยมีการแตกหักอย่างแหลมคมทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา ในสังคมแบบนี้ความทรงจำไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่ทั้งสองดำรงอยู่ร่วมกัน ผสมผสานและถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน[20] แต่ในงานชิ้นสำคัญของ Nora เองก็แสดงให้เห็นว่าความทรงจำมิได้มลายหายไปโดยสิ้นเชิงในสังคมสมัยใหม่ หากมันไปปรากฏอยู่ในรูปลักษณ์ที่เรียกว่า site of memory (แปลมาจากภาษาฝรั่งเศษที่ว่า lieux de me’moire) ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปลักษณ์หลากหลายพิสดารออกไป ตั้งแต่ในรูปสิ่งของวัตถุ สถานที่ กลุ่มองค์กร หรือพิธีกรรม เช่น ปฏิทิน,รูปปั้น, อนุสาวรีย์, ตำราประวัติศาสตร์,บันทึกความทรงจำ, สุสาน,จุดท่องเที่ยว, พิพิธภัณฑ์, พิธีรำลึกต่างๆ, องค์กรรวมรุ่นต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญต่างๆ(ที่จริงแล้วก็คือความคิดต่อเหตุการณ์นั้นๆ) ด้วย จุดร่วมสำคัญเบื้องหลังความหลากหลายของสิ่งเหล่านี้ก็คือ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของความตาย มรดกต่างๆของชาติ หรือการทำให้อดีตปรากฏในปัจจุบัน[21] site of memory เป็นพื้นที่ของการผสมผสาน แปรเปลี่ยนได้ มีส่วนประกอบทั้งความเป็นกับความตาย ความเป็นชั่วคราวและความเป็นนิรันดร์ จุดมุ่งหมายของการดำรงอยู่ของมันก็เพื่อหยุดเวลาเอาไว้ สะกัดยับยั้งความหลงลืม ตรึงสภาพของสิ่งที่มันรำลึกถึง ทำสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้ปรากฏขึ้น และทำความตายให้เป็นอมตะ[22] site of memory เป็นปราการค้ำจุนอัตลักษณ์ของเรา คุณค่าความสำคัญของมันยิ่งโดดเด่นเมื่อสิ่งที่มันมุ่งหมายจะจดจำถูกคุกคาม แยกสลาย หรือกำลังถูกทำให้หายไปจากชีวิตของเรา[23]
หากลองนำความคิดข้างต้นมาประยุกต์มองกรณีที่เรากำลังพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า (ความคิดต่อ) เหตุการณ์สำคัญอย่าง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ก็จัดเป็น site of memory ที่สำคัญในสังคมไทย มีความพยายามที่จะลบเหตุการณ์นี้ออกจากความทรงจำ[24] จัดการมันด้วยความเงียบ แต่ก็อำนาจรัฐไทยก็ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงพอที่จะควบคุมความทรงจำของคนไว้ได้ เมื่อไม่ให้มีประวัติศาสตร์ ความทรงจำก็วิ่งพลุกพล่านไปหมด และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าความทรงจำเป็นปริมณฑลของอำนาจและการต่อต้านขัดขืน จึงเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขัน ทั้งตัวบุคคล/กลุ่มบุคคลมากมายในสังคมไทยพากันออกมาผลิต/รื้อฟื้น//สืบทอด/ปกปักรักษาความทรงจำนี้ผ่านรูปลักษณ์หลากหลาย site of memory มีตั้งแต่ บันทึกความทรงจำ[25] การจัดพิธีศพให้กับวีรชนผู้เสียชีวิต[26] การจัดงานรำลึกครบรอบปีของทั้งสองเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน[27] วีดีโอบันทึกเหตุการณ์[28] สมุดภาพ หอจดหมายเหตุ รูปปั้นประติมากรรม และแน่นอน รวมทั้งอนุสาวรีย์[29] กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ มาคึกคักในช่วงวิกฤติศรัทธา(จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) และยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
เราลองมาพิจารณาความทรงจำเกี่ยวกับทั้งสองเหตุการณ์นี้ในปัจจุบันสัก 2-3 ตัวอย่าง
ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพจอมพล ประภาส จารุเสถียร(17 ม.ค.2541) มีข้อเขียนชิ้นหนึ่งของพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯว่าเป็นผลการกระทำของคอมมิวนิสต์ และเรียกนักศึกษาปัญญาชนที่เคยเข้าป่าและกลับออกมาในกลางทศวรรษ 2520 ว่า “กลุ่มเดนตายที่รัฐบาลให้ออกจากป่ามาพัฒนาประเทศ” ทั้งยังชี้แนะให้ดูพฤติกรรมของพวกนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “มหาวิทยาลัย นักศึกษา อาจารย์แห่งนี้ซ่องสุมกันทำอะไรขึ้นในบ้านเมือง”[30]
นอกจากนั้นยังมีความทรงจำจากปากคำของอดีตผู้คนที่เคยต่อต้านบทบาทของนักศึกษาในสมัยปี 2516-2519 หลายท่านที่น่าสนใจเก็บมาพิจารณา คนแรกคือ สมศักดิ์ ขวัญมงคล อดีตผู้นำกระทิงแดงให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีในวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯว่า “หลังจาก 6 ตุลา บ้านเมืองเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ไม่มีการปลุกม็อบเช้าเย็น ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จ แม้ว่าเราจะถูกประณามว่าใช้ความรุนแรง เราก็ต้องยอมรับในส่วนนั้น”[31]
คนสุดท้ายคือ พล.ต.สุตสาย หัสดิน อดีตเจ้าพ่อกระทิงแดงผู้อื้อฉาว ก็ให้ทัศนะต่อเหตุการณ์ทั้งสองรวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตไปในครานั้นว่า “คนที่ไปเผาป้อมยาม ตีไฟจราจร จะให้เป็นวีรชนได้ยังไง ผมคิดว่า 6 ตุลาไม่รุนแรงนะ คนก็ตายแค่นั้น เดี๋ยวเดียวก็จบ ไม่ใช่วันเดียวด้วยซ้ำ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 7 โมงเช้าเท่านั้น 14 ตุลารุนแรงกว่า เพราะไปอาละวาด สู้กันตามถนนหนทาง เผาบ้านเผาเรือน”[32] และอีกตอนหนึ่งว่า “เรื่องนี้สุดแท้แต่ใครจะคิด แต่สำหรับผม ผมมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยยังรักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้”[33]
ภาพของอดีตที่ความทรงจำเหล่านี้บรรยายคืออะไร? ก็คงเห็นว่า มันคือภาพของนักศึกษาที่มีเจตนาไม่ดีแอบแฝงต่อชาติไทยสังคมไทย ก่อความวุ่นวายไร้ระเบียบจนบ้านเมืองสับสน เป็นอนาธิปัตย์ แถมการเคลื่อนไหวบางครั้งก็เปิดโอกาสให้กลุ่มคนอื่นมาร่วมสร้างความวุ่นวาย นอกจากนี้ยังฝักใฝ่ในลัทธิชั่วร้าย มุ่งทำลายสถาบันหลักของชาติ มีจิตใจและพฤติกรรมนิยมความรุนแรงก้าวร้าว ที่สำคัญยังไม่กตัญญูรู้คุณ ก่อความเดือดร้อนให้แม้แต่คนที่เป็นครูบาอาจารย์ บาปทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยถูกโยนไปไว้บนบ่าของขบวนการนักศึกษา ส่วนคุณงามความดีนั้นตกอยู่กับผู้รักชาติทั้งหลายที่ช่วยกันออกมาต่อต้านยับยั้งการกระทำของนักศึกษาไว้ได้ทัน สามารถปกปักรักษาสถาบันหลักของชาติและประชาธิปไตยอันเป็นที่รักไว้ได้ แล้วสังคมไทยก็กลับสู่ความเป็นปกติสุข เข้ารูปเข้ารอยของมันอย่างที่เคยเป็น ที่น่าสนใจคือ ความทรงจำเชิงลบ(negative memory) นี้สร้างขึ้นทั้งจากฝ่ายที่ต่อต้านนักศึกษาและอดีตนักศึกษาบางคนที่ครั้งหนึ่งก็เคยเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนตุลาเอง แน่นอนว่าความทรงจำเชิงลบนี้เป็นความทรงจำที่ถูกเลือกสรร(selective memory)โดยผู้จำ คือคัดบางอย่างทิ้ง เก็บรับบางอย่างไว้ ใส่สีสัน คุณค่า ความหมายให้กับมัน จนความทรงจำเชิงลบนี้ดูจะสามารถครอบงำความทรงจำสาธารณะ(public memory) ได้พอสมควร ถึงกับครั้งหนึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535 14 ตุลาฯถูกนำไปโฆษณาหนังเชิงแนะนำตักเตือนว่า “นิสิตเอ๋ย อย่าพลาดเพราะ’อาจเหมือน 14 ตุลาฯ’“[34] 14 ตุลาฯในความทรงจำเชิงลบนี้กลายเป็นเรื่องของนักศึกษาที่ไร้เดียงสา และก่อการกระทำวุ่นวายจนเกิดความผิดพลาดขึ้นในบ้านเมือง
ความทรงจำเชิงลบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะ 4-5 ปีมานี้ แต่เราสามารถย้อนร่องรอยกลับไปได้ตั้งแต่สมัยวิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2 ที่สำคัญก็คือ ในครั้งนั้นนักศึกษาปัญญาชนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ผลิตความทรงจำเชิงลบนี้เสียเอง
ความทรงจำเชิงลบต่อขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาในวิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2
ดังได้ชี้ให้เห็นในหัวข้อที่แล้วว่า ยุควิกฤติศรัทธาเป็นช่วงที่มีการหันกลับไปทบทวนเหตุการณ์เดือนตุลาอย่างคึกคัก และมีการผลิตความทรงจำออกมามากมาย แต่ความทรงจำอันมากมายนี้แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีจุดร่วมบางประการคือ มองบทบาทของนักศึกษาในช่วงเดือนตุลาไปในทางลบ ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันทั่ว
ไป[35] และส่งผลต่อข้อเสนอว่าบทบาทของนักศึกษาควรจะเป็นเช่นไรในปัจจุบัน จากการสำรวจผู้เขียนพบว่าแหล่งที่มาของความทรงจำชนิดนี้มาจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ นักศึกษาที่เข้ามาทำกิจกรรมในยุควิกฤตศรัทธา นักคิดฝ่ายพุทธ และงานวิชาการบางชิ้น
งานเขียนดกดื่นที่ปรากฏในจุลสาร/หนังสือที่จัดทำโดยนักศึกษาในช่วงปี 2523-2525 สะท้อนหรือบอกเล่าให้เห็นถึงความสับสน การขาดความเชื่อมั่น และอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ต่อการดำเนินกิจกรรมเพื่อคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในแวดวงนักศึกษานักกิจกรรม[36] ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งในปี 2524 ยอมรับว่าเรากำลังก้าวเข้าสู้ยุคที่ “นักศึกษากำลังซบเซา” เขายังแสดงทัศนะอีกว่า สิ่งที่เรียกว่าถูกต้องในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นเพียงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาเคยแสดงออกต่อสังคมรวมทั้งความคิดต่างๆก็ควรจะถูกท้าทายทบทวน ท้ายสุดเขาเห็นว่า บทบาทขบวนการนักศึกษาต่อสังคมก็ควรถูกหยิบยกมาถกเถียง และแน่นอนว่าเขาพูดถึงการทบทวนฐานะทางประวัติศาสตร์และบทเรียนของ 14 ตุลาด้วย[37] คงไม่แปลกใจหากจะบอกว่าผู้นำนักศึกษาผู้นี้คือ ผู้ที่เสนอคำเรียกขานยุคสมัยของเขาว่า “ยุคสมัยแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2”
ความทรงจำของนักศึกษาในยุคแสวงหาครั้งที่ 2 เกี่ยวกับ14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯและบทบาทของนักศึกษาในช่วงนั้น สรุปออกมาได้คือ พากันเห็นว่าช่วง 2516-2519 เป็นความผิดพลาด ซ้ายเกินไป ดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความคิดจิตใจของคนไทย(โดยเฉพาะคนชั้นกลาง) ถูกครอบงำด้วยความคิดสังคมนิยมของพคท.โดยขาดการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้นักศึกษาแปลกแยกจากมวลชน ถูกโดดเดี่ยว จนถูกปราบในที่สุด ความพ่ายแพ้นี้นักศึกษากลายเป็นเหยื่อเพราะความไม่สุขุมรอบคอบของตัวเอง[38]
ความทรงจำเชิงลบดังกล่าวที่มองว่าขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ 14 ตุลาฯถึง 6 ตุลาฯ เป็นเรื่องของความผิดพลาดและพ่ายแพ้ จึงนำมาสู่ข้อเสนอว่า อย่าซ้ายจัด อย่าเคลื่อนไหวมากนัก สุขุมรอบคอบให้มาก ประสานรอมชอมกับกลุ่มพลังต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีก เช่น มีการเสนอให้นักศึกษาประสานความร่วมมือกับกลุ่มทหารและนายทุนอุตสาหกรรมใหญ่เพราะมีความต้องการประชาธิปไตยเหมือนๆกัน ความทรงจำเชิงลบที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นคำขู่ที่มีประสิทธิภาพในการปรามให้นักศึกษาลดบทบาทของตนเองเสีย ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่ออีก ซึ่งผลลัพธ์รูปธรรมของมันก็คือปฏิบัติการทางสังคมของนักศึกษาลดน้อยถอยลงไปอย่างมหาศาล และในกรณีที่มีการเคลื่อนไหว ระดับของความแหลมคมหนักแน่นในการปฏิเสธระบบสังคมที่ดำรงอยู่ก็ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย
ขณะที่ในแวดวงขบวนการนักศึกษาเองกำลังมีการถกเถียงทบทวนบทบาทของตนในอดีตอย่างดุเดือดเข้มข้นนั้น นักคิดปัญญาชนกลุ่มหนึ่งก็เข้ามามีส่วนสมทบการรื้อฟื้นอดีตครั้งนี้ด้วย นักคิดกลุ่มนี้คือ นักคิดฝ่ายพุทธที่ให้ความสำคัญกับการนำศาสนาพุทธมารับใช้ปัจเจกบุคคลและสังคม ปฏิเสธการนับถือศาสนาแต่เพียงพิธีกรรมและรูปเคารพ ปัญญาชนคนสำคัญของกลุ่ม คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พร้อมกับลูกศิษย์อีกจำนวนหนึ่งอาทิเช่น พระประชา ปสนนธมโม(ประชา หุตานุวัตร) พระไพศาล วิสาโล วิศิษฐ์ วังวิญญู สันติสุข โสภณสิริ เวทีสำคัญในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มอยู่ที่ วารสารปาจารยสาร การหันกลับไปมองอดีตของนักคิดกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างจากกลุ่มแรกเท่าไรนักแต่มีแง่มุมวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างเพิ่มเติมและน่าเชื่อว่าส่งอิทธิพลต่อกลุ่มแรกในบางระดับด้วย โดยเฉพาะความคิดของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
ในช่วงปี 2522-2526 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาในอดีตไว้มากมาย สุลักษณ์เล่าให้นักศึกษารุ่นหลังฟังว่าที่รุ่นที่แล้วมาล้มเหลวก็เพราะคิดว่าตัวเองเป็นพระเอก ไม่ฟังใคร หลงนึกว่าตนเองได้รับชัยชนะ นึกว่าตนเองเป็นฮีโร่ เข้าไปแก้ปัญหาทุกเรื่องจนคนรำคาญ[39] มองปัญหาเป็นขาวดำ และยังอ่อนหัด ไร้เดียงสา และนิยมความรุนแรง การคัดสรรความทรงจำของสุลักษณ์ที่มีต่อเหตุการณ์ช่วงปี 2516-2519 มาเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง ให้ภาพของนักศึกษาที่อ่อนหัด ไร้เดียงสา ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มต่างๆในเวลานั้น นิยมความรุนแรง และยุ่งไปทุกเรื่องจนพาคนไปตาย ความทรงจำเช่นนี้ไม่ว่าจะมาจากความหวังดีอย่างไรย่อมบั่นทอนความคิดที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสังคมของนักศึกษา ความเชื่อมั่นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่มีปัญหา มันกลายเป็นทั้งบทเรียน คำเตือน คำขู่ และคำพิพากษา หรือมันอาจจะเป็นการแก้เผ็ดอดีตของสุลักษณ์[40] แต่อาจจะโดยไม่รู้ตัว ในกระบวนการพิพากษาอดีตผ่านการบอกเล่าความทรงจำนี้ สุลักษณ์ได้ทำให้เหยื่อกลายเป็นอาชญากร(ไร้เดียงสาแต่ก็ชอบความรุนแรง)ไปด้วย และกลายเป็นความทรงจำเชิงลบต่อขบวนการนักศึกษาแบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำสาธารณะของสังคมไทย
งานอีกชิ้นหนึ่งขอกนักคิดในกลุ่มนี้ที่จะหยิบยกขึ้นมาคืองานของ สันติสุข โสภณสิริ ที่ชื่อว่า “สุญญากาศทางอุดมการณ์ ความกึ่งดิบกึ่งดีของฝ่ายก้าวหน้าไทย”(2527)[41] กล่าวได้ว่างานชิ้นนี้ เป็นงานที่ผู้เขียนบอกเล่าอดีตของขบวนการนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ด้วยท่วงทำนองที่ดุเดือดรุนแรง บริภาษใส่ขบวนการนักศึกษาในอดีตอย่างไม่ใยดี บรรยายถึงความเอียงซ้ายสุดขั้ว มีแต่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่ขาดความเข้าใจชีวิตในมิติลึก ขาดความเข้าใจจริยธรรมขั้นพื้นฐาน(นี่เป็นข้อหาที่นักคิดฝ่ายนี้ทุกคนโจมตีขบวนการนักศึกษาในอดีต) การรับเอาความคิดสังคมนิยมของพคท.กลายเป็นอาชญากรรมที่ถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสียว่านักศึกษาขาดสติปัญญาและความกล้าหาญทางจริยธรรม มีแต่ความฝันเฟื่อง การมีศรัทธาต่อประชาชนและมุ่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามถูกมองเพียงว่านักศึกษาทำไปเพราะเป็นแฟชั่น ซ้ำร้ายนักศึกษาอาจจะเป็นเพียงแค่นักฉวยโอกาสเท่านั้น[42]
ข้อเสนอว่านักศึกษาคนหนุ่มสาวในเวลานั้นควรจะทำอะไรของนักคิดกลุ่มนี้จึงเป็นการหันไปสร้างพลังของปัจเจกบุคคล เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และความสามารถส่วนบุคคล ดังที่ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์กล่าวไว้ในปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ปี 2526 ไว้ว่า ”เรามีปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า คนเพียงคนหนึ่งถ้ามีความคิดที่ถูกต้อง และมีความเพียรพยายามที่จะกระทำตามแนวทางนั้นแล้วก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สังคมได้อย่างมาก”[43] พร้อมไปกับบอกเล่าความทรงจำเชิงลบต่อขบวนการนักศึกษา นักคิดฝ่ายนี้ได้หยิบยกปัจเจกบุคคลบางคนขึ้นมายกย่อง และยกให้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง และฉายภาพเปรียบเทียบให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีในสิ่งที่ขบวนการนักศึกษาไม่มี คือ ความเป็นอิสระ แสวงหา มีคุณธรรมจริยธรรม แนบแน่นกับอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ รู้ชัดว่าต้องการอะไร คำเนินชีวิตตามความเชื่อของตนอย่างไม่ลังเล การยกย่องปัจเจกบุคคลไม่ใช่เรื่องเสียหายเสียทีเดียว แต่การยกย่องตัวบุคคลโดยกดข่มคุณค่าของปฏิบัติการทางสังคมของกลุ่มคนหนุ่มสาวผ่านการบอกเล่าแต่ความทรงจำด้านลบจนขบวนการนักศึกษากลายเป็นปีศาจ ไม่เห็นด้านที่เป็นความเสียสละ กล้าหาญ และพลังของการรวมกลุ่ม และหันไปสร้างความทรงจำที่วิเศษสมบูรณ์จนเกินจริงให้กับปัจเจกบุคคลเหล่านั้น จนทุกท่านกลายเป็นเทวดายิ่งกว่ามนุษย์ปุถุชนที่ย่อมต้องมีการเรียนรู้ทดลอง ผิดพลาดล้มเหลว สับสนท้อแท้เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่น ใช่หรือไม่ว่านี่คือการสร้างมายาภาพขึ้นมาลวงตาคนรุ่นหลังอย่างร้ายกาจแนบเนียน ทั้งบั่นทอนและไม่เกื้อหนุนส่งเสริมสปิริตของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
แหล่งที่มาสุดท้ายที่มีบทบาทในการพยายามฝังรอยประทับความทรงจำเชิงลบบนความทรงจำสาธารณะของสังคมไทย คืองานวิชาการประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาบางชิ้น “งานวิชาการ” เหล่านี้วิเคราะห์และนำเสนอประวัติศาสตร์โดยรับเอาความทรงจำเชิงลบชุดหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจากแหล่งที่มาสองแหล่งข้างต้น พยายามยกระดับความทรงจำให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเชิงอรรถอ้างอิง ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้กลายเป็นความจริงสากลที่เป็นกลาง แต่ก็อย่างที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้กล่าวเตือนและชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทุกชิ้นมักจะอ้างว่างานของตนเที่ยงตรงต่อข้อเท็จจริง สามารถสะท้อนความเป็นจริงของอดีตอย่างรอบด้านสมบูรณ์ โดยไม่เคยตระหนักเลยว่างานของตนนั้นพูดแทนความทรงจำบางส่วนบางเสี้ยวเท่านั้น[44] ความข้อนี้ปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจนในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เขียนถึงขบวนการนักศึกษาไทยในช่วง 14 ตุลาฯ -6 ตุลาฯ
งานชิ้นแรกๆในกลุ่มนี้น่าจะเป็นงานของถนอมฤทธิ์ ธรรมราษฎร์ (นามปากกา) เรื่อง “บันทึกเชิงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของขบวนการนักศึกษาไทย” ตามมาด้วย พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม “ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และความสัมพันธ์กับพคท.” สุดท้าย งานในแนวนี้ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ในวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ของ คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง เรื่อง “ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการนักศึกษาไทยระหว่าง พ.ศ.2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”[45] โครงเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์กลุ่มนี้มีอยู่ง่ายๆว่า เริ่มบรรยายถึงการก่อเกิดของขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลาฯซึ่งมีลักษณะเป็นอิสระ แสวงหา มีความเป็นนักคิด และนักมนุษยธรรมสูง ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองมีประชาธิปไตย นักศึกษาเริ่มรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวทีละเล็กละน้อยจนสะสมชัยชนะมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมามีบทบาทนำและได้รับชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ต่อมาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯไม่นานนัก นักศึกษายังคงมีความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยซึ่งต่อเนื่องมาจากขบวนการนักศึกษารุ่นก่อนหน้า 14 ตุลาฯ แต่แล้วขบวนการนักศึกษาก็เปลี่ยนไปรับความคิดสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อยๆโดยมีเป้าหมายและแนวทางในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ระบอบสังคมนิยม ขบวนการนักศึกษาได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ตกอยู่ภายใต้การครอบงำและชี้นำจากพคท. และเมื่อนักศึกษามีความคิดเปลี่ยนไปในทางสังคมนิยมมากยิ่งขึ้นก็ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆของขบวนการนักศึกษาซ้ายจัดมากขึ้น เป็นไปในทางที่เผชิญหน้ากับอำนาจรัฐอย่างรุนแรงและแหลมคม ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนและชื่นชมนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นักศึกษาจึงถูกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากสังคมมากขึ้น มีความชอบธรรมน้อยลง จนถูกฝ่ายอำนาจรัฐทำการตอบโต้อย่างรุนแรงและถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นการยุติบทบาทของขบวนการนักศึกษาในที่สุด
โครงเรื่องที่พัฒนามาจากความทรงจำเชิงลบที่แพร่หลายในช่วงวิกฤตศรัทธานี้ได้ตอกย้ำความผิดพลาดพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาในอดีตอีกครั้ง เมื่อมาถึงปลายทศวรรษ 2520 ความทรงจำเชิงลบที่มีแหล่งที่มาจากทั้ง 3 แหล่งข้างต้นที่บรรยายมาก็ได้กลายเป็นทัศนะที่ยอมรับกันทั่วไป ปฏิบัติการทางสังคมที่ลดน้อยถอยลงของขบวนการนักศึกษาเป็นผลส่วนหนึ่งจากข้อเสนอต่างๆที่ให้กลับไปพัฒนาศักยภาพในระดับปัจเจกบุคคล ให้สุขุมรอบคอบ อย่าเคลื่อนไหวมากนัก ประนีประนอมรอมชอมได้เป็นดี ข้อเสนอเหล่านี้วางอยู่บนความทรงจำเชิงลบซึ่งเป็นความทรงจำที่ถูกเลือกสรรมาเป็นบทเรียนและคำขู่ต่อนักศึกษารุ่นหลัง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการผลิตความทรงจำเชิงลบกันอย่างเข้มข้นอยู่นั้น ก็ได้มีความพยายามเล็กๆที่จะเสนอความทรงจำเชิงบวกขึ้นมาปะทะแข่งขันด้วย
ความทรงจำเชิงบวก: ความทรงจำแย้งที่ต้องปิดฉากด้วยความพ่ายแพ้?
เนื่องจากความทรงจำเป็นพื้นที่ของอำนาจและการต่อต้านขัดขืน จึงมีการประชันขันแข่งกันเสมอในสนามของความทรงจำ เพื่อแย่งชิงพื้นที่กันในความทรงจำสาธารณะหรือความทรงจำแห่งชาติ ใครยึดกุมความทรงจำสาธารณะได้ก็ยึดกุมปัจจุบัน และอนาคตของสังคม ในการที่จะบอกว่าควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร[46] เพราะความทรงจำเป็นตัวการนิยามความสัมพันธ์ที่เรามีต่ออดีต เป็นการทำให้เราค้นพบรากของตนเอง รู้ว่าสังกัดของเราอยู่ที่ไหน มันจึงเป็นแหล่งที่มาของอัตลักษณ์ที่เต็มไปด้วยคุณค่าความหมาย[47] แน่นอนว่าในการแข่งขันนี้ความทรงจำบางชนิดอาจจะมีฐานะครอบงำความทรงจำแบบอื่นๆ แต่สถานะดังกล่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ[48]
ความทรงจำของทุกฝ่ายทุกคนล้วนเป็นความทรงจำที่เลือกสรร(selective memory) ความจริงข้อนี้ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาอยู่ที่ว่าความทรงจำที่เลือกสรรนั้น ได้เลือกที่จะจำอะไรและไม่จำอะไร หากเปรียบอดีตเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่บนเวที ความทรงจำที่เรามีต่ออดีตก็เปรียบเหมือนแสงไฟจากสปอตไลท์ที่คอยสาดส่องไปบนเวที สปอตไลท์ตัวหนึ่งๆย่อมไม่อาจให้ความสว่างกับทุกสิ่งที่อยู่บนเวทีได้ฉันใด ความทรงจำของบุคคลหนึ่งๆก็ฉันนั้น มันอาจจะเลือกฉายไปที่ตัวละครโดยไม่สนใจฉากที่อยู่เบื้องหลัง มันอาจจะจับไปที่พระเอกโดยไม่สนใจตัวประกอบอื่นๆ หรือมันอาจจงใจที่จะฉายไฟเพื่อจับผิดตัวละครในตอนที่เขาสะดุดหกล้มเพื่อเรียกเสียงหัวเราะเยาะจากคนดู ใช่หรือไม่ว่าความทรงจำเชิงลบที่มีต่อขบวนการนักศึกษาก็เลือกที่จะจำเพียงบางอย่าง ลืมบางอย่าง เลือกเน้นย้ำการกระทำบางด้าน แต่งแต้มเติมสีมันให้กับมัน ในขณะเดียวกันก็บดบังการกระทำบางด้านหรือทำให้มันสลัวๆเสีย ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ โดยการบอกเล่าความทรงจำอีกชุดหนึ่งออกมาเพื่อคานและถ่วงดุล
ชินทัศน์(นามแฝงของอดีตผู้นำนักศึกษาท่านหนึ่ง) ออกมาตอบโต้กับสิ่งที่เรียกว่าการแสวงหาครั้งที่สองที่หันไปดูหมิ่น ลดทอนคุณค่าของบทบาทนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ- 6 ตุลาฯ ที่สร้างให้กับสังคมไทย ที่บอกเล่ากันว่านักศึกษาช่วงนั้นรุนแรงไร้เดียงสา ไร้ความรู้และประสบการณ์ มีแต่ศรัทธา จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมนั้น ชินทัศน์แย้งว่าความอ่อนหัด ไม่ค่อยมีความรู้ สูตรสำเร็จ ทฤษฎีง่ายๆตายตัวที่ถูกประณามเหล่านี่นั่นแหละที่ได้ทำหน้าที่อย่างสำคัญในยุคสมัยของมันและมีคุณูปการมาถึงสมัยหลัง ปฏิบัติการทางสังคมการเมืองของนักศึกษาในยุคนั้นเป็นการตอบโต้กับระบบที่ดำรงอยู่ของสังคมอย่างถึงราก เป็นหัวหอกทะลุทะลวงปราการวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมทุกด้าน ความก้าวร้าวและการปฏิเสธอย่างถึงรากได้แผ้วถางแก่การขยายตัวของการผลิตหนังสือ วรรณกรรม การวิจารณ์ รวมถึงการตื่นตัวทางวิชาการขนานใหญ่ นำรสชาติและวิญญาณใหม่ๆมาสู่ศิลป ดนตรีที่ท้าทายและแหวกกรอบ สร้างค่านิยมที่ไม่เคยแข็งแกร่งมาก่อนในหมู่คนไทย เช่น ความสนใจทางการเมือง ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทำให้ผู้เสียเปรียบในสังคมรู้จักและกล้าที่จะรวมตัวเพื่อพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของพวกเขา[49] ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นด้านที่ดีงามและสร้างสรรค์ของขบวนการนักศึกษาในอดีตที่ถูกละเลยไปในความทรงจำเชิงลบ การสร้างความทรงจำเชิงลบจึงเป็นวิธีการที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการลดทอนความเป็นการเมือง (depoliticization) ของขบวนการนักศึกษา สร้างความชอบธรรมให้กับการเลิกที่จะปฏิเสธหรือท้าทายกับระบบสังคมที่ดำรงอยู่อย่างถอนรากถอนโคน และหันไปประนีประนอมกับระบบแทน ด้วยข้ออ้างของความสุขุม ไม่ซ้ายจัด
ในปีเดียวกันนั้น เกษียร เตชะพีระอดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในสมัยหลัง 14 ตุลาฯ ก็บอกเล่าความทรงจำด้านที่งดงามมีคุณค่าความหมายของขบวนการนักศึกษาในอดีตต่อนักศึกษารุ่นหลัง ผ่านบทบันทึกของเขาชิ้นหนึ่งที่ชื่อ “บันทึกความรู้สึกแห่งยุคสมัย” ลงตีพิมพ์ในหนังสือต้อนรับเพื่อนใหม่ ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2536 ความตอนหนึ่งในบันทึกนี้บอกเล่าอย่างชัดเจนว่า
แน่นอนผมยังอ่อนวัยขาดประสบการณ์ในวินาทีที่เดินเข้าป่าไป แต่การขยายความผิดพลาดจุดนั้นเสียจนเกินจริง เกินปริบทที่จำเป็นและเป็นจริงทางภาววิสัยของประวัติศาสตร์ ขยายมันจนปิดบังด้านที่ถูกต้อง รุ่งโรจน์ ก็จะมิใช่อาชญากรรมของนักตีความทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งหรือ? ปัจจุบันไม่เคยมีใครบอกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ดี ถูกต้องสมควรจะเกิด ไม่มีใครบอกว่าพวกขวาจัดที่ก่อรัฐประหารนองเลือดทำถูก ไม่มีใครยกย่องรัฐบาลหอย ไม่มีใครปกป้องออกหน้ารับแทนพคท. แต่มีใครเห็นหรือพุดออกมาดังๆบ้างไหมว่า จิตใจของเยาวชนคนหนุ่มสาวเรือนพันที่ถอดเครื่องแบบนักศึกษาลาพ่อแม่ญาติมิตรคนรัก ทิ้งสุขนานาที่รอให้เสพในสังคมไปตรากตรำลำบากเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทำสงครามอยู่ในรกในพงนั้นถูกต้อง? ไม่มี! ใครจะว่าอะไรผิดหรือผมผิดมหาผิดก็ว่าไป แต่อย่างหนึ่งที่ผมคิดผมเชื่อคือ จิตใจแบบนั้นถูกต้อง ยิ่งใหญ่ ควรศึกษา เชิดชู ส่งเสริม เพราะเอาล่ะ ไม่ว่ามันจะผิดถูกทางความรับรู้ความเข้าใจอย่างไรก็ตาม มันคือจิตใจที่สละมวลประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ของประชามหาชน[50]
บันทึกชิ้นนี้ของเกษียรก็คือ เสียงประท้วงต่อความทรงจำเชิงลบที่กำลังทำงานอย่างแข็งขันในช่วงนั้น แต่ดูเหมือนความทรงจำเชิงลบที่เกษียรปะทะตอบโต้ด้วยกำลังกลายเป็นความทรงจำของสังคมเข้าทุกที
การแข่งขันกันของความทรงจำเชิงลบ(negative memory) กับความทรงจำเชิงบวก(positive memory) ในยกแรกนี้จึงดูจะจบลงด้วยการผงาดขึ้นมีฐานะครอบงำของฝ่ายแรกในความทรงจำสาธารณะของสังคมไทย
ข้อเสนอว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษาในปัจจุบัน: การหลอกหลอนของความทรงจำ
เมื่อขึ้นทศวรรษ 2530 ก็แทบไม่มีใครมานั่งถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทขบวนการนักศึกษากันอีก ความเงียบปกคลุมไปทั่ว ความซบเซาของกิจกรรมนักศึกษาก็เป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาที่ไม่ต้องอาศัยการสังเกตุอย่างใกล้ชิด ก็สามารถรับรู้ได้โดยทั่วไป สปิริตของการมีส่วนร่วมทางการเมืองหายไปกับความทรงจำเชิงลบ จนนักศึกษาทั่วไปก็รู้สึกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเรื่องน่าอันตราย หวาดเสียว สกปรก เสียเวลา และพ้นสมัยเสียแล้ว “เราเป็นแค่นักศึกษา ความรู้ ประสบการณ์อะไรก็ไม่ค่อยมี ไปยุ่งเรื่องการเมืองก็ตกเป็นเครื่องมือของคนอื่นเปล่าๆ” “ไปยุ่งเรื่องการเมืองมากๆเดี๋ยวก็เป็นแบบ 6 ตุลาหรอก ไม่เข็ดหรือ?” “เราเป็นแค่นักศึกษาตัวเล็กๆ แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว” “หน้าที่ของเราคือเรียนหนังสือ ศึกษาหาความรู้นะ ไม่ใช่ไปเย้วๆ ก่อความวุ่นวาย” ใครไม่เคยได้ยินประโยคเหล่านี้บ้าง?
ที่มาของประโยคเหล่านี้ที่หลุดออกมาจากปากคำของนักศึกษารุ่นใหม่ ล้วนเป็นผลมาจากความทรงจำเชิงลบที่แพร่หลายจนพวกเขาคุ้นชิน ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ทั้งจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม และสื่อมวลชนสารพัดชนิด มันกลายเป็นความทรงจำที่ก่อร่างอัตลักษณ์ของเขาขึ้นมา นักศึกษาคือใคร ทำอะไรได้/ไม่ได้บ้าง และควรทำ/ไม่ควรทำอะไร ดูจะมีคำตอบเสร็จสรรพรอพวกเขาอยู่แล้ว
แต่ใช่ว่าความทรงจำเชิงบวกจะพ่ายแพ้หรือถูกทำให้หายไปโดยสิ้นเชิง มันยังคงมีบทบาทต่อนักศึกษากลุ่มเล็กๆ เป็นแหล่งที่มา ก่อรูปก่อร่างอัตลักษณ์ให้กับพวกเขา หล่อเลี้ยงความฝัน ความมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทช่วยเหลือแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคม ต่อสู้เพื่อคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2527 เกิดชุมชนของความทรงจำเล็กๆที่สืบทอดกันมา แต่ในสภาวะที่นักศึกษาคุ้นชินกับภาพลักษณ์ในทางลบต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ฐานของชุมชนนี้จำกัดอยู่ในกลุ่มนักศึกษาเล็กๆไม่อาจขยับขยายออกไปได้มากนัก เกิดปัญหาเรื่องการขาดคนทำงานที่บ่นกันเสมอมา ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาที่แหวกฝ่าภาพลักษณ์ลบๆที่สกปรก วุ่นวาย ของกิจกรรมนักศึกษาในอดีต เข้ามาร่วมชุมชนดังกล่าวเพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่น้อยมาก
งานที่พยายามนำเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีดูจะมีจุดบอดมองไม่เห็นกลไกการทำงานของความทรงจำเชิงลบที่มาบั่นทอนกำลังใจและความกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษารุ่นใหม่ มุ่งเสนอแต่เพียงข้อเสนอรูปธรรมเฉพาะหน้าต่อคนทำงานเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้การแก้ปัญหาวนเวียนอยู่ที่เดิม และไม่สามารถขยายฐานของการเข้ามามีส่วนร่วมลงมือกระทำการสร้างสรรค์สังคมให้แผ่กว้างออกไปได้
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นให้มีการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทนักศึกษาต่อสังคมขึ้นมาในปัจจุบัน ซึ่งมีบางประเด็นที่อยากจะหยิบยกมาไว้ในที่นี้
ในแง่ข้อเสนอเรื่องแนวทางการเคลื่อนไหว ดูเหมือนจะมีความเห็นร่วมกันที่ให้เปลี่ยนวิธีคิดมุมมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว โดยเปลี่ยนจากเรื่องของการเมืองไปเป็นประเด็นและปริมณฑลทางวัฒนธรรม หรือกล่าวในอีกภาษาหนึ่งที่ไม่ต่างกันนักคือ ขยายนิยามของ “การเมือง” ให้กว้างขวางมากขึ้นจากเรื่องของการช่วงชิงอำนาจรัฐหรือการต่อสู้ผ่านสถาบันทางการเมือง ไปเป็นการเมืองเรื่องระบบคุณค่า ต่อสู้แย่งชิงในการให้ความหมาย นิยามสิ่งต่างๆในสังคม ผู้เขียนคิดว่าข้อเสนอดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทฤษฏีทางการเมือง 2 ชุด หนึ่งคือ แนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่(new social movement) และสองคือแนวคิดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม(cultural politics) ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้เสนอทั้งสอง และน่าจะเป็นข้อเสนอที่สร้างประโยชน์ต่อขยายกรอบวิธีคิดวิธีวิเคราะห์สังคมของนักศึกษาไปได้มากมายทีเดียว
ประเด็นถัดมาที่สังเกตได้ คือ สงครามของความทรงจำยังคงทำงานของมันอยู่จนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อความคิดและการกระทำของนักศึกษา หากสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรมอยู่นั้น ความทรงจำที่หลอกหลอนไม่ใช่ความทรงจำเชิงลบดังเช่นนักศึกษาทั่วไป หากเป็นความทรงจำเชิงบวกต่อขบวนการนักศึกษาในอดีตที่เกินเลย
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าความทรงจำเชิงบวกแม้จะไม่แพร่หลายเท่าความทรงจำเชิงลบ แต่ก็มีอิทธิพลในการให้แรงบันดาลใจต่อนักศึกษากลุ่มเล็กๆที่ทำกิจกรรม หากทว่านานวันเข้า สิ่งที่เคยให้แรงบันดาลใจ และเป็นตัวหล่อเลี้ยงความฝันความเชื่อมั่นในการทำกิจกรรม ก็กลับกลายเป็นแอกที่หนักอึ้ง เป็นรอยเท้าที่ยากจะเดินตาม และที่สุดก็กลายเป็น “ผี” ที่หลอกหลอนนักกิจกรรมรุ่นหลัง บางคนเรียกมันว่าเป็น “มายาภาพของเดือนตุลา” บางคนเรียกมันว่า “ผี” ถึงกับเสนอว่าการไล่ “ผี” เหล่านี้ออกไปจากหัวสมองเป็นภารกิจอันดับแรกที่นักศึกษาในปัจจุบันควรกระทำเพื่อที่จะไม่มองข้ามศักยภาพของคนรุ่นตัวเอง
มาร่วมกันสร้างความทรงจำอย่างสร้างสรรค์
ในภาวะปัจจุบันซึ่งการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน้ำเน่ายิ่งขึ้นทุกทีด้วยฝีมือของนักการเมืองและผู้มีอำนาจทั้งหลายซึ่งผูกขาดการเมืองไว้ในหมู่พวกตน ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมก็ดูจะยังคงมีอยู่อย่างคณานับและนับวันจะรุมเร้า บีบรัดชีวิตของผู้คนยิ่งขึ้นทุกวัน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาในฐานะสมาชิกของสังคมกลุ่มหนึ่งดูจะมีความสำคัญอย่างขาดมิได้ เพราะจะเป็นพลังให้กับการเปลี่ยนแปลงสังคมของเราให้น่าอยู่ เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีงามของทุกคน
ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันสร้างความทรงจำที่งดงามมาแทนที่ความทรงจำเชิงลบที่มองบทบาทของนักศึกษาในอดีตว่าเป็นเรื่องของความวุ่นวาย ก้าวร้าว รุนแรง ฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคม และมีแต่ความผิดพลาด การตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางของนักศึกษาคนหนุ่มสาวในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานกลับไม่ถูกเอ่ยถึงหรือถูกให้คุณค่า ฉะนั้นทำอย่างไรที่จะสร้างความทรงจำที่ให้เห็นด้านที่เสียสละ กล้าหาญ รักชาติบ้านเมืองจนยอมอุทิศชีวิตให้ได้ของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ความทรงจำเชิงบวกนี้น่าจะช่วยรื้อฟื้นและเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นใหม่เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันขึ้นมาอีกครั้ง
ขณะเดียวกันก็ควรจะระมัดระวังที่จะไม่สร้างความทรงจำนั้นให้ใหญ่โตเกินจริง หรือทำให้ขบวนการนักศึกษากลายเป็นเทวดาไปเสีย เพราะนั่นก็จะกลายเป็นอุปสรรคขวากหนามอีกแบบหนึ่งของการที่จะริเริ่มสร้างสรรค์ปฏิบัติการทางสังคมใดๆของนักศึกษารุ่นหลังด้วยเช่นเดียวกัน
[1] ตัวอย่างของงานวิชาการเหล่านี้ได้แก่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, “ม็อบมือถือ”:ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ:มติชน, 2536); สองนัคราประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ:มติชน, 2538); และบทความต่างๆใน วารสารธรรมศาสตร์ 19:1(ม.ค.-เม.ย. 2536) ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับชนชั้นกลางในการเมืองไทย.
[2] ดูใน สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ:ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง, 2536) เน้นโดยผู้อ้าง.
[3] อนุช อาภาภิรม, “บทบาทของนักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, วิพากษ์ทรรัฐ (กรุงเทพฯ:สามัคคีสาส์น, 2528).
[4] วัฒนชัย วินิจจะกูล และ บัณฑิต ธรรมตรีรัตน์(บก.), เถื่อนเมืองไทย (กรุงเทพฯ:พรรคแสงธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530).
[5] งานเหล่านี้มีอาทิ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, “ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ขบวนการนักศึกษา ทางเลือกที่ต้องมีคำตอบในเร็ววัน” ปาจารยสารฉบับหัวกะทิ 22:2 (มี.ค.-เม.ย.2538), หน้า 22-24; กิตติชัย งามชัยพิสิฐ, “ผ่าทางตัน:ข้อเสนอว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา” วารสารร่มพฤกษ์ 16:2 (ต.ค. 2540 – ม.ค. 2541), หน้า 47-73.
[6] ดู บทความของ ธัญญา สังขพันธานนท์, “นักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางการเมือง กรณีพฤษภาทมิฬ” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 16:1 (ก.ค.-ธ.ค.2535).
[7] การแบ่งยุคเช่นนี้เป็นของผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้นเอง ดู บุญสม อัครธรรมกุล, “ขบวนการนักศึกษากับยุคสมัยปัจจุบัน” ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนาคตขบวนการประชาธิปไตย:รวมบทความและทัศนะแห่งยุคแสวงหาครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2524), หน้า 242-252 ผู้เขียนเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น.
[8] ดู บุญสม อัครธรรมกุล ,อ้างแล้ว, หน้า 246-248 และ ธำรง ปัทมภาส, “ขบวนการนักศึกษาฯกทม. ต่างคนต่างไปในยุคสมัยปัจจุบัน” ปาจารยสาร 12:5 (ก.ย.-ต.ค.2528), หน้า 28-30.
[9] ที่จริงแล้ว มีบางคนได้แยกสองยุคนี้ออกจากกัน คือเกิดวิกฤตศรัทธาในปี 2523-24 นำไปสู่การแสวงหาครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2525 ดู ธำรง ปัทมภาส, หน้า 29-30, แต่ผู้เขียนไม่คิดว่ามีเส้นแบ่งที่ขัดเจนพอที่จะแยกออกจากกันได้ชัดเจน และโดยข้อเท็จจริงคำว่าแสวงหาครั้งที่ 2 ก็เกิดตั้งแต่ ปี 2524 แล้ว.
[10] เกษียร เตชะพีระ, “วิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 3:3 (ม.ค.2527), หน้า 75-77, เกษียรยังชี้ให้เห็นด้วยว่าปรากฏการณ์นี้มิใช่เอกลักษณ์ของสังคมไทยแต่อย่างใด หากเคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับปัญญาชนฝ่ายซ้ายในประเทศตะวันตก.
[11] เวียดนามบุกกัมพูชาในปี 2522 และเกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างจีนกับรัสเซีย-เวียดนาม.
[12] Thongchai Winichakul, “Thai democracy in public memory: monuments of democracy and their narratives” paper presented at Seventh International Conference on Thai Studies, Amsterdam, the Netherlands, 8 July 1999, p.2.
[13] Joshua Foa Dienstag, Dancing in Chains: Narrative and Memory in Political Theory (Stanford, California: Stanford University Press, 1997), p.10.
[14] ปัญหาเรื่องแบบเรียน 14 ตุลาฯ โปรดดู จดหมายของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถึง ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำโครงการสร้างหนังสือและตรวจพิจารณา เรื่อง การตรวจพิจารณาหนังสือ “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ลงวันที่ 21 ม.ย.2542 และดู “New textbook now a diary with no details” Bangkok Post, 5 August 2000.
[15] ถอดจากเทปคำอภิปรายเรื่อง “สำนึกและความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการจัดงาน 25 ปี 14 ตุลาฯ เมื่อวันที่ 31
มี.ค. 2541.
[16] Thongchai Winichakul, ibid., p.2.
[17] Pierre Nora, “General Introduction:Between Memory and History” in Lawrence D.Kritzman(ed.) Realms of memory:Rethinking the French past (New York: Columbia University Press, 1996), p.3.
[18] ibid., p.2-4.
[19] ibid., p.2-3,13-14.
[20] Thongchai, ibid., p.2.
[21] Ibid., p.16-19.
[22] ibid., p.15.
[23] Nora, ibid., p.7.
[24] เมื่อมีการผลักดันให้ทำเป็นประวัติศาสตร์ มันก็ถูกทำให้กลายเป็นแค่อนุทิน ซึ่ง Nora เห็นว่าเป็นธรรมชาติของประวัติศาสตร์ที่จะขจัดคุณค่าความหมายออกอดีตที่ศึกษาออกไป และทำให้มันเป็นอดีตที่จืดชืด เหลือเพียงความแห้งแล้ง ธรรมดาสามัญ ดู Nora, ibid., p.3.
[25] ตัวอย่างเช่น งานเขียนหลายชิ้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ใน มหาวิทยาลัยชีวิต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:กำแพง, 2531) ; ธีรยุทธ บุญมี, ส่วนหนึ่งของความทรงจำ 20 ปี 14 ตุลา แลไปข้างหน้า (กรุงเทพฯ:วิญญูชน, 2537) และดูความทรงจำที่ค่อนข้างต่างกันออกไปได้ใน ถนอม กิตติขจร, บันทึกจากใจ (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง, 2532).
[26] มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพวีรชนอย่างยิ่งใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง(ซึ่งโดยประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรม ประเพณีของสถานที่นี้ ถูกสงวน/ยึดกุมเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของกษัตริย์และราชวงศ์เท่านั้น) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จมาเป็นประธานในพิธี มีประชาชนมาร่วมงานหลายหมื่นคน.
[27] เมื่อครบรอบสองปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์นี้อย่างยิ่งใหญ่ติดต่อกันหลายวัน(12-15 ต.ค.) ในครั้งนั้นถนนราชดำเนินกลาง ถูกยึดกุมโดยนักศึกษาประชาชน เกาะกลางถนนและทางเดินสองข้างทางถูกติดตั้งด้วยภาพเหตุการณ์และนิทรรศการความเป็นมาของการต่อสู้ของนักเรียนนักศึกษา การจัดงานรำลึก 14 ตุลาฯถูกจัดอย่างใหญ่โตอีก 2 ครั้งเมื่อครบรอบวาระ 20 และ 25 ปีของเหตุการณ์นี้ตามลำดับ สำหรับการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯนั้นอยู่ในระดับที่เล็กกว่า 14 ตุลาฯมาโดยตลอด จนเมื่อครอบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์นี้ในปี 2539 ที่มีการรวมกำลังกันของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์ ได้พร้อมใจกันจัดงานขึ้นอย่างสมเกียรติ มีการผลิตสิ่งของ กิจกรรม พิธีกรรมต่างๆขึ้นหลากหลายมากมาย.
[28] วิดีโอนี้ออกจำหน่ายเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2536 และผลิตซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน.
[29] ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว เพิ่งสามารถผลักดันให้มีการดำเนินการจัดสร้างได้เมื่อปี 2541 ในวาระครบรอบ 25 ปีของเหตุการณ์ หลังจากที่มีการวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2518 อย่างไรก็ตามรูปแบบของอนุสาวรีย์ที่กำลังจัดทำอยู่นี้ได้เปลี่ยนแปลงไปรูปแบบดั้งเดิมมาก.
[30] อ้างใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อ้างแล้ว, หน้า 17.
[31] สารคดี 12:140 (ต.ค.2539), หน้า 161, เน้นโดยผู้อ้าง.
[32] เล่มเดียวกัน, หน้า 169, เน้นโดยผู้อ้าง.
[33] เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน, เน้นโดยผู้อ้าง.
[34] ไทยรัฐ 3 พ.ค. 2535 อ้างใน เกษียร เตชะพีระ, “หนังสือ: สื่อปฏิวัติ” ศิลปวัฒนธรรม 19:10(ส.ค. 2541), หน้า 119.
[35] ชินทัศน์,“ประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา: มายาเพื่อความมั่นคง” เศรษฐศาสตร์การเมือง 4:4(ก.ค.2528), หน้า 104.
[36] ตัวอย่างเช่น วิชชา, “ทัศนะของ’เรา’ ท่ามกลางสถานการร์ปัจจุบัน:เร่งเอาชนะความสับสน ไม่มั่นใจ และความโน้มเอียงสุดขั้วทั้งหลาย” เปลวเทียน 3:1(2524), หน้า 7-19.
[37] บุญสม อัครธรรมกุล, อ้างแล้ว, หน้า 248.
[38] ชินทัศน์, อ้างแล้ว, หน้า104.
[39] รวมบทสัมภาษณ์ของสุลักษณ์ในวาระต่างๆที่เกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้น ดู นิพนธ์ แจ่มดวง(บก.), ขบวนการคนหนุ่มสาวในรอบ 2 ทศวรรษตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ (กรุงเทพฯ:เทียนวรรณ, 2529), หน้า 221-223, 239.
[40] สุลักษณ์กล่าวไว้หลายตอนว่านักศึกษาสมัยนั้นคิดว่าตนเองฉลาดรู้ดีไปหมด ไม่เคยเห็นหัวเขา ไม่เคยเห็นว่าเขาเป็นประโยชน์ เห็นเขาเป็นเพียงตัวตลก “...เวลานั้น(นักศึกษา)เป็นฮีโร่ มันเห็นผมเป็นหมาตัวหนึ่ง...” ดูหน้า 221, 239-241, 245 และ 250.
[41] สันติสุข โสภณสิริ, “สุญญากาศทางอุดมการณ์ ความกึ่งดิบกึ่งดีของฝ่ายก้าวหน้าไทย” ปาจารยสาร 11:1
(ต.ค. –พ.ย. 2527), หน้า 27-32.
[42] สันติสุข โสภณสิริ, ความกึ่งดิบกึ่งดีของฝ่ายก้าวหน้าไทย, หน้า 29.
[43] น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์, “คนหนุ่มสาวกับศรัทธาต่ออนาคต”, หน้า 91.
[44] Pierre Nora, ibid., p.4 มองจากแง่มุมของนักวิชาการที่สนใจเกี่ยวกับความทรงจำอย่าง Nora แล้ว เขาจึงเห็นว่าความพยายามที่จะทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์โดยพัฒนาวิธีการต่างๆขึ้นมานั้น จริงๆ แล้วก็คือความพยายามที่จะให้งานประวัติศาสตร์ขยายฐานของความทรงจำรวมหมู่ (collective memory) ให้กว้างขวางที่สุด.
[45] ดู ถนอมฤทธิ์ ธรรมราษฎร์(นามแฝง), “บันทึกเชิงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของขบวนการนักศึกษาไทย” สังคมศาสตร์(มช.) 6:1 (เม.ย.-ก.ย. 2525), หน้า 89-105; พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม, “ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และความสัมพันธ์กับพคท.” เอเชียปริทัศน์ 4:4 (ต.ค.-
ธ.ค. 2526), หน้า 14-49; คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง, ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการนักศึกษาไทยระหว่าง พ.ศ.2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
[46] ดูการศึกษาที่น่าสนใจของ Meta Mendel-Reyes, Reclaiming Democracy (London: Routledge, 1995) ซึ่งชี้ให้เห็นการแข่งขันกันของฝ่ายต่างๆที่จะสร้างความทรงจำให้แก่สังคมอเมริกาในยุค sixties และความทรงจำที่ขึ้นมาครอบงำนั้นได้มีส่วนกำหนด/ก่อรูปวัฒนธรรมการเมืองอเมริกาในปัจจุบันบางประการด้วย.
[47] Pierre Nora, p.11.
[48] Meta Mendel-Reyes, ibid., p. 18, 71.
[49] ชินทัศน์, “วิญญาณที่ขาดหาย: ทัศนะด้านเดียวเกี่ยวกับปัญญาชนไทยผู้คิดว่าตัวเองกำลังแสวงหา” ใน บัณฑิต ธรรมตรีรัตน์(บก.), คลื่นแห่งทศวรรษ, หน้า 196-197.
[50] เกษียร เตชะพีระ, “บันทึกความรู้สึกแห่งยุคสมัย” ใน ‘รู้สึกแห่งยุคสมัย หนังสือต้อนรับเพื่อนใหม่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,(กรุงเทพฯ:ภาพพิมพ์, 2526), หน้า 57-58 เน้นโดยผู้อ้าง.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment