Tuesday, October 21, 2008

car bomb

คาร์บอมบ์: อาวุธมีชีวิต
ประจักษ์ ก้องกีรติ
มีนาคม 2551




เร็วๆ นี้ มีหนังสือแปลกพิสดารเกี่ยวกับประเด็นการก่อการร้ายตีพิมพ์ออกมาเล่มหนึ่งเขียนโดย ไมค์ เดวิส (Mike Davis) ศาสตรจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลิฟอร์เนีย, เออร์วิน ซึ่งเป็นนักคิดที่เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจการเมืองของสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงของเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ในงานชิ้นล่าสุดนี้ ศาสตราจารย์ไมค์ เดวิส สืบสาวกำเนิดและวิวัฒนาการอันแสนจะยอกย้อนของคาร์บอมบ์ นักฆ่าของยุคสมัย ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วโลก หนังสือเล่มนี้มีชื่อชวนฉงนว่า ยานยนต์ของนายบุดา: ประวัติศาสตร์ย่อของคาร์บอมบ์ (Buda’s Wagon: A Brief History of the Car Bomb, 2007) ผมเห็นว่างานชิ้นนี้มีเนื้อหาที่สอดคล้องและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจเหตุระเบิดที่ยะลาและปัตตานีซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันก่อน จึงอยากจะนำเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู่กันฟัง

เหตุเกิดที่วอลล์สตรีทและโลกาภิวัฒน์ของคาร์บอมบ์
อาจจะเป็นที่ประหลาดใจของผู้อ่านทั่วไป หากทราบว่าคาร์บอมบ์มิได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ดินแดนตะวันออกกลาง หากถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจที่กำลังทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกอยู่ในปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 1920 นายมาริโอ บุดา สมาชิกกลุ่มอนาธิปัตย์หัวรุนแรง ชาวอิตาเลียนซึ่งอพยพมาอยู่ที่อเมริกา ได้คิดค้น “เทคโนโลยีการทำลายล้างชีวิตมนุษย์และอาคารสถานที่” ในเขตตัวเมืองแบบใหม่ โดยเทคนิคแบบง่ายๆ และผู้ก่อการไม่ต้องเสี่ยงชีวิตแต่อย่างใด โดยนำระเบิดไปซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิดในยานพาหนะ และนำไปจอดไว้ตามสถานที่ที่การสัญจรพลุกพล่านเพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกต เป้าหมายของนายบุดาซึ่งสังกัดขบวนการที่ต่อต้านทุนนิยมและนโยบายแอนตี้ชาวอพยพของรัฐบาลสหรัฐในขณะนั้น คือ ถนนวอลล์ สตรีท ศูนย์กลางทางการเงินของสหรัฐอเมริกา แรงระเบิดจากไดนาไมต์ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในรถแวนเทียมม้าที่เขานำไปจอดไว้ข้างถนน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 40 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั่วทั้งประเทศ จนรัฐบาลต้องระดมกำลังตำรวจทหารขนานใหญ่มาลาดตระเวนเมืองนิวยอร์ค ตรวจค้นอาคารสถานที่ต้องสงสัย และตามจับผู้ลงมือก่อความรุนแรง
จากจุดกำเนิดที่สหรัฐ คาร์บอมบ์ได้ถูกลอกเลียนนำไปใช้ต่อมาโดยกลุ่มขบวนการหลากหลายบวนการทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขบวนการไซออนนิสต์ชาวอิสราเอลในความขัดแย้งปาเลสไตน์ ขบวนการเวียดกงในเวียดนาม กลุ่มขบวนการไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ กลุ่มเฮสบัลเลาะห์ในเลบานอน ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬในศรีลังกา แก๊งมาเฟียในอิตาลี กลุ่มอัลเคดาห์ในหลายประเทศ ฯลฯ จุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์คาร์บอมบ์มีอยู่หลายจุดด้วยกัน (ดูตารางข้างท้ายประกอบ) ในปี ค.ศ. 1947 เป็นปีที่มีการวางระเบิดโดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างความเสียหายมากมหาศาลกว่าคาร์บอมบ์แบบรถยนต์ในระยะแรก ผู้ลงมือคือกลุ่มขบวนการไซออนนิสต์ชาวอิสราเอลในกรณีปัญหาปาเลสไตน์ ต่อมาในปี 1970 มีการคิดค้นใช้สารแอมโมเนียมไนเตรตเป็นเชื้อเพลิงในการจุดระเบิดเป็นครั้งแรก (ammonium nitrate fuel oil bomb-ANFO) ซึ่งทำให้คาร์บอมบ์ผลิตได้ง่ายขึ้นในราคาถูกลง แถมยังมีพลานุภาพในการทำลายล้างสูงขึ้น กลุ่มที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคนิคนี้คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันประมาณ 4 คนที่ใช้คาร์บอมบ์เพื่อประท้วงการที่มหาวิทยาลัยรับเงินจากรัฐบาลในการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม หากลำพังเพียงนักศึกษาปริญญาตรีเพียงไม่กี่คนสามารถผลิตคาร์บอมบ์ที่ทำลายพื้นที่เกือบครึ่งนึงของทั้งมหาวิทยาลัย คงไม่ต้องจินตนาการว่าเมื่อมันตกไปอยู่ในมือของขบวนการทางการเมืองแล้วจะมีผลเช่นไร จุดเปลี่ยนใหญ่อีกครั้งนึง คือ การใช้คาร์บอมบ์แบบพลีชีพเป็นครั้งแรกในปี 1981 เพื่อระเบิดสถานทูตอิรักในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน โดยกลุ่มการเมืองซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นกลุ่มใด สำหรับคาร์บอมบ์พลีชีพที่ลงมือโดยผู้หญิงเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1985 ที่ประเทศเลบานอนเช่นเดียวกัน
จากระยะเริ่มแรกที่ยุทธวิธีถูกใช้โดยกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีกำลังและงบประมาณจำกัด ในภายหลังหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ โซเวียต อิสราเอล ซีเรีย อิหร่าน และปากีสถาน ก็ได้นำวิธีการนี้มาใช้ด้วย เรียกได้ว่าคาร์บอม์กลายเป็นศาสตราของทั้งผู้ไร้อำนาจและผู้มีอำนาจพอๆ กัน และเมื่อพิจารณาในแง่อุดมการณ์ คาร์บอมบ์เป็นเครื่องมือที่ถูกเรียกใช้บริการจากกลุ่มลูกค้าหลากหลายเฉด ตั้งแต่กลุ่มมาเฟียที่ปราศจากอุดมการณ์ใดๆ ไปจนถึงขบวนการที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม อนาคิสต์ ไปจนกระทั้งฟาสซิสต์ ขบวนการเหยียดผิว และขบวนการฟันดาเมนทัลลิสต์ทางศาสนาทั้งหลาย ไมค์ เดวิส ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้แม้แต่เทคโนโลยีแห่งความตายอย่างคาร์บอมบ์ก็สามารถแพร่กระจายไปอย่างไร้พรมแดนและอิสระเสรีเป็นอย่างยิ่ง! เราสามารถค้นหาตำราเกี่ยวกับคาร์บอบม์ได้ตามเวบไซต์อย่างอเมซอน หรือประมูลได้ที่อีเบย์ กระทั่งมีคนโพสต์วิธีการทำคาร์บอบม์อย่างง่ายในรูปแบบพาวเวอร์พอยท์ไว้ตามเวบบล๊อกต่างๆ ความรู้ในการผลิตคาร์บอมบ์ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นความรู้ฮาวทู ไม่ต่างจากความรู้ในการเข้าครัวทำอาหาร อบขนม หรือซ่อมรถ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการในที่ต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาเทคนิควิธีการผลิตคาร์บอมบ์ให้ซับซ้อนพิสดาร ตามจับยาก และก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางมากขึ้น ปัจจุบันมี “ศูนย์การเรียนรู้และอบรม” เทคนิคการทำคาร์บอมบ์อยู่หลายแห่งทั่วโลก (ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์หลัก) ผู้เข้ารับการอบรมอาจเดินทางไปต่างประเทศเพื่อฝึกฝนและนำทักษะนั้นกลับไปใช้ยังประเทศบ้านเกิดตนเอง ดังกรณีกลุ่มกบฎเชเชนยาที่เดินทางข้ามประเทศไปฝึกเทคนิคการผลิตคาร์บอมบ์ (รวมทั้งเทคนิคความรุนแรงอื่นๆ) จากหน่วยสืบราชการปากีสถาน เป็นต้น กล่าวได้ว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ของคาร์บอมบ์อย่างเต็มตัว ณ ศตวรรษที่ 21

คาร์บอมบ์: อาวุธไร้หัวใจ
คุณลักษณะพื้นฐานของคาร์บอมบ์คือ มันเป็นอาวุธในการก่อร้ายในพื้นที่เขตเมือง วัตถุประสงค์หลักๆ ของการใช้คาร์บอมบ์มีอยู่สี่ประการ คือ การสังหารชีวิตศัตรู การทำลายวิถีชีวิตประจำวันอันเป็นปรกติสุขของผู้คนในสังคม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายเพื่อโฆษณาหลักการหรือข้อเรียกร้องของขบวนการให้สาธารณชนรับรู้ในวงกว้าง
เราอาจแบ่งคาร์บอมบ์ออกเป็นสองชนิดหลักๆ คือ คาร์บอบมบ์แบบพลีชีพ กับแบบไม่พลีชีพ คาร์บอมบ์แบบแรกเรียกร้องการอุทิศตัวของผู้ลงมือ และถูกใช้เมื่อกลุ่มขบวนการหนึ่งๆ มีสมาชิกที่มีศรัทธาความเชื่อในอุดมการณ์ของขบวนการอย่างแรงกล้าจนพร้อมที่จะเสียสละชีวิตตนเองเพื่อเป้าหมายของกลุ่ม คาร์บอมบ์แบบพลีชีพจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อทำลายชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น หากมีเป้าหมายในการปลุกขวัญกำลังใจสมาชิกกลุ่ม โฆษณาชวนเชื่อความเข้มแข็งของกลุ่ม และข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม หากคาร์บอมบ์แบบพลีชีพเกิดขึ้นในระดับความถี่สูงในสังคมใดก็ตาม เป็นสัญญาณว่าสังคมนั้นกำลังเผชิญกับขบวนการทางการเมืองแบบสุดขั้วที่ยากอย่างยิ่งในการรับมือด้วย ในแง่นี้ คาร์บอมบ์แบบไม่พลีชีพจึงน่ากลัวน้อยกว่า เพราะไม่เรียกร้องการเสียสละใดๆ จากผู้ลงมือ กลุ่มมาเฟียหรือแก๊งอันธพาลก็สามารถใช้วิธีเช่นนี้ได้
ในฐานะการเป็นอาวุธในการก่อการร้าย คาร์บอมบ์มีคุณลักษณะพิเศษอยู่ 7 ประการที่ทำให้มันแตกต่างจากยุทธวิธีอื่นๆ
หนึ่ง มันมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างอย่างเหลือเชื่อและมีความยืดหยุ่นผลิกแพลงอย่างยิ่ง มีตัวเลขอันน่าตกใจว่ารถแวนขนาดครอบครัวหนึ่งคันสามารถขนวัตถุระเบิดที่ก่อผลทำลายล้างเท่ากับเครื่องบินบรรทุกระเบิด B-24 ทั้งลำ นอกจากนั้นการดัดแปลงยานพาหนะให้เป็นตัวขนย้ายและอำพรางวัตถุระเบิดทำให้มันมีความยืดหยุ่นอย่างยิ่ง เพราะผู้ก่อการสามารถปรับเปลี่ยนยานพาหนะให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวัตุประสงค์ของการใช้งาน เช่น ใช้จักรยาน มอร์เตอร์ไซค์ เรือยนต์ ไปจนถึงเครื่องบิน อย่างที่เกิดขึ้นในกรณี 9/11 ซึ่งคาลิด ชีค โมฮัมหมัด ผู้วางแผนก่อวินาศกรรม ได้พัฒนาความคิดมาจากกณีคาร์บอมบ์ตึกเวิรล์เทรดในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งกระทำโดยหลานชายของเขาเอง
สอง มันเป็นเครื่องมือที่ก่อความตระหนกตกใจให้กับสาธารณะและสื่อมวลชนได้เสมอ เมื่อใช้แล้วจึงไม่เคยพลาดที่จะตกเป็นข่าว ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ มุมใดของโลก ทำให้เป็นที่ดึงดูดของผู้ก่การร้ายที่ต้องการผลในการโฆษณาอุดมการณ์หรือการดำรงอยู่ของกลุ่มตน
สาม เมื่อเทียบกับยุทธวธีอื่น การผลิตคาร์บอมบ์มีต้นทุนที่ถูกมากอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับความเสียหายที่มันสร้างขึ้น ยกตัวอย่างกรณีคาร์บอมบ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่เมืองโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ซึ่งคร่าชีวิตคนไปทั้งสิ้น 168 คน และสร้างความเสียหายเป็นหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ปรากฏว่า ทิโมธี แมค์เวย์ และเพื่อนของเขา ผู้ลงมือก่อการใช้เงินเพียงประมาณ 100,000 บาทในการเช่ารถแวน ซื้อเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ในการประกอบระเบิดทั้งหมด (ต้นทุนจะยิ่งถูกกว่านี้ ในกรณีที่รถที่นำมาใช้เป็นรถที่ขโมยมา)
สี่ ในแง่เทคนิควิธีการ คาร์บอมบ์สามารถผลิตได้ง่ายและไม่ต้องการกำลังคนมากในการปฏิบัติการ ลำพังคนเพียงคนเดียวก็สามารถลงมือปฏิบัติการได้ตั้งแต่ขั้นตอนผลิตระเบิดจนไปถึงการขับรถไปไว้ในที่เกิดเหตุและจุดชนวนระเบิด การเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตก็ไม่ยากต่อการเข้าถึงแต่ประการใด ดังที่กล่าวข้างต้นว่าคู่มือการผลิตคาร์บอมบ์มีให้ดาว์โหลดได้ฟรีในโลกไซเบอร์สเปซ ในกรณีของสหรัฐ มีการสำรวจโดยรัฐบาลพบว่าห้องสมุดของรัฐสภาสหรัฐซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้ได้ มีรายการหนังสือเกี่ยวเนื่องกับความรู้ในการผลิตระเบิดอยู่มากกว่า 50 รายการ
ห้า คาร์บอมบ์เป็นอาวุธที่ไม่แยกแยะเป้าการสังหารระหว่างศัตรูกับพลเรือนผุ้บริสุทธิ์ทั่วไป (ในกรณีนี้มันทำงานเหมือนเครื่องบินทิ้งระเบิด) มันจึงเป็นอาวุธที่ปราศจากศีลธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างเหวี่ยงแห ทุกครั้งที่ใช้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ไม่มากก็น้อยตกเป็นเหยื่อ คาร์บอมบ์จึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในกรณีที่กลุ่มก่อการเล็งพลเรือนเป็นเป้าหมาย ต้องการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในวงกว้าง และทำให้สังคมที่ตกเป็นเหยื่อของการระเบิดเกิดอาการขวัญเสีย ความไร้ศีลธรรมของมันทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มไม่เลือกใช้รวมทั้งประณามการใช้วิธีการเช่นนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เพราะชัยชนะทางการเมืองที่ได้มาเป็นชัยชนะบนคราบเลือดของผู้คนซึ่งเป็นชัยชนะทางการเมืองที่ปราศจากคุณค่าและความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น และเอาเข้าจริง ขบวนการหลายขบวนการสูญเสียฐานสนับสนุนจากมวลชนไปจากการเลือกใช้วิธีการนี้เป็นหนทางของการต่อสู้ทางการเมือง
หก คาร์บอมบ์ (ในกรณีที่ไม่ใช่คาร์บอมบ์แบบพลีชีพ) เป็นอาวุธที่ทิ้งร่องรอยหลักฐานทั้งในเชิงพยานบุคคลและพยานวัตถุไว้น้อยมาก เพราะมันเป็นอาวุธที่ทำลายตัวมันเอง เรียกได้ว่าจับมือใครดมไม่ค่อยได้ จากประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1920 ที่เริ่มมีการใช้คาร์บอมบ์มา มีการจับกุมผู้วางระเบิดมาลงโทษแทบจะนับครั้งได้ ด้วยเหตุผลที่มันเป็นอาวุธที่ใช้โดยปราศจากร่องรอยหลักฐานและไม่แสดงตัวตนของผู้ใช้นี้เอง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศเรียกใช้บริการคาร์บอมบ์เสียเองในปฏิบัติการลับนอกกฎหมาย (หรือเราอาจจะเรียกว่าการก่อการร้ายของรัฐ) เพราะสามารถหลุดพ้นจากการตรวจสอบและข้อกล่าวหาใดๆ ได้โดยง่าย
สุดท้าย ในแง่ประวัติศาสตร์ของอาวุธสงคราม คาร์บอมบ์เป็นอาวุธที่เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับขบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ด้อยอำนาจทั้งหลาย เพราะแม้แต่กลุ่มที่สามาชิกเพียงไม่กี่คน มีงบประมาณจำกัด หรือขาดฐานมวลชนอันกว้างขวางสนับสนุนก็สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจการเมืองอันมหาศาลในสังคมหนึ่งๆ ได้ ยุคของการปฏิวัติมวลชนแบบที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย การปฏิวัติจีน ฯลฯ ถูกแทนที่ด้วยการปฏิวัติแบบกระจัดกระจายไร้ฐานมวลชนของกลุ่มเซลล์ย่อยๆ ทั้งหลาย ที่มีคาร์บอมบ์โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเป็นโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นต้องการมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเข้มแข็งหรือมีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ชัดเจนอีกต่อไป การปฏิวัติทางเทคโนโลยีในช่วงหลังยิ่งทำให้คาร์บอมบ์เป็นเทคโนโลยีแห่งความตายในอุดมคติของกลุ่มขบวนการขนาดย่อมมากขึ้นทุกที


หนทางสู่สังคมปลอดคาร์บอมบ์?
คำถามคือ เราจะหลุดพ้นจากบ่วงของความรุนแรงที่มาจากเทคโนโลยีความตายราคาถูกนี้ได้อย่างไร คำตอบดูจะไม่สดใสนัก เพราะผู้ก่อการได้เปลี่ยนเป้าหมายของการโจมตีไปเรื่อยๆ เมืองต่างๆ ทั่วโลกสามารถตกเป็นเป้าหมายของคาร์บอมบ์ได้เสมอ เมืองมหานครชั้นนำในประเทศมหาอำนาจซึ่งมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดก็ไม่วายตกเป็นเหยื่อของอาวุธชนิดนี้ ปัจจุบัน ผู้ก่อการเล็งโจมตีเป้าหมายอย่างสถานทูต สถานที่ราชการ และที่ตั้งทางทหารน้อยลง เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ถูกคุ้มกันอย่างแน่นหนาแทบจะ 24 ชั่วโมง สถานที่ที่มักตกเป็นเหยื่อของคาร์บอมบ์ในระยะหลังเปลี่ยนเป็นสถานที่ที่เป็นจุดเปราะบางของตัวเมือง คือมีผู้คนพลุกพล่าน มีการสัญจรขวักไขว่และมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดน้อยกว่าอย่าง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ผับ บาร์ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียและในประเทศไทยของเรา การป้องกันสถานที่เหล่านี้นั้นทำได้ยากโดยธรรมชาติ และหากรัฐบังคับใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากเกินไปมีแต่จะทำให้การประกอบการของสถานที่เหล่านี้ ไม่อาจดำเนินได้ต่อไป
แม้แต่ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐซึ่งตกเป็นเหยื่อของคาร์บอมบ์ทั้งในประเทศอิรักและอัฟกานิสถานที่ตนเข้าไปยึดครอง ก็ยังไม่สามารถหาหนทางป้องกันคาร์บอมบ์ได้ มีตัวเลขอันน่าตกใจว่า แม้จะมีการตั้งจุดตรวจค้นถึง 6,000 จุดในอิรัก มีการติดตั้งเครื่องมือจับวัตถุระเบิด และระดมกำลังทหารและตำรวจประจำจุดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 51,000 นาย คาร์บอมบ์ก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน (จากเดือนมิถุนายน 2003 ถึงเดือนมิถุนายน 2006 มีคาร์บอมบ์เกิดขึ้นทั้งสิ้น 578 ครั้ง) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลระดมผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อคิดค้นวิธีการในการรับมือกับคาร์บอมบ์ ความพยายาม ณ ปัจจุบันคือ การสร้างระบบดักจับวัตถุระเบิดแบบครบวงจรที่มีรัศมีทำการในวงกว้างที่มาสามารถนำไปติดตั้งไว้ทั่วเมือง นักวิจัยในโครงการออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีก 10 ปีในการพัฒนาระบบนี้ให้มีความสมบูรณ์ และประมาณว่างบประมาณที่จำต้องใช้ในการติดตั้งจะคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งหมายความว่าถึงวันนั้น ประเทศยากจนหลายประเทศซึ่งตกเป็นเป้าหมายของคาร์บอมบ์ก็อาจจะไม่มีปัญญาในการซื้อหาระบบนี้มาใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญก็คือ แม้จะมีระบบป้องกันที่ดีเลิศประการใด รัฐก็ไม่สามารถป้องกันคาร์บอมบ์ได้สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซนต์ เพราะคาร์บอมบ์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งของเมืองด้วยยานพาหนะนานาชนิดที่ยากแก่การตรวจจับ เพราะโดยธรรมชาติของเมืองคือ พื้นที่ของการสัญจรไปมาอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา นอกจากข้อจำกัดในแง่ประสิทธิผลแล้ว หากระบบดักจับวัตถุระเบิดถูกนำมาใช้จริง สังคมนั้นก็จะกลายสภาพเป็นรัฐตำรวจอย่างสมบูรณ์แบบ เมืองทั้งเมืองจะถูกตรวจจับเฝ้ามองด้วยระบอบสอดแนมตลอด 24 ชั่วโมงตามจินตนาการของจอร์จ ออร์เวล ในนิยายเรื่อง 1984 อันโด่งดัง การสัญจรไปมาของผู้คนจะไม่อยู่ในสภาพปกติอีกต่อไป ตลกร้ายก็คือ หากเราเดินไปบนหนทางนี้จริง คงจะไม่มีใครหัวเราะดีใจเท่ากับฝ่ายผู้ก่อการร้าย เนื่องจากกลุ่มขบวนการดังกล่าวจะบรรลุวัตถุประสงค์ประการสำคัญของการก่อการร้ายที่มุ่งทำลายชีวิตอันเป็นปรกติสุขของผู้คนในสังคมไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
แล้วเราจะสู้กับคาร์บอมบ์อย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสในไอร์แลนด์เหนือคนหนึ่งซึ่งรับมือกับคาร์บอมบ์มาอย่างหนักหน่วงโชกโชนมากกว่าใครๆ ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ 12 ปีที่แล้วว่า คาร์บอมบ์ “ไม่ใช่ประเด็นทางการทหาร มันเป็นประเด็นทางการเมือง ความเสียหายและความตายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น… มาจากระเบิดซึ่งคนที่มีความรู้ทางเคมีแค่ระดับประถมก็สามารถผลิตได้ คนสองคนกับเครื่องมือง่ายๆ ก็สามารถผลิตระเบิดขนาด 500 กิโลกรัมได้สบายๆ… เราไม่มีความสามารถที่จะไปสู้กับอาวุธแบบนี้ได้หรอก การปลดชนวนความคิดและจิตใจของผู้ก่อการต่างหากที่ควรเป็นเป้าหมายของเรา”
หากจะเอาชนะกับการก่อการร้ายที่มีคาร์บอมบ์เป็นอาวุธ หนทางทางการทหารจึงไม่ใช่คำตอบ มีแต่การปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจ บวกกับจินตนาการใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอาวุธมีชีวิตที่ไร้หัวใจนี้ได้




ตาราง
นวัตกรรม เวลา สถานที่ กลุ่ม
1. กำเนิด 1920 แมนฮัตตัน อนาธิปัตย์อิตาเลียน
2. รถบรรทุกบอมบ์ 1947 ไฮฟา ไซอออนนิสต์
3. คาร์บอมบ์หลายคันในเวลาเดียวกัน 1948 เยรูซาเลม ปาเลสติเนียน
4. คาร์บอมบ์บวกกับวัตถุระเบิดอื่น 1964 ไซง่อน เวียดกง
5. โจมตีสถานทูต 1965 ไซง่อน เวียดกง
6. จุดระเบิดด้วยแอมโมเนียมไนเตรต 1970 เมดิสัน กลุ่มนักศึกษา
7. ใช้คาร์บอมบ์เพื่อก่อสงครามทางเศรษฐกิจ 1972 เบลฟาสต์ ไออาร์เอ
8. มีคนตายมากกว่า 100 คน 1981 ดาร์มัสคัส กลุ่ม Moslem Brotherhood
9. คาร์บอมบ์พลีชีพ 1981 เบรุต (สถานทูตอิรัก) ซีเรีย?
10. มีการบันทึกวิดีโอ 1982 เบรุต เฮสบัลเลาะห์
11. ขนาดทำลายล้างเท่ากับทีเอ็นที 1 ตัน 1983 เบรุต (สถานทูตสหรัฐฯ) เฮสบัลเลาะห์
12. ส่งผลสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมือง 1983 เบรุต เฮสบัลเลาะห์
13. คาร์บอบมบ์พลีชีพโดยผู้หญิง 1985 เลบานอน พรรคสังคม-ชาตินิยมซีเรีย
14.ใช้เป็นยุทธวิธีหลักทางการทหาร 1985 ศรีลังกา พยัคฆ์ทมิฬ
15. เทคโนโลยีถูกส่งผ่านอย่างกว้างขวาง 1985- ปัจจุบัน ปากีสถาน ซีไอเอสหรัฐฯร่วมกับซีไอเอปากีสถาน
16. โจมตีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปลายทศวรรษ 1980 คอร์ซิกา FLNC
17. โจมตีเขตชุมชนทั้งชุมชน 1992 ลิมา Shining Path
18. โจมตีมรดกทางวัฒนธรรม 1993 อิตาลี มาเฟีย
19. ความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 1993 ลอนดอน ไออาร์เอ
20. โจมตีผู้เลือกตั้ง 1995 โยฮันเนสเบิร์ก กลุ่มเหยียดผิว
21. ขนาดทำลายล้างเท่ากับทีเอ็นที 5 ตัน 1996 ดาห์ฮาราน เฮสบัลเลาะห์/อิหร่าน?
22. โจมตีหลายเมืองในเวลาเดียวกัน 1998 แอฟริกาตะวันออก อัลเคดาห์
23. ใช้เครื่องบินเป็นยานพาหนะ 2001 แมนฮัตตัน อัลเคดาห์
24. เกือบจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ 2001 นิวเดลี ซีไอเอปากีสถาน?
25. มีการระเบิดมากกว่า 500 ครั้ง 2003-2006 อิรัก หลายกลุ่ม

ตารางจาก Mike Davis, Buda’s Wagon: A Brief History of the Car Bomb (London; New York: Verso, 2007), หน้า 8.

No comments: