Tuesday, October 21, 2008

history, nation, and intellectuals

คำนำเสนอหนังสือนิธิ เอียวศรีวงศ์
ว่าด้วย ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน

ประวัติศาสตร์-ชาติ-ปัญญาชน คำสามคำนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
“ปัญญาชน” เป็นศัพท์ที่มีปัญหามากคำหนึ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังเถียงกันไม่รู้จบว่าบุคคลประเภทไหนสมควรถูกนับเนื่องจัดจำแนกเข้าข่ายให้เป็นปัญญาชนบ้าง เราจะไม่เสียเวลาเข้าไปคลุกวงในถกเถียงประเด็นดังกล่าว ณ ที่นี้ เพราะไม่ว่าจะนิยามกว้างแคบถี่ห่างอย่างไร นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของผลงานรวมเล่มชิ้นนี้ก็สามารถและสมควรถูกเรียกขานว่าเป็นปัญญาชนได้อย่างเต็มปากและอย่างไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ ทั้งโดยผลงานวิชาการ บทบาททางสังคม และอิทธิพลทางความคิด
อาจารย์นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ ข้อนี้ใครๆ ก็รู้กันอยู่ อย่างไรก็ตาม หากกวาดสายตามองไปยังปัญญาชนเด่นๆ ที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงในสังคมไทยปัจจุบันนั้น เราจะพบว่าปัญญาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมีพื้นเพทางการศึกษาและอาชีพไม่เป็นนายแพทย์ ก็พระ หรือนักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักนิติศาสตร์ (คงพอเดากันได้ว่าหมายถึงใครบ้าง) แต่หาคนที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักประวัติศาสตร์แทบจะไม่มี นิธิดูจะเป็นคนเดียวกระมังในหมู่ปัญญาชนคนสำคัญของยุคสมัย แน่ละว่าความลุ่มลึกแหลมคมและอิทธิพลทางความคิดของปัญญาชนคนหนึ่งที่มีต่อวงวิชาการและสังคมวงกว้าง คงมาจากองค์ประกอบหลากหลายที่ไม่ได้ขึ้นกับพื้นฐานทางการศึกษาและอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลิกภาพ สถานะทางสังคม ความสามารถทางภาษาของคนๆ นั้นด้านหนึ่ง บวกกับวาทกรรมหลักที่ครอบงำสังคมในแต่ละยุคสมัย (ซึ่งทำให้ความคิดของบางคนดูเข้าท่า ในขณะที่ความคิดของบางคนฟังอย่างไรก็ “ไม่ขึ้น”, “ไม่ถูกได้ยิน” หรือได้ยินก็ “เสียงไม่ดัง”) แน่นอนว่าในแง่บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว อาจารย์นิธิมีความเป็นนักคิดลัทธิแก้โดยธรรมชาติ คิดแหกคอกเป็นอุปนิสัย และเป็นนายของภาษาอย่างไม่ต้องกังขา ฯลฯ แต่ผู้เขียนคิดว่าพื้นฐานความเป็นนักประวัติศาสตร์มีความสำคัญมากต่อกระบวนการคิด (และอาจารย์นิธิก็ใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่) ไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ และทำให้งานของนิธิมีเสน่ห์ต่างไปจากปัญญาชนร่วมสมัยคนอื่นๆ เนื่องจากมันทำให้นิธิเห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็น อ่านงานของอาจารย์นิธิทีไร ผู้อ่านก็รู้สึกว่าได้มุมมองหรือความรู้ใหม่ที่ตัวเองไม่เคยมองหรือไม่เคยรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามที
อันที่จริงการที่นักประวัติศาสตร์จะกลายเป็นปัญญาชนสำคัญของสังคมนั้น แม้จะเป็นเรื่องไม่ปกติในปัจจุบัน ทว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในประวัติภูมิปัญญาของไทย ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปัญญาชนสำคัญๆ ของยุคสมัยล้วนแต่เป็นผู้ที่กุมความรู้เกี่ยวกับอดีตของสังคมและผลิตมันออกมาเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ไล่มาตั้งแต่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯลฯ เพราะประวัติศาสตร์ถูกสร้างและใช้เป็นฐานความชอบธรรมของระบอบอำนาจต่างๆ เสมอมา ยิ่งในสมัยสร้าง “ชาติ” (คำกิริยาก็บ่งบอกนัยในตัวมันเองอยู่แล้วว่า ‘ชาติ’ เป็นสิ่งที่ถูกทำให้มีขึ้น ไม่ได้มีอยู่เองโดยธรรมชาติ) ซึ่งตัวมันเองเป็นชุมชนในจินตนากรรมที่ต้องระดมเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างมาช่วยกันสร้างสำนึกร่วมของความเป็นพวกเดียวกันขึ้นมาให้สำเร็จ ประวัติศาสตร์ก็ยิ่งสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงประการหนึ่งจนขาดเสียมิได้ในฐานะองค์ประกอบของการสร้างความเป็น “ชาติ” ไทย (หรือชาติไหนๆ ก็ตาม) ขึ้นมา ตรงนี้เองที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติหรือความทรงจำร่วมกันได้บังเกิดขึ้น แต่
”ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติต้องทรงจำสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงแท้ แต่ชาติต้องทรงจำอดีตที่ “สร้าง” ขึ้นไว้ให้จดจำ เพราะอันที่จริงชาติไม่มีอัตลักษณ์อะไรของตัวเองมากนัก ฉะนั้น ครึ่งหนึ่งของอัตลักษณ์ของชาติคือความทรงจำร่วมกัน และผมขอย้ำว่าความทรงจำอันนี้ถูก “สร้าง” ขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานรองรับโครงสร้างอำนาจ, วัฒนธรรม, สังคมและการเมืองของชาติ” (ประวัติศาสตร์ก่อนประชารัฐ)
อัตลักษณ์ของชาติที่ถูกค้ำจุนไว้ด้วยความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นนี้มีความมุ่งหมายที่จะรวมเอาประสบการณ์อันหลากหลายของคนไทยไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และบอกว่ามันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากชาติอื่นในโลก ทั้งๆ ที่มันไม่มีอยู่จริง แต่มันก็ถูกสร้างและส่งผ่านช่องทางอันหลากหลายตั้งแต่แบบเรียน อนุสาวรีย์ แผนที่ เพลง ธง ฯลฯ จนทุกคนในชาติยึดมั่นถือมั่นร่วมกันในอัตลักษณ์นี้ ซึ่งรู้จักกันในนามว่า “ความเป็นไทย” ประเด็นนี้นับเป็นประเด็นสำคัญในบทความหลายชิ้นของนิธิ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นไทย” ที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมีมาแต่ดั้งเดิม สูงส่ง บริสุทธิ์ ดีงาม นั้น ที่จริงแล้วแสนจะไม่ธรรมชาติและมีความเป็น “การเมือง” อย่างยิ่ง เพราะความเป็นไทยทำหน้าที่เสมือนเป็นเส้นเขตแดน ที่สามารถกีดกันคนบางคนให้พ้นออกไปจากความเป็นสมาชิกของชาติ และสำหรับสมาชิกด้วยกัน มันยังเป็น “บันไดสำหรับจัดลำดับขั้นของคนภายในสังคมด้วย” (วัฒนธรรมรักชาติ) จากประสบการณ์ของสังคมไทยที่ผ่านมา นิธิสรุปได้อย่างกระชับชัดว่าคนที่ถูกตราหน้าว่า “ไม่ไทย” นั้น “ไม่เพียงแต่ถูกลิดรอนอำนาจและสิทธิเท่านั้น แม้แต่จะพร่าชีวิตเสียยังถือว่าเป็นความชอบธรรม” (ความเป็นไทย)
เพียงแต่หลับตานึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับข้อกล่าวหาเรื่องความเป็นญวนคงจะทำให้เห็นพลังอำนาจของ ”ความเป็นไทย” ได้ชัดเจนกระมัง
เนื่องจากอัตลักษณ์แห่งชาติที่เรียกว่าความเป็นไทยซึ่งถูกโอบอุ้มรองรับไว้ด้วยประวัติศาสต์แห่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีตามธรรมชาติ ก็ย่อมหมายความว่ามีคนสร้างมันขึ้นมา และคนที่สร้างมันขึ้นมาก็คือ ปัญญาชนนักประวัติศาสตร์รุ่นสร้างชาติทั้งหลาย (สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้งในงานของนิธิ (อยากรู้ว่ามีใครบ้าง ก็ขอให้แกะรอยตามอ่านจากงานวิจัยของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ที่กำลังทะยอยตีพิมพ์ออกมา) แน่นอนว่าใครอ่านบทความเหล่านั้นก็คงเห็นได้ไม่ยากนักว่านิธิวิพากษ์การตีความอดีตตามสำนวนที่นักปราชญ์เหล่านี้สร้างขึ้น แต่ก็ชวนให้พวกเราตระหนักด้วยว่าพลังอำนาจและความแพร่หลายของมันยังคงอยู่กับสังคมไทยถึงปัจจุบัน แม้ว่าเราจะก้าวพ้นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติถูกประดิษฐ์ขึ้นมานานแล้วก็ตามที กล่าวในแง่นี้นิธิจึงเห็นว่าปัญญาชนรุ่นสร้างชาติประสบความสำเร็จอย่างสูง (แม้แต่งานค้นคว้าทางวิชาการของฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งหลายยังถูกดูดกลืนเข้ามาอยู่ภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่นักปราชญ์เหล่านี้วางเอาไว้)
นี่เป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าชวนให้ขบและคิดต่อให้แตกและละเอียดกันต่อไปอย่างยิ่งว่า เหตุปัจจัยอันใดบ้างที่ทำให้สำนึกเกี่ยวกับอดีตแบบ “สำนักเจ้า” (ภาษาของนิธิ) หรือแบบ “ราชาชาตินิยม” (ภาษาของธงชัย วินิจจะกูล) ยังคงสืบเนื่องอยู่ถึงปัจจุบัน แม้ว่าตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิ
ราชย์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมันจะสิ้นสุดลงไปแล้วร่วม 7 ทศวรรษ
เหตุเพราะว่าการตีความอดีตตามสำนวนของนักปราชญ์รุ่นสร้างชาติยังไม่ได้ตายจากเราไปนี่เอง เราจึงยิ่งต้องให้ความใส่ใจกับมันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ที่ก่อเกิดจากการตีความอดีตแบบสำนักเจ้าเป็นอัตลักษณ์ที่มีปัญหา เพราะมันไม่ได้ให้สิทธิและอำนาจกับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน แต่มีบางคนได้มาก บางคนได้น้อย ไปจนถึงถูกกีดกันออกไปเลยโดยสิ้นเชิง พูดในสำนวนอาจารย์นิธิคือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของเรานั้นมีปัญหา และปัญหาสำคัญก็เพราะมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์แห่ง “ชาติ” จริง ที่จะให้พื้นที่แก่ความทรงจำของคนทุกหมู่เหล่าอย่างทัดเทียมกัน ที่เรียกกันว่าประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นแท้จริงแล้วมีฐานของความทรงจำที่แคบมาก เป็นเพียงความทรงจำของกลุ่มคนซึ่งอยู่บนจุดสูงสุดของปีระมิดอำนาจที่ถูกขยายและยัดเยียดให้กลายเป็นความทรงจำรวมหมู่ของคนทั้งชาติ
เราสามารถกล่าวอย่างไม่เกินเลยไปนักได้ว่า ความรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยนั้นซื่อสัตย์กับการรับใช้อำนาจเสมอมา จนไม่นานมานี้เองกระมัง ในช่วงหลังการปฏิวัติทางปัญญาเมื่อ 14 ตุลาฯ ที่มีการชำแหละ ถกเถียง ตั้งคำถามท้าทายอย่างจริงจังต่อประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบเก่าที่มีการสร้างและผลิตซ้ำต่อๆ กันมา ประวัติศาสตร์กลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในสังคมท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองอันร้อนแรง ปัญญาชนสำคัญ 2 คนที่นิธิเอ่ยถึง อย่าง
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และจิตร ภูมิศักดิ์ ล้วนมีส่วนสำคัญในการตั้งคำถามและให้ความหมายใหม่แก่ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์แห่งชาติไทย และทั้งสองคนเกี่ยวพันกับ 14 ตุลาฯ อย่างแยกไม่ออก คนแรกเป็นจิ๊กซอว์ใหญ่ชิ้นหนึ่งที่นำมาสู่ 14 ตุลาฯ ส่วนคนหลังนั้น 14 ตุลาฯ ทำให้เขามีกำเนิดครั้งที่ 2
เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติ (รวมทั้งอัตลักษณ์แห่งชาติ) ก็ยิ่งถูกท้าทายมากขึ้นจากหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน หากสรุปเอาจากงานของนิธิ เราก็จะพบว่ามีสำนักคิดทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ งอกเงยเพิ่มขึ้นจากที่มีแต่ “สำนักเจ้า” ทั้งยังร่วมกันวิพากษ์สำนักเจ้าอย่างถึงรากถึงโคน อาทิเช่น สำนักเจ๊ก และสำนักไต ซึ่งช่วยเพิ่มตัวละครใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง และกิจกรรมในมิติอื่นที่นอกเหนือจากการเมืองและสงครามเข้ามาในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่นำพาสังคมไทยเข้าสู่ยุคโลกานุวัตรก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะทำให้รัฐไทยไม่สามารถกำหนดความทรงจำแห่งชาติได้เด็ดขาดฝ่ายเดียวอีกต่อไป มาถึงตอนนี้ชนชั้นกลางก็ขอเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งฝรั่งฮอลลีวู้ดก็ขอมีเอี่ยวด้วยเหมือนกัน (ในกรณี Anna and the King)
หากเรานับผู้สร้างละครทีวีและภาพยนตร์เป็นชนชั้นกลางด้วย ก็จะเห็นว่ามีการตีความอดีตขึ้นใหม่อย่างน่าสนใจในละคร/ภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุคหลายเรื่องด้วยกัน
นิธิเองก็เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองวัฒนธรรมนี้ด้วยคนหนึ่ง จากบทความรวมเล่มชิ้นนี้ จะเห็นถึงความพยายามอย่างแข็งขันและเฉลียวฉลาดของปัญญาชนคนหนึ่งในการนิยามความหมายใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของสังคมตนเอง เพราะเหตุนี้ 24 มิถุนาฯ เอย 14 ตุลาฯ เอย ศิลาจารึกหลักที่ 1 เอย ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เอย หรือการเมืองในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงถูกนำมาตีความด้วยมุมมองและหลักฐานใหม่ๆ ดังที่ผู้อ่านจะได้สัมผัสในหนังสือเล่มนี้
โจทก์ทางประวัติศาสตร์ของนิธิ ดูจะอยู่ที่ทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์แห่งชาติ เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติจริงๆ ที่ครอบคลุมประสบการณ์ของคนอันหลากหลาย พร้อมทั้งคืนความเป็นมนุษย์ให้กับประวัติศาสตร์ (มิใช่เห็นแต่อภิมนุษย์หรือรัฐ) ขณะเดียวกันก็ไม่อธิบายประวัติศาสตร์จากแง่มุมการกระทำของตัวบุคคลเสียหมด แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับพลังของระบบ/โครงสร้างที่กำกับการตัดสินใจของมนุษย์เดินดินธรรมดาทั้งหลายในประวัติศาสตร์ด้วย
นี่ดูจะเป็นโจทก์ที่ยากแต่ก็ท้าทายอยู่ไม่น้อย
พร้อมๆ กับการสร้างสำนึกใหม่เกี่ยวกับอดีต ความหมายและอัตลักษณ์ของ “ชาติ” ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะตัวมันถูกค้ำจุนไว้ด้วยความทรงจำเกี่ยวกับอดีตแบบหนึ่ง ทำเช่นนี้เพื่อจุดประสงค์อันใด ดูเหมือนผู้เขียนได้ตอบไว้อย่างกระชับรัดกุมว่า “การสร้างสำนึกเกี่ยวกับอดีตใหม่...เท่ากับการสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทย” (สำนักเจ๊ก-สำนักไต)
ประวัติศาสตร์-ชาติ-ปัญญาชนจึงมาเกี่ยวข้องกันด้วยประการฉะนี้แล
ชาติที่น่ารักจึงไม่เพียงแต่ต้องมีประชาชนหากต้องมีปัญญาชนอยู่ด้วย เพราะ “ชาติ” ที่ไม่มีประชาชนนั้น อย่างไรเสียก็เป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ ถือว่าพิกลพิการไม่สมประกอบ ส่วน “ชาติ” ที่ปราศจากปัญญาชน โดยเฉพาะปัญญาชนแหกคอกอย่างนิธินั้น ก็คงเป็นชาติที่จืดชืดไม่มีรสชาติและไม่น่าอยู่เอาเสียเลย เพราะไม่มีใครมาชวนทะเลาะด้วยอีกต่อไป

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ท่าพระจันทร์
ธันวาคม 2546

No comments: