ประชาไท 05/01/08
คลื่นแห่งความเกลียดชัง: สื่อกับความรุนแรง
ประจักษ์ ก้องกีรติ
ในชิ้นที่แล้ว ผมรีวิวหนังสือว่าด้วยกำเนิดและวิวัฒนาการของคาร์บอมบ์ในฐานะที่มันเป็นศาสตราของความรุนแรงที่สำคัญของโลกสมัยใหม่ มาชิ้นนี้ผมอยากจะรีวิวหนังสือเกี่ยวกับอาวุธอีกชนิดหนึ่งซึ่งดูผิวเผินไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับความรุนแรง แต่หากพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจังแล้ว จะพบความจริงอันน่าตกใจว่า มันถูกใช้เป็นเครื่องมือของการประหัตประหารหลายครั้งหลายคราวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และเมืองไทยเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ไม่ว่าจะนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อปี 2519 หรือที่กำลังเกิดขึ้น ณ วินาทีนี้ เกริ่นซะยาว ครับ ผมกำลังจะพูดถึงสื่อมวลชนครับ
หนังสือที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน หากสนใจว่าสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างไรคือ หนังสือชื่อว่าสื่อมวลชนกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา (The Media and the Rwanda Genocide, Pluto Press, 2007) มี Allan Thompson นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนเป็นบรรณาธิการ รวบรวมบทความทั้งสิ้น 35 ชิ้นจากนักวิชาการชั้นนำ บวกกับสารจากโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ
ทำไมรวันดา? ในปี ค.ศ. 1994 เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ขึ้นในรวันดา ประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ภายในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ชาวทุตซี่ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา (15 % ของประชากร) ถูกฆ่าตายไปทั้งสิ้น 500,000 คน (มากกว่า 80% ของประชากรทุตซี่) นับเป็นการสังหารหมู่ที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นักสังเกตการณ์หลายคนเรียกมันว่า โฮโลคอสต์ ภาค 2 (Holocaust คือ ชื่อเรียกการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวโดยระบอบนาซีในช่วงสงครามโกลครั้งที่สอง) แน่นอนว่าบทบาทของสื่อมวลชนในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงนั้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่รวันดาเป็นกรณีที่สะเทือนขวัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เพราะสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อวิทยุทำงานอย่างจริงจัง อย่างจงใจ และเป็นระบบในการก่อให้เกิดการสังหารหมู่ เรียกว่ามีสำนึกรับผิดชอบอย่างสุดกำลังในการก่อความรุนแรง! มันจึงกลายเป็นกรณีที่เป็นประจักษ์พยานหลักฐานอันเด่นชัดที่เผยให้เห็นโฉมหน้าอันน่าสะพรึงกลัวและน่ารังเกียจของสื่อมวลชนในห้วงยามของความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน รวันดากลายเป็นหมุดหมายอันสำคัญของประวัติศาสตร์ กลายเป็นกรณีศึกษาของนักวิชาการจากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นด้านสื่อสารมวลชน จิตวิทยา มนุษยวิทยา นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่ต้องการทำความเข้าใจศักยภาพและบทบาทของสื่อมวลชนกับความรุนแรงในโลกสมัยใหม่ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นอีก
หนังสือเล่มนี้คือความพยายามอย่างเป็นระบบในการระดมเอนจีโอ นักการทูต และนักวิชาการจากหลายสาขามาขบคิดเกี่ยวกับปัญหานี้ หนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก ว่าด้วยบทบาทของสื่อในรวันดากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนที่สอง ว่าด้วยบทบาททั้งโดยตรงและโดยอ้อมของสื่อต่างประเทศกับโศกนาฏกรรมในรวันดา ซึ่งทั้งเพิกเฉยไม่แยแสกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อันเนื่องมาจากอคติทางเชื้อชาติ กับอคติทางการเมือง ไม่เห็นว่าชีวิตของชาวแอฟริกันเผ่าหนึ่งในประเทศที่มีไม่ความสำคัญอะไรในเกมการเมืองระหว่างประเทศมีค่าควรแก่การ “เป็นข่าว” การเพิกเฉยต่อการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ในรวันดากลายเป็นตราบาปของสื่อต่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่สาม เกี่ยวกับมุมมองและขอถกเถียงทางกฎหมายว่าด้วยกรณีความรับผิดชอบของสื่อมวลชนในฐานะผู้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง และส่วนที่สี่ว่าด้วยการปฏิรูปสื่อเพื่อนำไปสู่บทบาทอันสร้างสรรค์ในการระงับความขัดแย้งและความรุนแรง
ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ผมจะไม่เล่ารายละเอียดว่าแต่ละบทความเสนอข้อถกเถียงอะไรบ้าง ที่อยากจะทำคือ นำเสนอเฉพาะข้อถกเถียงและข้อสรุปที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญให้เรานำมาขบคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนี้
ข้อถกเถียงที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือ คำถามใหญ่ที่ว่าสื่อมีบทบาทในการก่อให้เกิดความรุนแรงจริงหรือไม่ เราประเมินบทบาทของสื่อสูงเกินจริงไปหรือเปล่า บทความหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้เห็นค่อนข้างสอดคล้องกันว่า ลำพังการโฆษณาชวนเชื่อของสื่ออย่างเดียวไม่อาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรวันดา อย่างไรก็ตาม สื่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดสามประการในการทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและลุกลามไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
1. สื่อแพร่กระจายความเกลียดชังอย่างตั้งใจ ผ่านคำพูด เพลงปลุกระดม คำขวัญ และถ้อยคำหยาบคายที่จงใจทำให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่มีความคิดเห็นหรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างกลายเป็นศัตรูที่ต้องถูกกำจัดหรือกวาดล้าง กระบวนการสร้างความเกลียดชังทำในสองรูปแบบหลักคือ หนึ่งลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม ในกรณีนี้ดีเจสถานีวิทยุ Radio-Télévision Libre des Milles Collines (RTLM) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุเอกชน ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของผู้นำฮูตูขวาจัด และมีบทบาทหลักในการยุยงปลุกปั่นความเกลียดชัง จนได้ฉายาอันอื้อฉาวว่า “วิทยุแห่งความตาย” จงใจเรียกชาวตุดซี่ว่าเป็นแมลงสาบตลอดเวลา เพื่อชี้ว่าชาวทุตซี่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อหรือจิตวิญญาณเหมือนชาวฮูตู เป็นขยะของสังคมที่ควรจะถูกกวาดล้างเพื่อทำให้สังคมบริสุทธิ์ เหมือนกำจัดแมลงสาบออกไปจากที่พักอาศัย (ฆ่าแมลงสาบไม่บาป) นอกจากเทคนิคที่กดให้ฝ่ายตรงข้ามต่ำกว่าตนแล้ว เทคนิคอีกประการหนึ่งคือ วาดภาพให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นยักษ์เป็นมารไปเสีย ซึ่งก็เป็นการทำให้พวกเขาไม่ใช่มนุษย์มนาไปอีกแบบหนึ่ง คือ ดูน่ากลัวเสียจนฝ่าย “พวกเรา” ต้องสามัคคีกันเพื่อกำจัด มีการปลุกระดมผ่านสถานีวิทยุ RTLM ว่าชาวทุตซี่มีแผนการจะสังหารหมู่ชาวฮุตูให้สิ้นซากไปจากประเทศ และแปลงรวันดาให้กลายเป็นดินแดนของชาวทุตซี่แต่ลำพัง เทคนิคประการที่สองนี้มุ่งสร้างให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนกเสริมเข้าไปกับความเกลียดชัง
2. สื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานในการลงมือก่อความรุนแรงระหว่างนักการเมืองหัวรุนแรงกับเครือข่ายของพวกเขา มีหลักฐานมากมายว่าสถานีวิทยุ RTLM ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างที่ควรจะทำในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง แต่แปลงร่างตัวเองเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเชื้อชาตินิยมขวาจัดในการโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม (รวมทั้งชาวฮูตูด้วยกันที่ไม่เห็นสอดคล้องกับแผนการณ์ของตน) ที่น่ากลัวคือ ผู้ประกาศข่าวและเจ้าหน้าที่ของสถานีนี้ไม่เพียงแต่บิดเบือนข้อเท็จจริง โกหกมดเท็จ และปั้นนำเป็นตัวเท่านั้น แต่ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการของการสังหารหมู่เลยทีเดียว มีการประกาศรายชื่อชาวตุ๊ดซี่ที่เป็นเป้าหมายของการสังหารออกอากาศสด นอกจากชื่อเสียงเรียงนาม ดีเจประจำสถานียังให้ข้อมูลที่อยู่เสร็จสรรพว่าจะไปตามฆ่าคนเหล่านี้ได้ที่ไหน รวมทั้งมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ชาวตุดซี่ไปชุมนุมหรือหลบซ่อนอยู่ ข้อมูลจากองค์กรนานาชาติและนักวิจัยพบว่า รายชื่อบุคคลที่สถานีวิทยุ RTLM ประกาศออกอากาศ ทุกรายถูกฆ่าตายให้หลังเวลาการออกอากาศไม่นาน และสถานที่หลบภัยทั้งหลายถูกเผาทำลายและโจมตีอย่างแม่นยำหลังจากมีการประกาศผ่านสถานีวิทยุ เนื่องจากความแพร่หลายของสื่อวิทยุ ซึ่งเป็นสื่อราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายที่สุดในสังคมรวันดา ทำให้การประสานงานในการฆ่าดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพในขอบเขตทั่วประเทศ
3. สื่อทำหน้าที่ชี้นำสาธารณะให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นทางออกและจำกัดทางเลือกของการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี บทบาทของสื่อในข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สื่อวิทยุบางสถานีและหนังสือพิมพ์บางฉบับในรวันดาจงใจชี้นำสาธารณะว่าความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่าง “พวกเรา-คนส่วนใหญ่” กับ “พวกเขา-คนส่วนน้อย” เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว และตอกย้ำว่าความรุนแรงเท่านั้นที่เป็นทางออกจากความขัดแย้งนี้ คำขวัญที่ถูกอ่านออกอากาศซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงนั้นคือ เลือกเอาว่าคุณ “จะฆ่าหรือจะเป็นฝ่ายถูกฆ่า” (to kill or to be killed) โดยการชี้นำเช่นนี้ สื่อทำหน้าที่อันเลวร้ายสองอย่าง หนึ่ง ไม่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าใจความประเด็นทางการเมืองในแบบอื่นๆ เลย นอกจากการเมืองของสีขาวกับสีดำ เทพกับมาร การตีกรอบปัญหาทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้สังคมขาดวุฒิปัญญาและไม่พร้อมต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน สอง สื่อทำหน้าที่เป็นโฆษกของความรุนแรงและโหมกระพือความแตกแยกในสังคมแทนที่จะเป็นสติให้กับสาธารณชน
บทเรียนจากรวันดาคือ สื่อในสังคมไหนๆ ก็สามารถเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในการก่อความรุนแรงได้ เมื่อใดก็ตามที่มันยุติการทำหน้าที่ของการเป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงและนำเสนอความเห็นอันรอบด้านแก่สาธารณะ และแปลงตัวเองไปเล่นบทกระบอกเสียงของความเกลียดชัง
เราควรเข้าใจว่าในสังคมประชาธิปไตยใดก็ตาม ความเห็นต่างทางการเมือง ความแตกต่างของอัตลักษณ์ กระทั่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นเรื่องปกติของชีวิตทางสังคม ข้อดีของสังคมประชาธิปไตยคือ การอนุญาติให้เราถกเถียงกัน เห็นต่างกันได้อย่างสันติ โดยไม่ตีหัวกันหรือฆ่ากันเพื่อเอาชนะทางการเมือง เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้จากกันและกัน เและคารพซึ่งกันและกัน ไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นยักษ์มารผีสางหรือแมลงสาบ สื่อมวลชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตยคือ สื่อที่ทำหน้าที่จรรโลงบรรยากาศและคุณค่าประชาธิปไตยเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ ฉะนั้น สื่อต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่วางยาพิษให้กับสังคมด้วยการแพร่กระจายสารของความเกลียดชัง ปฏิเสธการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง และไม่ชี้นำให้เกิดความรุนแรงเสียเอง น่าเสียดายและน่าเสียใจว่าสื่อรวันดาทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับบทบาทที่สื่อที่ดีควรจะทำ ราคาของมันคือ ชีวิตของคนบริสุทธิ์ 500, 000 คน ที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ บวกกับความโกรธ ความเกลียด และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างชาวทุตซี่กับชาวฮูตูที่ดำรงอยู่ในสังคมรวันดาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
หากจะมีข่าวดีอย่างน้อยเพียงอย่างเดียวจากกรณีนี้คือ ในปี ค.ศ. 2003 ศาลศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda : ICTR) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้ตัดสินให้ผู้ประกาศสองคนของสถานีวิทยุ RTLM และนักข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นับเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง (นับจากศาลนูเรมเบิร์กที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อพิจารณาการสังหารหมู่ชาวยิว) ว่า แม้สื่อมวลชนไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้ลงมือฆ่าโดยตรง หากทำหน้าที่ยุยงปลุกปั่นและชี้นำให้มีการใช้ความรุนแรง ก็ต้องรับผิดตามกฎหมายต่ออาชญกรรมที่เกิดขึ้นด้วย
ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีกในสังคมไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบใดหรือระดับใดก็ตาม เรามีบทเรียนมามากพอแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นและในสังคมเราเอง ผมเชื่อด้วยว่าไม่มีใครอยากเห็นสื่อมวลชนไทยคนใดต้องตกอยู่ในฐานะอาชญากรอันเนื่องมาจากการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง
แต่หากสังคมไทยโชคร้ายพอ ที่มีสื่อมวลชนบางคน และสถานีวิทยุบางแห่งต้องการทำหน้าที่เป็น คลื่นเสียงของความเกลียดชัง สังคมไทยควรต้องช่วยกันวิพากษ์และหยุดยั้ง ก่อนที่เราจะเดินไปบนหนทางของโศกนาฎกรรม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment