โพสต์ทูเดย์ (17 กุมภาพันธุ์ 2551)
ความรุนแรงในการเลือกตั้ง: บทเรียนจากเคนยาสู่ไทย
ประจักษ์ ก้องกีรติ
ในเวลาห่างกันเพียง 4 วันหลังจากที่ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจสู่ประชาชนเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ณ อีกฝากโลกหนึ่งที่ประเทศเคนยา การเลือกตั้งครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเลือกประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้ทนราษฎรหลังจากรัฐบาลเก่าได้ดำรงตำแหน่งมาจนครบวาระ 5 ปี ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างสยดสยองหลังการเลือกตั้งทำให้เคนยาตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก ดึงดูดความสนใจจากชุมชนการเมืองระหว่างประเทศ อดีตผู้นำและนักการทูตจากหลายประเทศเดินทางไปเคนยาเพื่อช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยระงับความรุนแรงที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สงบลง ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งได้คร่าชีวิตชาวเคนยาไปแล้วทั้งสิ้น 1,000 คน และทำให้ชาวเคนยาจำนวนถึง 600,000 คน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก และคนชราไร้ที่อยู่อาศัย ระรหกระเหินจากบ้านตนเองเพื่อหนีเอาชีวิตรอด เนื่องจากไร่นาบ้านเรือนถูกเผา และสมาชิกครอบครัวถูกข่มขืนหรือไม่ก็ถูกสังหารเสียชีวิต โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอะไรเป็นบทเรียนที่เราจะเรียนรู้ได้บ้าง
ผู้อ่านหลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับประเทศเคนยา เคนยาเป็นประเทศที่สำคัญมากประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2506 หลังจากได้รับเอกราชก็ปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียวมาป็นเวลานานจนถึงปี 2536 จึงจัดให้มีการแข่งขันในระบบหลายพรรคขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็จัดการเลือกตั้งต่อเนื่องมาอย่างสม่ำเสมอ ปรากฎว่าการเลือกตั้งในเคนยา 3 ครั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ปี 2536, 2540, 2545) เต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้มีความแตกต่างอย่างน้อยสองประการจากครั้งก่อนๆ คือ คราวนี้ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ในขณะที่ครั้งก่อนๆ ความรุนแรงถูกนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ก่อนการเลือกตั้งเพื่อทำลายฐานเสียงฝ่ายตรงข้ามโดยใช้กำลังบังคับผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามให้อพยพโยกย้ายออกนอกเขตเลือกตั้ง ประการที่สอง ความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เกิดขึ้นในระดับที่เล็กกว่านี้มาก มีผู้เสียชีวิตอย่างมากที่สุดไม่เกิน 100 คน สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่สนับสนุนพรรคการเมืองต่างกัน ความขัดแย้งระหว่างเผ่าที่ปรากฎเป็นข่าวบวกกับความรู้ทางวัฒนธรรมที่ว่าประเทศเคนยาเป็นประเทษที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมากประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา (ประกอบด้วยชนเผ่าอย่างน้อย 42 ชนเผ่า) ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากอธิบายว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นสงครามความเกลียดชังระหว่างชนเผ่าที่สืบเนื่องมาแต่อดีตกาลอันไกลโพ้น (tribal-hatred violence)
คำอธิบายดังกล่าวสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และทำให้เราไม่เข้าใจความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างการเมืองเรื่องการเลือกตั้งกับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ในประเทศเคนยาและอีกหลายประเทศในแอฟริกานั้น ความหมายและความสำคัญของอัตลักษณ์ชนเผ่านั้นเป็นสิ่งที่เลือนไหลและไม่หยุดนิ่งตายตัว ในช่วงที่ปลอดพ้นจากการเลือกตั้ง เราพบว่าชนเผ่าต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้รบราฆ่าฟันกัน ชนเผ่าคิคูยู, เผ่าคาเลนจิ, และลูโอ (ขั้วขัดแย้งหลักในความรุนแรงครั้งล่าสุด) แต่งงานข้ามชนเผ่าและไปมาคบหากันอย่างสม่ำเสมอ ผู้คนไม่ได้ใช้สังกัดชนเผ่ามากำหนดความเป็นมิตรและศัตรูกับคนต่างชนเผ่าเสมอไป งานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาการเมืองในประเทศเคนยาชี้ให้เห็นว่าการแข่งขันช่วงชิงอำนาจะระหว่างผู้นำต่างพรรคการเมืองต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นอัตลักษณ์ทางการเมือง โดยพรรคการเมืองต่างๆ พยายามสร้างฐานเสียงความนิยมกับชนเผ่าเดียวกับผู้นำพรรค ผ่านการปลุกเร้าสำนึกทางชนเผ่า บวกกับกระพือความเกลียดชังต่อกลุ่มชนอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในการเลือกตั้ง และเมื่อพรรคของตนได้อำนาจทางการเมือง ก็ผลักดันนโยบายและโครงการที่ให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มชนเผ่าเดียวกับรัฐบาล ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของรัฐบาลประธาธิบดีเอมไว คิบากิ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าตอบสนองเฉพาะผลประโยชน์ของเผ่าคิคูยู
ความรุนแรงในการเลือกตั้งในเคนยาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศอย่างมหาศาล จุดปะทุมาจากความเชื่อของทั้งฝ่ายค้านและผู้สังเกตการณ์ต่างชาติว่าฝ่ายรัฐบาลโกงการเลือกตั้งอย่างโจ้งแจ้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการรายงานผลการเลือกตั้งเข้าข้างพรรครัฐบาล (รัฐธรรมนูญเคนยากำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง กกต. ด้วยตนเอง) ส่งผลให้ฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่น่าเศร้าคือ ผู้นำฝ่ายค้านได้ไปปลุกระดมกลุ่มอันธพาลและเยาวชนหัวรุนแรงในสังกัดของตนให้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น และจงใจสร้างประเด็นความขัดแย้งให้เป็นเรื่องของสงครามระหว่างชนเผ่า ความรุนแรงถูกตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาล จนลุกลามขยายใหญ่โตกลายเป็นสงครามระหว่างชนเผ่าไปจริงๆ
หันกลับมามองการเมืองบ้านเรา ข้อเท็จจริงที่ว่าการเลือกตั้งของไทยไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงทางเชื้อชาติหรือระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่างพรรคกันในแบบที่เกิดขึ้นที่เคนยา เป็นเรื่องที่เราควรจะยินดี แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า ณ เดือนกันยายน เมื่อสองปีก่อน การเมืองไทยได้ประสบพบพานกับความรุนแรงหลังการเลือกตั้งในรูปแบบการรัฐประหาร แม้ปราศจากการนองเลือด แต่การรัฐประหารคือการใช้กำลังเข้ามาหยุดยั้งพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และทำลายเจตจำนงของประชาชน ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งในเคนยาและในไทย สะท้อนให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยยังไม่ได้ลงหลักปักฐานเป็นคุณค่าและกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ในรอบสองปีที่ผ่านมา นักวิชาการ สื่อมวลชน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากต่างพากันแสดงทัศนะที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าว่าประชาธิปไตยไม่เท่ากับการเลือกตั้ง ทัศนะทางการเมืองเช่นนี้ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด เพราะไม่มีนักวิชาการที่ศึกษาประชาธิปไตยคนใดยืนยันหัวชนฝาว่าประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะตระหนักดีว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานและมีความหมายต่อชีวิตผู้คน เราต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประชาสังคมที่เข้มแข็ง พลเมืองที่แข็งขัน สถาบันยุติธรรมที่อิสระและเป็นกลาง กองทัพที่อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายพลเรือน และสื่อมวลชนที่อิสระ การเลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตยแน่นอน แต่เราไม่อาจมีประชาธิปไตยโดยปราศจากการเลือกตั้งเป็นกติกาพื้นฐานในการเลือกผู้นำทางการเมือง ฉะนั้น หากรักที่จะสร้างประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องทำ มิใช่การ ปฏิเสธ การเลือกตั้ง แต่คือการ ปฏิรูป สถาบันการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม เสรี และเปิดกว้างแก่คนทั่วไปมากขึ้น (เช่น ยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามคนจบปริญญาตรีลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. และ สว.) เพื่อให้เราได้ผู้นำที่ขี้เหร่น้อยที่สุด และสร้างนโยบายที่ตอบสนองผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งมากที่สุด
ในระหว่างนี้ ประชาธิปไตยอาจจะไม่สามารถให้หลักประกันว่าเราจะได้ผู้นำที่พร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่ทุกคนปรารถนา แต่อย่างน้อยประชาธิปไตยก็เปิดพื้นที่ให้เราได้เคลื่อนไหว กดดัน ตรวจสอบผู้นำที่คอร์รัปชั่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน และบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างสันติ ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า การเคลื่อนไหวกดดันนั้น จะดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องอาศัยรถถังและกระบอกปืน หรืออำนาจนอกระบบที่ไหนมาทำหน้าที่แทนประชาชนอีก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment