Tuesday, October 21, 2008

debate

open special
วิวาทะจาก ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’
Posted By Open On 12th October 2006 @ 11:22
- ประจักษ์ ก้องกีรติ -
ผมอ่านบทความของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร เรื่อง [1] “ธงชัย-ชัยวัฒน์ กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” แล้วมีประเด็นหลายประเด็นที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนด้วย ดังนี้
1. ข้อความที่ว่า “แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสภาวะวิสัยอยู่อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะเป็นฝ่ายรุก-บ่อนทำลายหรือสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้หรือสยบกระแสต่อต้านตน รัฐบาลมีหน้าที่เป็นฝ่ายตั้งรับหรือถอยต่างหาก”
ข้อความข้างต้นนั้นถูกต้องอย่างแน่แท้ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสภาวะวิสัยหรือ guiding principle ในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการใช้กำลังอำนาจของคณะทหารนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขาดความชอบธรรม ยิ่งกว่านั้น นอกจากรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ประชาชนดังข้อความข้างต้นเสนอ ประชาชนเองก็ไม่มีสิทธิและไม่ควรเลือกยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมต่อการรัฐประหารด้วยเช่นกัน
การรัฐประหารนั้นผิดทั้งทางการเมืองและจริยธรรม จากมุมมองของเสรีนิยมประชาธิปไตย
เหตุที่การรัฐประหารผิดและยอมรับไม่ได้ทางการเมือง เพราะการรัฐประหารคือการใช้กำลังอำนาจเข้ายุติสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ทำให้พื้นที่ทางการเมืองหดแคบลง ทำให้เราไม่อาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในความหมายของการโต้ตอบหรือใช้เหตุผลมาแลกเปลี่ยนโน้มน้าวหักล้างกันได้อย่างเสรี กลับไปสู่สภาพธรรมชาติที่ the might is right, and the might is law
จะมากจะน้อยเราก็ต้องยอมรับว่ากิจกรรมทางการเมืองยังดำเนินไปได้ภายใต้รัฐบาลทักษิณไม่ใช่หรือ กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถเคลื่อนไหว จัดชุมนุม ระดมคนมาได้เป็นหมื่นเป็นแสน แต่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ไม่มีหลักประกันอะไรทั้งสิ้นทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติที่เราจะชุมนุมโดยไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง วันนี้ไม่โดน แต่ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าจะไม่ ยิ่งถ้าหากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารได้แรงสนับสนุนจากประชาชนไปถึงจุดที่สั่นคลอนและเป็นอันตรายกับรัฐบาลรัฐประหาร
ปัญหาหรือโจทย์ที่เราควรคิดกันคือ เราจะจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เมื่อเสวยอำนาจแล้วแปรเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร โดยไม่ต้องใช้วิถีทางรัฐประหาร นี่เป็นโจทก์ของสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากมายนับไม่ถ้วนในโลกนี้ก็คอร์รัปชั่น หาผลประโยชน์ใส่ตัว และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่พลเมืองต้องต่อสู้ ต่อรองและหาทางกำกับควบคุมภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย เพราะหากเรายอมรับและให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร เราจะอยู่ด้วยกันต่อไปภายใต้กรอบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยได้อย่างไร รัฐธรรมนูญ (ในฐานะกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันหรือสัญญาประชาคมทางการเมือง) ที่จะเหนื่อยยากทุ่มเทร่างขึ้นมาใช้กันใหม่นั้นจะมีความหมายอะไร ในเมื่อมันถูกฉีกทิ้งได้ง่ายๆ แถมนักวิชาการและประชาชนส่วนมากก็ยอมรับมันได้ด้วย
หากเราเริ่มต้นจากการยอมรับรัฐประหาร (และการฉีกรัฐธรรมนูญ) ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่างขึ้นมาใช้กันนั้น จะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร จะมีหลักประกันอะไรว่ามันจะไม่ถูกฉีกอีกในอนาคตอันใกล้ รัฐธรรมนูญก็จะเป็นแค่ถุงกล้วยแขกเท่านั้น ใช้จนน้ำมันเยิ้มเมื่อไร ก็ฉีกทิ้ง เปลี่ยนถุงใหม่
ถ้าจะเอากันอย่างนั้น ผมเสนอให้ทำสองอย่าง
หนึ่ง น่าจะกำหนดไปเลยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ให้มีการทบทวนเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันทุก ๆ ห้าปี (อาจจะสั้นหรือนานกว่านั้นแล้วแต่จะตกลงกัน)
สอง หากไม่สามารถหาทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้กฎกติกาในระบอบประชาธิปไตย “ตามที่ระบุไว้ในมาตราอื่นๆ แล้ว” ให้กองทัพใช้ดุลยพินิจในการทำรัฐประหารได้ ตามประเพณีของประชาธิปไตยแบบไทยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรืออาจจะจัดให้มีการทำประชามติทั้งประเทศให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะให้กองทัพทำรัฐประหารหรือไม่ ถ้าบัญญัติให้การรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญได้เช่นนี้ เมื่อทำรัฐประหารคราวหน้าก็จะได้ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญกันอีก ไม่ต้องเสียเวลาร่างกันใหม่ ไหนๆ ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแล้ว ทำให้เป็นลายลักษณ์เสียเลยไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราทำได้ทั้งสองข้อนี้ คงจะเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่วิเศษไม่น้อยที่เราจะมอบเป็นของขวัญให้กับชุมชนชาวโลก และเราก็จะสามารถอวดอ้างได้อย่างเต็มปากว่าเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเราจริงๆ ไม่ซ้ำและไม่ลอกเลียนแบบใครทั้งสิ้น
2. สำหรับนักวิชาการที่ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร คำถามคือ อะไรคือฐานของความชอบธรรมของการขึ้นสู่อำนาจด้วยการใช้กำลัง? ผมอยากให้นักวิชาการที่พยายามให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารพูดออกมาให้ชัดๆ ผมยอมรับได้ถ้าจะ defend มันด้วยหลักการ “อเสรีนิยม”, อำนาจนิยม, ชนชั้นนำนิยม หรืออะไรก็ได้ บอกมาชัดๆ เลยว่า การรัฐประหารชอบธรรมเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ดี ยุติความขัดแย้งไม่ได้ ทำให้คนจนๆ มามีอำนาจตัดสินใจว่าใครจะเป็นรัฐบาลแทนที่จะเป็นชนชั้นนำผู้มีการศึกษา สังคมไทยไม่ต้องการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นฐานที่มาชอบความชอบธรรม ฯลฯ ผมว่ามันซื่อสัตย์และดีกว่าการที่จะมานั่งชี้แจงว่ามันเป็นประชาธิปไตยแบบพิเศษๆ แบบไทยๆ อย่างไร
3. การเปรียบเทียบระหว่างรัฐประหาร 19 กันยาฯ กับ 6 ตุลาฯ ในกรณี 6 ตุลาฯ นั้น ออกจะไม่ถูกต้องเที่ยงตรงนักที่จะบอกว่า คู่ขัดแย้ง คือ “ฝ่ายนิสิตนักศึกษา vs ฝ่ายขวาจัด อันได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ฯลฯ” ชวนให้เข้าใจไปว่า 6 ตุลาฯ เป็นการทะเลาะขัดแย้งกันของประชาชนสองฝ่าย อันที่จริงแล้ว กลไกรัฐที่ประกอบด้วย บางส่วนของกองทัพ ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง และชนชั้นนำตามประเพณีต่างหากที่เป็นคู่ขัดแย้งกับขบวนการนักศึกษา-กรรมกร-ชาวนา กลุ่มองค์กรฝ่ายขวาที่เอ่ยถึงนั้นถูกจัดตั้งและสนับสนุนโดยกลไกรัฐทั้งสิ้น กลไกรัฐใช้กลุ่มฝ่ายขวาเป็นเครื่องมือในการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการฝ่ายก้าวหน้า โดยที่รัฐไม่ต้องออกหน้าเอง และรัฐก็จงใจสร้างสถานการณ์ให้เกิดการปะทะ การเผชิญหน้า จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม และรัฐเองอ้างความชอบธรรมในการรัฐประหารในที่สุด การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาฯ จึงเป็นกรณีที่กลุ่มอำนาจประเพณีบวกกับกลไกความมั่นคงในรัฐส่วนหนึ่งร่วมมือกันทำลายขบวนการฝ่ายซ้าย ปลิดชีพรัฐบาลพลเรือนและฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ (ฉบับ 2517) ไปพร้อมๆ กัน
การอธิบายคู่ขัดแย้งในกรณี 19 กันยาฯ ก็ออกจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงถ้าจะบอกว่ามันคือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นความขัดแย้งคลาสสิคระหว่างขบวนการประชาชนผู้รักความเป็นธรรมกับรัฐบาลทรราช เพราะถ้าจะมีอะไรที่เป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหาร 6 ตุลาฯ มาสู่กรณีรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็คือ กลุ่มอำนาจเก่าหรือชนชั้นนำตามประเพณีกลุ่มเดิมกลับมาเป็นคู่ขัดแย้งหลักที่สำคัญอีกเหมือนเดิม และมีบทบาทสำคัญขั้นชี้ขาดในผลลัพธ์ทางการเมืองที่ปรากฎออกมาเหมือนที่เคยมีบทบาทสำคัญในกรณี 6 ตุลาฯ คู่ขัดแย้งจึงไม่ใช่แค่ “ฝ่ายพันธมิตรและประชาชนทั่วไปจำนวนหนึ่ง vs ฝ่ายรักษาการรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” แต่เป็นกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณี+กลไกรัฐบางส่วน (กองทัพที่จงรักภักดีต่อกลุ่มอำนาจเก่า)+ฝ่ายพันธมิตร VS รัฐบาลรักษาการทักษิณ+กลุ่มองค์ประชาชนจากชนบทจำนวนหนึ่ง (คาราวานคนจน) ต่างหาก
กล่าวเฉพาะกรณีพันธมิตร โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ได้กลายเป็นกองหน้าในการเคลื่อนไหวให้กับอุดมการณ์และผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำประเพณี ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ในแง่บทบาททางประวัติศาสตร์ พันธมิตรเล่นบทเดียวกับกลุ่มองค์กรฝ่ายขวา (แม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะแตกต่างกัน) ในการมีส่วนหนุนช่วยหรือกรุยทางให้กับการรัฐประหาร
ข้อต่างระหว่างสองเหตุการณ์คือ ในกรณี 6 ตุลาฯ ชนชั้นนำประเพณีและกลไกรัฐเลือดเย็นอย่างยิ่งในการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายและลงมือใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมด้วยตนเอง ที่น่าเศร้าคือความรุนแรงที่รัฐเองเป็นผู้ก่อ (ไม่ใช่รัฐบาลพลเรือนซึ่งตอนนั้นไม่มีอำนาจในการควบคุมกลไกรัฐฝ่ายความมั่นคง) ถูกใช้เป็นเหตุผลในการรัฐประหาร ด้วยการบอกว่ารัฐบาลพลเรือนไร้น้ำยา ไม่มีความสามารถในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ ส่วนกรณี 19 กันยาฯ ฝ่ายชนชั้นนำและกลไกรัฐอ้างความรุนแรงเป็นเหตุผลในการทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นกัน ต่างตรงที่ความรุนแรงที่อ้าง เป็นความรุนแรงที่ยังไม่เกิด และไม่แน่ว่าจะเกิด เป็นความรุนแรงในจินตนาการที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้กับการรัฐประหาร
น่าสนใจว่า ความรุนแรงถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารของกลุ่มชนชั้นนำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คำถามคือ เมื่อตอน 6 ตุลาฯ ถ้าฝ่ายชนชั้นนำประเพณีและทหารรักและห่วงใยชีวิตประชาชนจริง เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหดซึ่งดำเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง โดยไม่ทำรัฐประหาร (pre-emptive coup) ตัดหน้าแบบคราว 19 กันยาฯ คำตอบดูจะอยู่ที่ว่า ฝ่ายประชาชนที่จะถูกปราบปรามนั้นเป็นคู่ปฏิปักษ์กับกล่มชนชั้นนำประเพณีที่พวกเขาต้องการกวาดล้างอยู่แล้ว ในกรณี 19 กันยาฯ ความรุนแรงซึ่งไม่มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นถูกใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร ปิดโอกาสการเลือกตั้งที่จะมาถึง เปิดทางให้กับการจัดระเบียบอำนาจในหมู่ชนชั้นนำเสียใหม่ คำถามคือ การอ้างเหตุผลเช่นนี้ (การอ้างถึงสถานการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่) มาล้มรัฐบาลฟังขึ้นหรือ ควรถูกยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานในการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารหรือ? ประโยคที่ว่า “หรือแม้ว่ามีการตัดสินยุบพรรคแล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับ โดยปลุกกระแสประชาชนขึ้นมาให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคม จนต้องล้มกระดานอยู่ดี” นั้น ออกจะเป็นการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าไปมากอยู่หรือไม่? เข้าทำนองหาเหตุผลย้อนหลังมารองรับการรัฐประหารหรือไม่
ประเด็นปัญหาจึงไม่ใช่แค่เรื่องใครถอย ไม่ถอยเพียงเท่านั้น แต่อยู่ที่ฝ่ายประชาชนและนักวิชาการที่ต่อสู้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณนั้น ยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่นในการต่อสู้มากน้อยเพียงใด หรือยอมรับวิธีการใดก็ได้ในการกำจัดรัฐบาลที่ตนไม่ชอบใจ ถ้าเป็นอย่างหลัง ขบวนการประชาชนก็เป็นมาคิอาเวลลีที่ยอมให้เป้าหมายมารองรับให้ความชอบธรรมกับวิธีการ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “รัฐประหารเกิดขึ้นเพราะพันธมิตรไม่ยอมถอย” ใช่หรือไม่ พันธมิตรและคนที่สนับสนุนพันธมิตรคงไม่ต้องมานั่งแก้ตัวแก้ต่างในเรื่องนี้ เพราะปัญหาอยู่ที่ว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเรียกหาการรัฐประหาร (และวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญอื่นๆ) มาตั้งแต่ต้นต่างหาก และเมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ต่อต้านคัดค้าน แถมยังช่วยหาเหตุผลให้ความชอบธรรมเสียด้วย
ในสังคมการเมืองใดๆ จริยธรรมความรับผิดชอบของผู้นำนั้นสำคัญแน่นอน แต่จริยธรรมความรับผิดชอบของประชาชนพลเมืองที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน
Article printed from onopen.com - โอเพ่นออนไลน์: http://www.onopen.com
URL to article: http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1065
URLs in this post:[1] “ธงชัย-ชัยวัฒน์ กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” : http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1055

No comments: