Sunday, October 26, 2008

Tuesday, October 21, 2008

debate

open special
วิวาทะจาก ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’
Posted By Open On 12th October 2006 @ 11:22
- ประจักษ์ ก้องกีรติ -
ผมอ่านบทความของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร เรื่อง [1] “ธงชัย-ชัยวัฒน์ กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” แล้วมีประเด็นหลายประเด็นที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนด้วย ดังนี้
1. ข้อความที่ว่า “แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสภาวะวิสัยอยู่อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะเป็นฝ่ายรุก-บ่อนทำลายหรือสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้หรือสยบกระแสต่อต้านตน รัฐบาลมีหน้าที่เป็นฝ่ายตั้งรับหรือถอยต่างหาก”
ข้อความข้างต้นนั้นถูกต้องอย่างแน่แท้ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสภาวะวิสัยหรือ guiding principle ในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการใช้กำลังอำนาจของคณะทหารนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขาดความชอบธรรม ยิ่งกว่านั้น นอกจากรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ประชาชนดังข้อความข้างต้นเสนอ ประชาชนเองก็ไม่มีสิทธิและไม่ควรเลือกยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมต่อการรัฐประหารด้วยเช่นกัน
การรัฐประหารนั้นผิดทั้งทางการเมืองและจริยธรรม จากมุมมองของเสรีนิยมประชาธิปไตย
เหตุที่การรัฐประหารผิดและยอมรับไม่ได้ทางการเมือง เพราะการรัฐประหารคือการใช้กำลังอำนาจเข้ายุติสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ทำให้พื้นที่ทางการเมืองหดแคบลง ทำให้เราไม่อาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในความหมายของการโต้ตอบหรือใช้เหตุผลมาแลกเปลี่ยนโน้มน้าวหักล้างกันได้อย่างเสรี กลับไปสู่สภาพธรรมชาติที่ the might is right, and the might is law
จะมากจะน้อยเราก็ต้องยอมรับว่ากิจกรรมทางการเมืองยังดำเนินไปได้ภายใต้รัฐบาลทักษิณไม่ใช่หรือ กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถเคลื่อนไหว จัดชุมนุม ระดมคนมาได้เป็นหมื่นเป็นแสน แต่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ไม่มีหลักประกันอะไรทั้งสิ้นทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติที่เราจะชุมนุมโดยไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง วันนี้ไม่โดน แต่ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าจะไม่ ยิ่งถ้าหากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารได้แรงสนับสนุนจากประชาชนไปถึงจุดที่สั่นคลอนและเป็นอันตรายกับรัฐบาลรัฐประหาร
ปัญหาหรือโจทย์ที่เราควรคิดกันคือ เราจะจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เมื่อเสวยอำนาจแล้วแปรเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร โดยไม่ต้องใช้วิถีทางรัฐประหาร นี่เป็นโจทก์ของสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากมายนับไม่ถ้วนในโลกนี้ก็คอร์รัปชั่น หาผลประโยชน์ใส่ตัว และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่พลเมืองต้องต่อสู้ ต่อรองและหาทางกำกับควบคุมภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย เพราะหากเรายอมรับและให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร เราจะอยู่ด้วยกันต่อไปภายใต้กรอบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยได้อย่างไร รัฐธรรมนูญ (ในฐานะกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันหรือสัญญาประชาคมทางการเมือง) ที่จะเหนื่อยยากทุ่มเทร่างขึ้นมาใช้กันใหม่นั้นจะมีความหมายอะไร ในเมื่อมันถูกฉีกทิ้งได้ง่ายๆ แถมนักวิชาการและประชาชนส่วนมากก็ยอมรับมันได้ด้วย
หากเราเริ่มต้นจากการยอมรับรัฐประหาร (และการฉีกรัฐธรรมนูญ) ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่างขึ้นมาใช้กันนั้น จะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร จะมีหลักประกันอะไรว่ามันจะไม่ถูกฉีกอีกในอนาคตอันใกล้ รัฐธรรมนูญก็จะเป็นแค่ถุงกล้วยแขกเท่านั้น ใช้จนน้ำมันเยิ้มเมื่อไร ก็ฉีกทิ้ง เปลี่ยนถุงใหม่
ถ้าจะเอากันอย่างนั้น ผมเสนอให้ทำสองอย่าง
หนึ่ง น่าจะกำหนดไปเลยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ให้มีการทบทวนเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันทุก ๆ ห้าปี (อาจจะสั้นหรือนานกว่านั้นแล้วแต่จะตกลงกัน)
สอง หากไม่สามารถหาทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้กฎกติกาในระบอบประชาธิปไตย “ตามที่ระบุไว้ในมาตราอื่นๆ แล้ว” ให้กองทัพใช้ดุลยพินิจในการทำรัฐประหารได้ ตามประเพณีของประชาธิปไตยแบบไทยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรืออาจจะจัดให้มีการทำประชามติทั้งประเทศให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะให้กองทัพทำรัฐประหารหรือไม่ ถ้าบัญญัติให้การรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญได้เช่นนี้ เมื่อทำรัฐประหารคราวหน้าก็จะได้ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญกันอีก ไม่ต้องเสียเวลาร่างกันใหม่ ไหนๆ ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแล้ว ทำให้เป็นลายลักษณ์เสียเลยไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราทำได้ทั้งสองข้อนี้ คงจะเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่วิเศษไม่น้อยที่เราจะมอบเป็นของขวัญให้กับชุมชนชาวโลก และเราก็จะสามารถอวดอ้างได้อย่างเต็มปากว่าเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเราจริงๆ ไม่ซ้ำและไม่ลอกเลียนแบบใครทั้งสิ้น
2. สำหรับนักวิชาการที่ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร คำถามคือ อะไรคือฐานของความชอบธรรมของการขึ้นสู่อำนาจด้วยการใช้กำลัง? ผมอยากให้นักวิชาการที่พยายามให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารพูดออกมาให้ชัดๆ ผมยอมรับได้ถ้าจะ defend มันด้วยหลักการ “อเสรีนิยม”, อำนาจนิยม, ชนชั้นนำนิยม หรืออะไรก็ได้ บอกมาชัดๆ เลยว่า การรัฐประหารชอบธรรมเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ดี ยุติความขัดแย้งไม่ได้ ทำให้คนจนๆ มามีอำนาจตัดสินใจว่าใครจะเป็นรัฐบาลแทนที่จะเป็นชนชั้นนำผู้มีการศึกษา สังคมไทยไม่ต้องการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นฐานที่มาชอบความชอบธรรม ฯลฯ ผมว่ามันซื่อสัตย์และดีกว่าการที่จะมานั่งชี้แจงว่ามันเป็นประชาธิปไตยแบบพิเศษๆ แบบไทยๆ อย่างไร
3. การเปรียบเทียบระหว่างรัฐประหาร 19 กันยาฯ กับ 6 ตุลาฯ ในกรณี 6 ตุลาฯ นั้น ออกจะไม่ถูกต้องเที่ยงตรงนักที่จะบอกว่า คู่ขัดแย้ง คือ “ฝ่ายนิสิตนักศึกษา vs ฝ่ายขวาจัด อันได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ฯลฯ” ชวนให้เข้าใจไปว่า 6 ตุลาฯ เป็นการทะเลาะขัดแย้งกันของประชาชนสองฝ่าย อันที่จริงแล้ว กลไกรัฐที่ประกอบด้วย บางส่วนของกองทัพ ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง และชนชั้นนำตามประเพณีต่างหากที่เป็นคู่ขัดแย้งกับขบวนการนักศึกษา-กรรมกร-ชาวนา กลุ่มองค์กรฝ่ายขวาที่เอ่ยถึงนั้นถูกจัดตั้งและสนับสนุนโดยกลไกรัฐทั้งสิ้น กลไกรัฐใช้กลุ่มฝ่ายขวาเป็นเครื่องมือในการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการฝ่ายก้าวหน้า โดยที่รัฐไม่ต้องออกหน้าเอง และรัฐก็จงใจสร้างสถานการณ์ให้เกิดการปะทะ การเผชิญหน้า จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม และรัฐเองอ้างความชอบธรรมในการรัฐประหารในที่สุด การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาฯ จึงเป็นกรณีที่กลุ่มอำนาจประเพณีบวกกับกลไกความมั่นคงในรัฐส่วนหนึ่งร่วมมือกันทำลายขบวนการฝ่ายซ้าย ปลิดชีพรัฐบาลพลเรือนและฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ (ฉบับ 2517) ไปพร้อมๆ กัน
การอธิบายคู่ขัดแย้งในกรณี 19 กันยาฯ ก็ออกจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงถ้าจะบอกว่ามันคือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นความขัดแย้งคลาสสิคระหว่างขบวนการประชาชนผู้รักความเป็นธรรมกับรัฐบาลทรราช เพราะถ้าจะมีอะไรที่เป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหาร 6 ตุลาฯ มาสู่กรณีรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็คือ กลุ่มอำนาจเก่าหรือชนชั้นนำตามประเพณีกลุ่มเดิมกลับมาเป็นคู่ขัดแย้งหลักที่สำคัญอีกเหมือนเดิม และมีบทบาทสำคัญขั้นชี้ขาดในผลลัพธ์ทางการเมืองที่ปรากฎออกมาเหมือนที่เคยมีบทบาทสำคัญในกรณี 6 ตุลาฯ คู่ขัดแย้งจึงไม่ใช่แค่ “ฝ่ายพันธมิตรและประชาชนทั่วไปจำนวนหนึ่ง vs ฝ่ายรักษาการรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” แต่เป็นกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณี+กลไกรัฐบางส่วน (กองทัพที่จงรักภักดีต่อกลุ่มอำนาจเก่า)+ฝ่ายพันธมิตร VS รัฐบาลรักษาการทักษิณ+กลุ่มองค์ประชาชนจากชนบทจำนวนหนึ่ง (คาราวานคนจน) ต่างหาก
กล่าวเฉพาะกรณีพันธมิตร โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ได้กลายเป็นกองหน้าในการเคลื่อนไหวให้กับอุดมการณ์และผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำประเพณี ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ในแง่บทบาททางประวัติศาสตร์ พันธมิตรเล่นบทเดียวกับกลุ่มองค์กรฝ่ายขวา (แม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะแตกต่างกัน) ในการมีส่วนหนุนช่วยหรือกรุยทางให้กับการรัฐประหาร
ข้อต่างระหว่างสองเหตุการณ์คือ ในกรณี 6 ตุลาฯ ชนชั้นนำประเพณีและกลไกรัฐเลือดเย็นอย่างยิ่งในการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายและลงมือใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมด้วยตนเอง ที่น่าเศร้าคือความรุนแรงที่รัฐเองเป็นผู้ก่อ (ไม่ใช่รัฐบาลพลเรือนซึ่งตอนนั้นไม่มีอำนาจในการควบคุมกลไกรัฐฝ่ายความมั่นคง) ถูกใช้เป็นเหตุผลในการรัฐประหาร ด้วยการบอกว่ารัฐบาลพลเรือนไร้น้ำยา ไม่มีความสามารถในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ ส่วนกรณี 19 กันยาฯ ฝ่ายชนชั้นนำและกลไกรัฐอ้างความรุนแรงเป็นเหตุผลในการทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นกัน ต่างตรงที่ความรุนแรงที่อ้าง เป็นความรุนแรงที่ยังไม่เกิด และไม่แน่ว่าจะเกิด เป็นความรุนแรงในจินตนาการที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้กับการรัฐประหาร
น่าสนใจว่า ความรุนแรงถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารของกลุ่มชนชั้นนำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คำถามคือ เมื่อตอน 6 ตุลาฯ ถ้าฝ่ายชนชั้นนำประเพณีและทหารรักและห่วงใยชีวิตประชาชนจริง เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหดซึ่งดำเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง โดยไม่ทำรัฐประหาร (pre-emptive coup) ตัดหน้าแบบคราว 19 กันยาฯ คำตอบดูจะอยู่ที่ว่า ฝ่ายประชาชนที่จะถูกปราบปรามนั้นเป็นคู่ปฏิปักษ์กับกล่มชนชั้นนำประเพณีที่พวกเขาต้องการกวาดล้างอยู่แล้ว ในกรณี 19 กันยาฯ ความรุนแรงซึ่งไม่มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นถูกใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร ปิดโอกาสการเลือกตั้งที่จะมาถึง เปิดทางให้กับการจัดระเบียบอำนาจในหมู่ชนชั้นนำเสียใหม่ คำถามคือ การอ้างเหตุผลเช่นนี้ (การอ้างถึงสถานการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่) มาล้มรัฐบาลฟังขึ้นหรือ ควรถูกยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานในการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารหรือ? ประโยคที่ว่า “หรือแม้ว่ามีการตัดสินยุบพรรคแล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับ โดยปลุกกระแสประชาชนขึ้นมาให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคม จนต้องล้มกระดานอยู่ดี” นั้น ออกจะเป็นการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าไปมากอยู่หรือไม่? เข้าทำนองหาเหตุผลย้อนหลังมารองรับการรัฐประหารหรือไม่
ประเด็นปัญหาจึงไม่ใช่แค่เรื่องใครถอย ไม่ถอยเพียงเท่านั้น แต่อยู่ที่ฝ่ายประชาชนและนักวิชาการที่ต่อสู้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณนั้น ยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่นในการต่อสู้มากน้อยเพียงใด หรือยอมรับวิธีการใดก็ได้ในการกำจัดรัฐบาลที่ตนไม่ชอบใจ ถ้าเป็นอย่างหลัง ขบวนการประชาชนก็เป็นมาคิอาเวลลีที่ยอมให้เป้าหมายมารองรับให้ความชอบธรรมกับวิธีการ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “รัฐประหารเกิดขึ้นเพราะพันธมิตรไม่ยอมถอย” ใช่หรือไม่ พันธมิตรและคนที่สนับสนุนพันธมิตรคงไม่ต้องมานั่งแก้ตัวแก้ต่างในเรื่องนี้ เพราะปัญหาอยู่ที่ว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเรียกหาการรัฐประหาร (และวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญอื่นๆ) มาตั้งแต่ต้นต่างหาก และเมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ต่อต้านคัดค้าน แถมยังช่วยหาเหตุผลให้ความชอบธรรมเสียด้วย
ในสังคมการเมืองใดๆ จริยธรรมความรับผิดชอบของผู้นำนั้นสำคัญแน่นอน แต่จริยธรรมความรับผิดชอบของประชาชนพลเมืองที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน
Article printed from onopen.com - โอเพ่นออนไลน์: http://www.onopen.com
URL to article: http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1065
URLs in this post:[1] “ธงชัย-ชัยวัฒน์ กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” : http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1055

democracy and national identity in Thailand

Democracy and National Identity in Thailand
Kasian Tejapira

DEMOCRACY AND NATIONAL IDENTITY IN THAILAND. By Michael Kelly Connors. Copenhagen (Denmark): NTAS Press, 2007. xviii, 293 pp. US$27.00, paper. ISBN978-87-7694-002-7.

Scholars of Thai studies who lived through the unprecedented extreme and violent ideological polarization in Thai politics in the latter half of the 1970s--when right-wing mobs oftentimes sang blood-curdling anti-communist songs (such as "Nak phanedin" or Scum of the Earth) while shooting, throwing bombs at and lynching radical student activists, while the latter ducked down, cried out in anger and, in turn, burst into revolutionary songs (such as "Wirachon patiwat"or Revolutionary Heroes)--must have acutely felt the dearth of scholarly study of Thai ideological formation and cultural politics adequately address its powerful role and crucial importance in modern Thai history.
Now, thirty years, four coups, one mass uprising and eight constitutions later, the scholarly landscape of Thailand has changed dramatically. In the comparatively less polarized and violent, and more liberal and open, political environment of recent years, a new corpus of works has been written, initially by a handful of Western scholars, and then increasingly by their Thai colleagues and students, many of whom are former radical activists and intellectuals of the 1970s and subsequent generations who have taken an avid interest in Western Marxist and post-structuralist theories in cultural studies. Following in the footsteps of such pioneers as Benedict Anderson, Craig Reynolds, Andrew Turton and Thak Chaloemtiarana, works by these scholars have furnished Thai studies with path-breaking illumination on the ideological and cultural-political dimensions of Thai official nationalism, the monarchy, public intellectuals, Thainess and Chineseness, consumerism, etc., and have given rise to such fecund and generalizable conceptual innovations as cultural constitution (Nidhi Aeusrivongse), geo-body (Thongchai Winichakul), ethno-ideology (the present reviewer), network of discourse (Prajak Kongkirati) and royal hegemony (Chanida Chitbundid), to name a few.
Connors' Democracy and National Identify in Thailand (first published in 2003) both builds on and further develops the said scholarship. Making sensible, adroit and fruitful use of Antonio Gramsci's theory of hegemony and Michel Foucault's concept of governmentality (chapter 2), he offers an insightful and penetrating analytical, critical history of democracy in modern Thai politics as a series of overlapping and conflicting projects by various groups of state elites to build their respective political hegemony and inculcate varying rationalities of government into the people, in articulation with the established official national identity. Thus, after the People's Party's constitutional democracy of the pre-WWII period had turned into Field Marshal Sarit Thanarat's Thai-style democracy in the early 1960s (chapter 3), hence loosening democracy from the ideal hyper-Western frame of reference for further "Thaifying" metamorphoses, there emerged in rough succession; 1) the statist project of developmental but. ever-delayed liberalism, both to fight communism and fend off electoral democracy in the late 1960s and early 1970s, and then again in the 1980s (chapters 4 & 5); 2) the liberal project of liberalization and political reform in reaction to the right-wing extremist massacre and coup of 1976, and then again in the aftermath of the mass uprising against military rule and corrupt electocracy in 1992 (chapters 7 & 8); and 3) the communitarian project of participatory democratization and concrete interest-based political struggle in the late 1990s and especially after the 1997 economic meltdown (chapter 9). The picture of the Thai political landscape at the advent of the second millennium painted by the author is that of a budding elitist liberal democratic regime under the political reform constitution of 1997, based upon a mutually accommodating and beneficial if fundamentally divergent and uneasy coalition between the liberals and communitarians, held together by the monarchy as a nodal point (chapter 6 is devoted to the rise to dominance of the current monarch alongside the cultural-political construction of so-called Thai-style "Democracy with the King as Head of State"). The new edition of the book provides updated information and more extended analysis of the rise to power through parliamentary elections of the Thaksin Shinawatra government and the challenge it posed to the liberal-communitarian project under royal hegemony (chapter 10), and ends with a postscript on the military coup of 19 September 2006, which toppled both PM Thaksin and, again, democracy in Thailand.
Being no friend of coups and military dictatorship, Connors nonetheless maintains a principled critical stance on the neo-liberal, populist and authoritarian record of the popularly elected Thaksin government amidst the prevalent, rather uncritical post-coup fad for electoralism in Thailand. Furthermore, his conceptual coinage of democrasubjeclion, succinctly defined as "the subjection of people to imaginary forms of their own rule "(18,21), amounts to a radical and thorough critique of the potentially oppressive and exploitative, ideological and institutional work that democracy does to produce subject-citizens out of the raw material of people, and should be applicable to any people still haunted by democracy.
KASIAN TEJAPIRA
Thammasat University, Bangkok, Thailand
COPYRIGHT 2008 University of British ColumbiaCOPYRIGHT 2008 Gale, Cengage Learning

remembering the left

ชำระประวัติศาสตร์บาดแผล: บทเรียนจากอินโดนีเซีย
ประจักษ์ ก้องกีรติ
นิตยสารสารคดี

การเมืองของความทรงจำ
หากชีวิตมนุษย์แต่ละคนต่างมีช่วงตอนที่เจ็บปวด ยากแก่การจดจำจารึกไว้ในอัตชีวประวัติของตน
ชีวิตของสังคมก็เฉกเช่นเดียวกัน
คำถามคือ แล้วจะอยู่กับอดีตที่ยากแก่การจดจำนั้นอย่างไร?
ในระดับปัจเจกบุคคล แต่ละคนต้องผ่านการต่อสู้กับอดีตของตัวเอง คัดสรร ตัดตอน เลือกจำ เลือกลืมทั้งโดยสำนึกรู้ตัวบ้าง ไม่รู้บ้าง จนหลอมรวมเป็นความทรงจำในรูปลักษณ์ที่อย่างน้อยที่สุด อธิบายชีวิตที่ผ่านมาของตนได้ในแบบที่สามารถอยู่กับมันอย่างไม่เจ็บปวดเกินไปนัก พอให้ชีวิตดำเนินต่อไปข้างหน้าได้อย่างปรกติสุข
ในระดับสังคม สมาชิกแต่ละคนแต่ละกลุ่มในสังคมหนึ่งๆ ต่างก็เข้ามาต่อสู้กันในพื้นที่สาธารณะ เพื่อสถาปนาเรื่องราวในสำนวนของตนให้เป็นความทรงจำของสังคม โดยธรรมชาติแล้วไม่มีใครชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการต่อสู้นี้ แต่ละสำนวนได้ครอบครองพื้นที่มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามสัดส่วนความสัมพันธ์ทางอำนาจ แม้แต่กลุ่มที่ด้อยอำนาจที่สุดก็อาจรักษาและสืบทอดความทรงจำนั้นไว้เป็นส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่มมิให้สูญหาย รอวันที่สถานการณ์ทางสังคมการเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจแปรเปลี่ยนไป ก็อาจจะรื้อฟื้นความทรงจำของตนขึ้นมาเบียดขับแย่งชิงพื้นที่กระทั่งแทนที่ความทรงจำเดิมที่ครอบงำอยู่ได้
กระบวนการนี้ดำเนินอยู่ตลอดเวลาในชีวิตของทุกสังคม แม้จะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเรื่องราวครึกโครม สะดุดตา แต่ก็ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว เป็นกระบวนการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ไม่จบสิ้นกันง่ายๆ ผู้ชนะในวันนี้อาจเพลี่ยงพล้ำในวันถัดไป
ในสังคมไทย เราเพิ่งได้เห็นตัวอย่างของสงครามความทรงจำจากหนังอิงประวัติศาสตร์สองเรื่อง – “สุริโยทัย” และ “14 ตุลา สงครามประชาชน”
ในกรณีของเรื่องหลัง แม้จะทำรายได้เทียบไม่ติดกับเรื่องแรก แต่ในการกระตุ้นให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วดูจะชนะเรื่องแรกขาดลอย การถกเถียงที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นต่อหนังเรื่อง “14 ตุลา สงครามประชาชน” ก็คือฉากของสงครามความทรงจำอีกยกหนึ่งเกี่ยวกับอดีตที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากและความขัดแย้งที่สุดช่วงหนึ่งของสังคมไทย ไล่ตั้งแต่ 14 ตุลา, 6 ตุลา และสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)กับรัฐไทย
การถกเถียงในยกนี้ เป็นไปอย่างรุนแรงในหมู่คนที่เคยร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาก่อน มากกว่าที่จะถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่เคยอยู่ตรงกันข้าม สะท้อนให้เห็นความยุ่งยากและซับซ้อนของการเขียนประวัติศาสตร์หรือเสนอความทรงจำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อยุคสมัยดังกล่าว ว่าไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างสองฝักสองฝ่าย ระหว่างรัฐกับนักศึกษาประชาชน หรือฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ฯลฯ อย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น เพราะแม้แต่คนที่เคยอยู่ร่วมใน “ขบวนการ” หรือ อุดมการณ์เดียวกันก็เห็นต่างกันอย่างรุนแรง เป็นอุทธาหรณ์ชวนให้คิดว่า
คนที่เคยมีชีวิตร่วมกันในอดีต อาจจะไม่มี “อดีต” ร่วมกันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ใช่แต่สังคมไทยเท่านั้นที่มีปัญหาในการอยู่กับอดีตของตนอย่างไม่ราบรื่น เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน (และอาจะรุนแรงกว่าเมื่อมองในบางแง่มุม) เป็นปัญหาที่คล้ายกัน คือ จะอยู่กับอดีตของตนอย่างไร? โดยเฉพาะอดีตที่สังคมเคยขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทางอุดมการณ์ ในบริบทของไทยและอินโดนีเซียก็คือ ความเป็นจริงที่ว่าสมาชิกจำนวนหนึ่งของสังคมเคยเป็น “ซ้าย” หรือ ยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยม

ความทรงจำเรื่อง “ฝ่ายซ้าย” ในอินโดนีเซีย
ความหมายและนัยสำคัญของการเป็น “ซ้าย” ในการเมืองวัฒนธรรมอินโดนีเซียนั้นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับผู้คนโดยทั่วไปมาก เพราะมันเป็นอุดมการณ์ความเชื่อที่ถูกประกาศให้ผิดกฏหมายอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่คำสั่งของสภาที่ปรึกษาประชาชนของอินโดนีเซีย (People's Consultative Assembly) ในปี 2509 ในสมัยรัฐบาลซูฮาร์โต ที่ห้ามไม่ให้มีการตั้งพรรคการเมืองหรือเผยแพร่ความคิดลัทธิสังคมนิยมมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์โดยเด็ดขาด ตลอดสมัยแห่งการปกครองอันยาวนานของซูฮาร์โต บุคคลที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังรวมกลุ่มเผยแพร่ความคิดดังกล่าวล้วนประสบชะตากรรมอันเลวร้าย ตั้งแต่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน จนกระทั่งถูกสังหารชีวิต จนก่อให้เกิดความเข็ดขยาดแก่ประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การกดปราบ กำจัด และกระหน่ำโจมตีด้วยมาตรการที่เข้มงวดและโหดร้ายต่อฝ่ายซ้ายของรัฐบาล ก่อให้เกิดผลประการหนึ่งซึ่งรัฐอาจจะไม่ได้คาดคิดหรือปรารถนา คือ ทำให้การเป็นซ้ายพัฒนาไปสู่อีกรูปลักษณ์ที่มีความหมายพิเศษจำเพาะ กล่าวคือ มันมิได้มีฐานะเป็นเพียงอุดมการณ์ความเชื่อทางระบบการเมืองเศรษฐกิจแบบใดแบบหนึ่งตามคำนิยามเท่านั้น หากได้กลายเป็นเครื่องหมายของความกล้าหาญในหมู่คนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมือง สำหรับพวกเขา ความต้องห้ามของอุดมการณ์มาร์กซิสม์กลับกลายเป็นความลึกลับชวนให้ค้นหา

ความลึกลับชวนค้นหา
กล่าวโดยตลกร้ายแล้ว ความลึกลับของความคิดมาร์กซิสม์นั้น เป็นผลมาจากการสั่งห้ามของรัฐนั่นเอง การศึกษาหาข้อมูลความรู้ต่างๆเกี่ยวกับลัทธิอุดมการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำกันใต้ดินและดำเนินไปอย่างลึกลับซ่อนเร้น เล็ดลอดมาเป็นเสียงกระซิบกระซาบถึงหูของคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง ยิ่งการห้ามมิให้มีการจำหน่ายเผยแพร่หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้มันมีสถานะไม่ต่างจากหนังสือโป๊ไปภายในเวลาอันรวดเร็ว คือ มีสถานะต้องห้ามแต่ก็พอหาได้ในตลาดมืดหรือแหล่งลึกลับ และด้วยความลึกลับ ต้องห้าม หายากก็ยิ่งทำให้มีเสน่ห์เย้ายวนดึงดูดเยาวชนที่ตื่นตัวสนใจใคร่รู้ คนหนุ่มสาวอินโดนีเซียเที่ยวเสาะแสวงหาหนังสือ”ซ้าย” อย่างหิวกระหาย ใครบังเอิญได้ต้นฉบับมาก็ถ่ายเอกสารทำสำเนาเวียนแจกกันอ่านในหมู่เพื่อนฝูงคอเดียวกัน ตั้งเป็นกลุ่มศึกษาลับๆ จนในที่สุดบางคนได้พัฒนาตนเองกลายเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆพิมพ์งานลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ขายในเวลาต่อมาเมื่อเสรีภาพเปิดออกหลังการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลซูฮาร์โตในปี 2541 ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์ Teplok (ชื่อสำนักพิมพ์มาจากชื่อตะเกียงชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับจุดในห้องศึกษาปิดลับของพวกเขา) ที่ตีพิมพ์งานขนาดยักษ์ของเรื่อง Das Kapital ของ Karl Marx ออกจำหน่าย
มีผู้ศึกษาว่าไม่ถึง 1 ปีหลังจากปี 2542 มีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดสังคมนิยมพิมพ์ออกมาถึง 40 กว่าเรื่อง เช่น หนังสือแปลงานเกี่ยวกับคาร์ล มาร์กซ์ เช กูวารา หรืองานของอดีตปัญญาชนฝ่ายซ้ายอินโดนีเซียสมัยปลายยุคอาณานิคมอย่างตัน มาลากา(Tan Malaka) ซึ่งชื่อของเขาไม่เคยปรากฏให้ได้ยินในที่สาธารณะเลยตลอดเวลาหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โต หนังสือเชิงแนะนำความคิดมาร์กซิสม์เบื้องต้นบางเล่มขายได้ถึง 20,000 กว่าฉบับภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี จนต้องพิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้ง ยังมีสำนักพิมพ์ (ซึ่งโดยส่วนใหญ่บริหารโดยคนหนุ่ม)ถึงอย่างน้อย 7 แห่งที่ผลิตหนังสือ จุลสาร วารสารในแนวนี้ออกมาอย่างแข็งขัน อาทิเช่น วารสาร Majalah Kerja Budaya, Kiri, Kritik ฯลฯ ชวนให้นึกถึงปรากฏการณ์เดียวกับที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลัง “การปฏิวัติตุลาคม 2516” ที่นิสิตนักศึกษาพากันตั้งสำนักพิมพ์ผลิตงานวรรณกรรมและทฤษฎีการเมืองมาร์กซิสม์- เหมาอิสม์ออกมาท่วมท้นตลาดหนังสือ
การตื่นตัวต่อกระแสความคิดทางซ้าย มิได้จำกัดอยู่แค่เพียงแวดวงหนังสือและวรรณกรรม หากลุกลามมายังวงการศิลปะด้วย เกิดกลุ่มที่ผลิตงานในแนวนี้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงปี 2540 เช่น Apotik Komik (Cartoon Pharmacy) ซึ่งมุ่งที่จะใช้งานศิลปะถ่ายทอดให้คนตระหนักถึงปัญหาสังคม งานของกลุ่มนี้มักจะวาดภาพร่างกายมนุษย์ในสภาพที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและโกรธแค้นในสไตล์เหนือจริงภายใต้ฉากหลังที่ระบายด้วยสีพื้นเรียบง่าย สื่อถึงความเป็นจริงอันทารุณโหดร้ายในยุคซูฮาร์โต
สำหรับคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ความหมายของการเป็นซ้ายมีมากกว่าการคัดค้านทางการเมืองในรูปแบบที่ฝ่ายซ้ายในอดีตเคยกระทำ หากมันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์และเป็นการเมืองของความทรงจำที่คนหนุ่มสาวคับเขี่ยวกับรัฐบาลเผด็จการที่ต้องการกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นคอมมิวนิสต์และโยนความผิดบาปทั้งหลายในอดีตให้แก่คอมมิวนิสต์ พวกเขาเลือกเอาอัตลักษณ์ความเป็นซ้ายมาสวมใส่และพลิกฟื้นความทรงจำใหม่ต่อมัน การต่อสู้นี้จึงไม่ได้ดำเนินไปในรูปแบบของการชุมนุมประท้วงอย่างเปิดเผย หากดำเนินผ่านรูปแบบเชิงสัญลักษณ์อันหลากหลาย อาทิเช่น
-- รัฐบาลเผด็จการอินโดนีเซียใช้สื่อภาพยนตร์อย่างแข็งขันเพื่อกล่อมเกลาประชาชนให้จำอดีตในแบบที่ตนต้องการ ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกๆปีนับตั้งแต่ปี 2524 คนหนุ่มสาวอินโดนีเซียถูกบังคับให้ต้องดูภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเรื่อง “การทรยศของขบวนการ 30 กันยายน-พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย” (Pengkhianatan G30S-PKI) ซึ่งวาดภาพพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI)ให้เป็นผู้ร้าย เป็นฆาตกรกระหายเลือดผู้ลงมือสังหารนายพลของกองทัพอย่างเลือดเย็นจนเป็นเหตุให้ซูฮาร์โตต้องทำการรัฐประหารเข้ามาเพื่อ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ของประเทศ นอกจากฉายตามโรงภาพยนตร์แล้ว หนังเรื่องนี้ยังออกอากาศทางโทรทัศน์ในช่วงเวลายอดนิยมด้วย คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งก็ใช้วิธีประท้วงเงียบโดยการไม่ยอมไปดูหนังเรื่องนี้
-- ในขณะที่ตำราเรียนเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ฉบับ “ชาตินิยมทางการ” ที่เชิดชูบทบาทของซูฮาร์โตและกองทัพ โดยไม่เอ่ยถึงสามัญชนและบทบาทในด้านบวกของปัญญาชนนักเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์ และยังบิดเบือนความจริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ เช่น อธิบายการเข้าไป “ยึด” และ “ผนวก” ติมอร์ตะวันออกด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรงว่าเป็นการ “ขอ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียด้วยความสัมครใจเต็มใจของฝ่ายติมอร์เอง ฯลฯ[1] คนหนุ่มสาวก็ประท้วงไม่อ่านตำราเรียนเหล่านี้ และหันไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฉบับไม่เป็นทางการผ่านการแอบลักลอบอ่านงานต้องห้ามที่เขียนขึ้นระหว่างถูกกักขังอยู่บนเกาะบูรูของปราโมทยา อนันต์ ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) นักโทษการเมืองและนักเขียนผู้เป็นศัตรูคนสำคัญของรัฐบาลอย่างกระหายใครรู้[2] นอกจากนี้ในการจัดประชุมปิดลับหลายครั้ง พวกเขาก็ได้เชื้อเชิญอดีตนักโทษการเมืองที่เคยเป็นสมาชิกหรือมีสัมพันธ์กับพรรค PKI มาร่วมพบปะพูดคุยด้วย
-- จงใจแต่งกายโดยอิงแอบสัญลักษณ์ที่หวนให้ระลึกถึงฝ่ายซ้ายในสมัยที่เฟื่องฟูเมื่อปลายทศวรรษ 2500
แม้ความลึกลับของอดีตที่ถูกกดขี่ของฝ่ายซ้ายจะชวนให้คนหนุ่มสาวหลงใหลต่อความคิดอุดมการณ์สังคมนิยม แต่ “ซ้ายใหม่” ในอินโดนีเซียก็ไม่ต้องการที่จะย่ำเท้าตาม “ซ้ายเก่า” ไปเสียทุกเรื่อง พวกเขาพยายามแสวงหาเส้นขอบฟ้าแห่งพรมแดนความคิดใหม่ที่จะมาตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตของประเทศในปัจจุบัน

โรคหวาดกลัวคอมมิวนิสต์
ถึงแม้ว่าจะเกิดการรื้อฟื้นให้ความหมายใหม่ต่ออุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในช่วงท้ายของรัฐบาลซูฮาร์โต แต่ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่จางหายไปจากสังคมอินโดนีเซียในชั่วข้ามคืน ตรงกันข้ามมันยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนอินโดนีเซียอย่างลึกซึ้ง แม้จะหมดยุคของรัฐบาลเผด็จการไปแล้วก็ตามที
อดีตประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นคนบัญญัติศัพท์อินโดนีเซียคำว่า Komunistofobia (โรคกลัวคอมมิวนิสต์)ขึ้นมาในทศวรรษ 2500 เพื่อใช้วิจารณ์กลุ่มและพรรคการเมืองทั้งหลายที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ รังเกลียดเดียดฉันท์พรรค PKI และปฏิเสธความพยายามของเขาที่จะหลอมรวมให้เกิด “แนวร่วม” กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากซูการ์โนหลุดจากวงโคจรอำนาจไปในปี 2509 โรคกลัวคอมมิวนิสต์ก็แพร่ระบาดขึ้นสู่จุดสุดยอดในภาษาและปฏิบัติการทางการเมืองในยุคระเบียบใหม่ (New Order)ของซูฮาร์โต
เริ่มจากการสังหารหมู่คนที่ถูกสงสัยว่าเป็นสมาชิกของพรรค PKI ไปราว 500,000 คนในระหว่างปี 2508- 2509 อันเป็นผลจากการโหมโฆษณาปลุกระดมสร้างความเกลียดชังต่อคอมมิวนิสต์โดยเครื่องมือของรัฐบาล ผลจากโพลที่ทำการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้โดยนิตยสาร Tempo[3] ก็ยังชี้ชัดถึงอาการตกค้างของโรคนี้อย่างชัดเจน เด็กนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 คนจากโรงเรียนใน 3 เมืองใหญ่ มีถึง 57% ที่ตอบว่าไม่ควรอนุญาติให้มีการจัดการเรียนการสอนใดๆอันเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์แก่นักเรียน นอกจากนั้น 60% คัดค้านการที่จะเปิดให้มีการจำหน่ายหรือเผยแพร่หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ 97% ของนักเรียนได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2508(เหตุการณ์ที่มีการจับกุมและสังหารผู้นำกองทัพ) จากครูและตำราเรียน และ 80% เชื่อว่าเนื้อหาของเหตุการณ์ที่บรรยายในหนังของรัฐบาลเรื่อง Pengkhianatan G30S-PKI ถูกต้องเที่ยงตรงทุกประการ
เมื่อเร็วๆนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2544 กลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นานและนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจซูฮาร์โตและกองทัพ ก็ได้นำหนังสือที่พวกเขาพิจารณาว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหา “ซ้าย” มาเผาในที่สาธารณะ และยังได้ขู่ที่จะเข้าบุกยึดร้านหนังสือที่ขายหนังสือประเภทนี้ด้วย จนร้านหนังสือต้องพากันโละหนังสือของปราโมทยาและนักเขียนก้าวหน้าคนอื่นๆออกจากชั้นเพื่อความปลอดภัย
การคงอยู่ของความทรงจำเชิงลบต่อฝ่าย “ซ้าย” เช่นนี้นับเป็นอุปสรรคในความพยายามที่จะก่อรูประบอบประชาธิปไตยขึ้นในอินโดนีเซีย เพราะที่จริงแล้วอดีตที่เป็นบาดแผลสามารถมีคุณูปการในการเป็นบททดสอบให้ชาติได้ใช้สติปัญญาคิดค้นสร้างสรรค์กลวิธีและมาตรการที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในการแก้ไขความขัดแย้ง และยังเป็นการสะสมทุนทางสังคมที่จะเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน ที่จะสร้างให้เกิดความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในสังคมอันจะนำไปสู่การจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ แต่น่าเสียดายที่มีสัญญาณชี้ให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวในอินโดนีเซียอาจจะประสบกับความล้มเหลว

ปราโมทยากับข้อเสนอเรื่องการปรองดองของวาฮิด
อดีตประธานาธิบดีอับดุลระห์มาน วาฮิดเป็นผู้นำที่มีความพยายามจะสร้างความปรองดองไกล่เกลี่ยแก่คนในชาติผ่านการชำระสะสางอดีตที่เป็นบาดแผล ไม่นานหลังจากที่เขาขึ้นมามีอำนาจ เขาได้กล่าวขอโทษในนามขององค์กรมุสลิมที่เขาเป็นผู้นำ-Nahdatul Ulama- สำหรับความรุนแรงที่องค์กรนี้เคยมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในช่วงปี 2508-09 เขายังได้ตอบรับข้อเสนอจากบรรดาอดีตนักโทษการเมืองคอมมิวนิสต์ที่เสนอให้ยกเลิกคำสั่งของสภาที่ปรึกษาประชาชนของอินโดนีเซีย(People's Consultative Assembly) ในปี 2509 ที่ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคผิดกฎหมายและห้ามการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยม และที่สำคัญเขาเสนอว่าจะให้มีการรื้อฟื้นคดีที่มีการกล่าวหาว่าพรรค PKI มีส่วนพัวพันในการสังหารนายพลของกองทัพขึ้นสู่ศาล เพื่อสะสางข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กระจ่าง
ผลตอบรับที่เขาได้คือ คำวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทุกพรรคการเมืองในรัฐสภา รวมทั้งกลุ่มมุสลิมในประเทศทั้งหลาย ในเดือนพฤษภาคม 2543 รัฐสภาได้ลงมติปฏิเสธข้อเสนอของวาฮิดที่จะยกเลิกคำสั่งของสภาที่ปรึกษาประชาชนของอินโดนีเซียปี 2509 นับเป็นการถูกโดดเดี่ยวจากรัฐสภาอย่างแท้จริง เสียงที่สนับสนุนมีแค่เพียงพรรค National Awakening Party (PKB) ที่เขาเป็นหัวหน้า ปัญญาชนและนักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
ปราโมทยาก็เป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านความคิดเรื่องการปรองดองไกล่เกลี่ยอดีตของวาฮิด เขาไม่ยอมรับคำขอโทษและคิดว่าวาฮิดไม่จริงใจ ปราโมทยากล่าวว่าเขาไม่ต้องการความสมานฉันท์หากต้องการให้นำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฏหมาย ดังที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า
“คนที่ทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายยังคงเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ในขณะที่ผู้กระทำผิดมิได้จดจำอะไรเลย การปรองดองไกล่เกลี่ยจึงเป็นเรื่องไร้สาระ… มันเป็นแค่คำพูดของคนที่อยู่ในอำนาจ” (Forum Keadilan, 26 มีนาคม 2543)
อย่างไรก็ดีเพื่อนพ้องที่เป็นอดีตนักโทษด้วยกันแม้แต่เพื่อนที่สนิทที่สุดก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับเขา บางคนวิจารณ์ว่าความคิดของปราโมทยาสุดโต่งรุนแรงบุ่มบ่ามเกินไป อาจจะกลายไปเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มการเมืองอื่นแพร่กระจายความหวาดกลัวต่อคอมมิวนิสต์มากขึ้น เป็นการทำลายพันธมิตรและสร้างความเข้มแข็งให้ปฏิปักษ์โดยใช่เหตุ ตรงกันข้ามกับปราโมทยา อดีตนักโทษการเมืองส่วนใหญ่เชื่อในความจริงใจของวาฮิด และคิดว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยและชำระสะสางอดีตไม่ถึงกับไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยประเด็นปัญหาที่สำคัญในอดีตก็จะได้ถูกนำมาขบคิดใคร่ครวญถกเถียงกันอย่างเปิดเผยโปร่งใสเสียทีแทนที่จะซุกเอาไว้ใต้พรมเช่นในอดีต แต่เกือบทุกคนก็ตระหนักดีว่ามันเป็นกระบวนการที่ยากลำบากและต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามมากมาย ตั้งแต่ระบบยุติธรรมของอินโดนีเซียที่ง่อนแง่นขาดประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถืออันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคเผด็จการ ความซับซ้อนและใหญ่โตของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2508-2509 ทำให้คนที่เกี่ยวข้องและควรมีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมครั้งนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลจนยากแก่การชำระสะสาง รวมทั้งประเด็นอันอ่อนไหวเกี่ยวกับความเป็น “เหยื่อ” ของเหตุการณ์
อุปสรรคอีกประการหนึ่งในการสร้างกระบวนการชำระสะสางอดีตอันเป็นบาดแผลก็คือ ประเทศอินโดนีเซียขาดกลุ่มผู้นำที่จะผนึกกำลังกันอย่างแข็งขันและมีเจตจำนงมุ่งมั่นในการผลักดันกระบวนการดังกล่าวแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ แม้ว่าในช่วงที่การถกเถียงเรื่องนี้กำลังดำเนินไปอย่างร้อนแรง ได้มีความพยายามของคณะทำงานชุดหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาร่วมด้วยที่จะจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง” เช่นที่มีการจัดตั้งขึ้นในแอฟริกาใต้ภายใต้การริเริ่มผลักดันของประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป ประกอบกับความสนับสนุนทางการเมืองต่อวาฮิดเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง และเกิดปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์และปาปัว ก็ทำให้กระบวนการดังกล่าวถูกละเลยไปในที่สุด ประธานาธิบดีเมกาวตี ซูการ์โน บุตรี ที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจากวาอิดก็ไม่ได้แสดงสัญญาณใดๆว่าได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว
สังคมอินโดนีเซียจึงยังคงมีชีวิตอยู่กับบาดแผลจากอดีตในแบบที่มันเคยอยู่มาแล้วร่วม 3 ทศวรรษ คาราคาซังและอิหลักอิเหลื่อต่อไป
แล้วสังคมไทยล่ะ? เราจะมีโอกาสได้เห็นกระบวนการชำระ “บาดแผล” ในอดีตอย่างร่วมแรงร่วมใจจากสมาชิกในสังคมหรือไม่?
อาจจะเร็วเกินไปที่จะตอบ
แต่หากหวังการริเริ่มผลักดันจากรัฐ สุนทรพจน์ต่อไปนี้อาจบอกอะไรเราได้บ้าง

“ผมอยากเห็นข้อขัดแย้งทั้งหลายในสังคมไทยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยุติลง เพราะประเทศไทยไม่มีเวลาที่จะมาทะเลาะในเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้… ผมอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า เหตุการณ์ในวันนี้ไม่อยากให้มองว่าใครผิดใครถูก อยากให้มองว่าทุกคนต่างมีหน้าที่ แต่ความเข้าใจอาจจะขัดแย้งหรือต่างกัน… ต่อไปนี้ ไม่ใช่ว่าทุก 14 ตุลา เราจะต้องมานั่งเถียงกันว่าประวัติศาสตร์ถูกหรือไม่ถูก เราจะช่วยเหลือคนพิการหรือไม่ช่วย จากนี้ไปจนถึง 14 ตุลาปีหน้า เหตุการณ์เหล่านี้ต้องยุติ วันนี้ตั้งใจจะมาบอกกับพี่น้องว่า ‘อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก’ เพราะสังคมไทยมีเรื่องที่ต้องแก้ไขมากมาย เรื่องทั้งหมดที่ท่านกำลังบ่นกันอยู่นี้ ขอให้เลิก”[4]





เอกสารประกอบการเขียน
- Goenawan Mohamad, “Remembering the Left”, in Grayson lloyd (ed.) Indonesia Today: Challenges of History (Singapore: Institute of South Asian Studies, 2001), p.126-135.
- Gerry van Klinken, “The Battle for History after Suharto: Beyond Sacred Dates, Great Men, and Legal Milestones” in Critical Asian Studies 33:3 (2001), p.323-350.
- Ariel Heryanto, “Indonesian middle-class opposition in the 1990s” in Garry Rodan (ed.) Political Opposition in Industrialing Asia (New York: Routledge, 1996), p.241-271.
- Vaudine England, “Book-burning raids spark backlash” South China Morning Post May 19, 2001.
- รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ “ตลาดหนังสือหลังเดือนตุลาคม 2516” ถนนหนังสือ (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543), น. 16-27.
- “สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว ณ บริเวณอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย
วันที่ 14 ตุลาคม 2544”

[1] ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลซูฮาร์โต ครูประวัติศาสตร์จำนวนมากทำเรื่องถึงรัฐบาลขอย้ายออกจากติมอร์รวมทั้งเกาะอื่นๆ เพราะเกรงจะได้รับอันตรายจากบรรดาผู้ปกครองที่โกรธแค้นว่าพวกเขาสอนแต่สิ่งโกหกและบิดเบือนให้เยาวชน ในเดือนตุลาคม 2541 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลประธานาธิบดีฮาบีบีมีมีคำสั่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้เนื้อหามี “ความสมดุล” มากขึ้น เนื้อหาที่ถูกทบทวนมีอยู่ทั้งหมด 5 เหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ การผนวกติมอร์ตะวันออกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในปี 2519.
[2] นวนิยายจตุรภาคชุด The Buru Quartet ของปราโมทยาอันประกอบด้วย Bumi manusia, Jelak langkah, Anak semua bangsa และ Rumah kaca ตีพิมพ์ครั้งแรกในจาร์กาตาในทศวรรษ 2520 แต่ถูกแบนในเวลาอันรวดเร็ว จนต้องนำไปตีพิมพ์ซ้ำในเนเธอร์แลนด์และมาเลเซีย ต่อเมื่อภายหลังการสิ้นสุดของรัฐบาลซูฮาร์โต งานชุดนี้รวมทั้งงานเก่าอื่นๆของเขาได้กลายเป็นงาน best seller ที่สำนักพิมพ์ต้องเร่งผลิตแข่งให้ทันกับความต้องการของผู้อ่าน
[3] นิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถืออย่างสูง มียอดจำหน่ายถึง 200,000 ฉบับต่อเล่ม ถูกรัฐบาลซูฮาร์โตเพิกถอนใบอนุญาตในปี 2537 สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจนลุกลามเป็นการประท้วงใหญ่ ขณะนี้กลับมาออกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งจัดทำฉบับ online ด้วย
[4] “สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว ณ บริเวณอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย
วันที่ 14 ตุลาคม 2544” ถอดเทปแบบคำต่อคำใน section “คำปราศรัยและบทความ”

review commodifying marxism

การเมืองวัฒนธรรมเรื่องลัทธิมาร์กซิสต์-ความเป็นไทย-ตลาดทุนนิยม ใน
Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958


“นี่เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนบทความหลายชิ้นของนักวิจัย… แต่มันเหมือนนวนิยาย ทำให้เราอยากจะหัวเราะ หรือบางครั้งก็อยากจะร้องไห้”
เบเนดิค แอนเดอสัน[1]

ภูมิประเทศทางปัญญาของหนังสือ
ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอสัน ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในการศึกษาภูมิภาคอุษาคเนย์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) เจ้าของผลงานวิชาการเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมอันลือลั่นเรื่อง Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเปรียบเทียบชะตากรรมและชีวิตทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายอินโดนีเซียกับฝ่ายซ้ายไทยยุคหลังขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลายในทั้งสองประเทศไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง[2] จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ หากใครสนใจขอให้ติดตามอ่านจากบทความดังกล่าว
เมื่อมองภาพตัดเปรียบเทียบระหว่างฝ่ายซ้ายหลังขบวนการคอมมิวนิสต์ในทั้งสองประเทศ เขาพบว่าแม้จะมีความแตกต่างกันหลายประการอันเนื่องมาจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และภูมิประเทศทางการเมืองวัฒนธรรมที่ผิดแผกแตกต่างกัน แต่ก็มีเส้นใยลึกลับบางประการที่เชื่อมโยงร้อยรัดนักคิดฝ่ายก้าวหน้าของทั้งสองประเทศให้มีคุณลักษณะร่วมกันทางปัญญาด้วย เบเนดิค แอนเดอสันพูดถึง- ชาตินิยม, ประวัติศาสตร์ และการพิมพ์
ในกรณีของนักคิดฝ่ายซ้ายไทย เมื่อโบกมือลาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ออกจากป่าคืนสู่เมือง ในแง่ชีวิตส่วนตัว, พวกเขามีโอกาสร่ำเรียนศึกษาต่อจนจบกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ตามมหาวิทยาลัย มิต้องเผชิญสภาพทุกข์ทรมานของการถูกคุมขัง เนรเทศ หรือลี้ภัยไปต่างแดนเช่นเดียวกับสหายร่วมอุดมการณ์ในอินโดนีเซีย ในทางความคิด, พวกเขาทุ่มเทเวลาและสติปัญญาทั้งหมดที่มีเพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาจึงพ่ายแพ้ทางการเมือง อะไรเป็นมูลฐานของความผิดพลาดล้มเหลว ในขณะเดียวกันอะไรที่ทำให้ศัตรูของพวกเขาถึงเข้มแข็งนัก
คำถามเหล่านี้นำพาพวกเขา “แลไปข้างหลัง” เพราะเชื่อว่าความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีมูลเหตุสำคัญมาจากการขาดความเข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถ่องแท้
สำหรับพวกเขาประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นกุญแจไขคำตอบ มิใช่เพื่อเข้าใจอดีตที่มิอาจหวนคืนเท่านั้น แต่เพื่อที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างรู้เท่าทันด้วย
เบเนดิค แอนเดอสันยกผลงาน 3 ชิ้นขึ้นมาเป็นตัวแทนเพื่อฉายให้เห็นภาพที่เขานำเสนอ งานทั้ง 3 ชิ้นเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย 3 คนที่เดินทางไปเรียนต่อยังต่างประเทศ (อเมริกาและออสเตรเลีย) ในช่วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยจบชีวิตทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว (และในระหว่างที่ร่ำเรียนอยู่ พวกเขาก็ทันเห็นสหภาพโซเวียตล่มสลายไปกับตา) ได้แก่ วิทยานิพนธ์ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล[3], เกษียร เตชะพีระ[4] และธงชัย วินิจจะกูล[5] และเพื่อความสมบูรณ์เราควรเพิ่มวิทยานิพนธ์อีกฉบับหนึ่งซึ่งออกมาทีหลังสุดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเข้าไปด้วย[6] ในขณะที่สองเล่มแรกเป็นวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ สองเล่มหลังเป็นวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ แต่ทั้งหมดล้วนใช้แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์เข้าสู่ปัญหา
ทั้ง 4 เล่มเป็นการไต่สวนศึกษาอดีตด้วยวิธีการ มุมมอง ข้อมูล และทัศนะใหม่ ก่อเกิดเป็นผลงานการค้นคว้าชั้นดี ละเอียดลออ แปลกแหวกแนวที่มีผลพลิกกลับมุมมองกระทั่งท้าทายความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนสิ้นสุดยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2500) ที่มีการศึกษากันมาก่อนหน้า
ในขณะที่เสกสรรค์และธงชัยพิจารณาไปที่กำเนิดและความเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยและความเป็นชาติไทยโดยดูผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และความรู้ทางภูมิศาสตร์ (แผนที่) ตามลำดับ สมศักดิ์กับเกษียรพิเคราะห์อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มุ่งศึกษาทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ศัตรูที่สำคัญและเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นลัทธิการเมืองที่พวกเขาเคยสมาทานจนถึงกับอุทิศชีวิตตัวเองเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุอุดมการณ์ดังกล่าวก่อนที่จะผิดหวังฝันสลายในเวลาต่อมา การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นการทำความเข้าใจ “ผี” ที่หลอกหลอนรัฐไทยและหลอกหลอนพวกเขาด้วยในเวลาเดียวกัน
ในบรรดางานทั้ง 4 ชิ้น งานของธงชัยถูกนำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรียบร้อยก่อนใครอื่น[7] จนเมื่อปีที่ผ่านมาเกษียร เตชะพีระ ปรับปรุงแก้ไขวิทยานิพนธ์ของเขาตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนาขนาด 390 หน้า ห่างจากระยะเวลาที่มันปรากฏตัวครั้งแรกในรูปวิทยานิพนธ์ถึง 9 ปีเต็ม[8]

เมื่อลัทธิมาร์กซิสต์สวมความเป็นไทย และวางขายในตลาดทุนนิยม
เกษียรแบ่งหนังสือของเขาออกเป็นทั้งหมด 9 บท กรอบทฤษฎีและมุมมองในการศึกษา ยังคงยืนตามที่เขานำเสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ แม้จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดงอกเงยเพิ่มพูนจากงานชิ้นอื่นที่ออกมาหลังจากวิทยานิพนธ์ของเขาซึ่งเขาก็ได้นำมาใช้ในการปรับปรุงงาน แต่มิได้ส่งผลกระทบต่อการตีความและข้อถกเถียงหลักที่เขาเสนอไว้
จุดเด่นและข้อต่างประการสำคัญของหนังสือเรื่อง Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 จากงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์โดยนักวิชาการไทยและต่างประเทศที่ผ่านมาทั้งหมดอยู่ที่กระบวนทัศน์ในการศึกษา ซึ่งผู้เขียนพลิกเปลี่ยนมุมมองทัศนะและใช้เครื่องมือในการศึกษาใหม่
เขาปฏิเสธแนวทางการศึกษาที่ถือทัศนะแอนตี้คอมมิวนิสต์เป็นที่ตั้ง อาศัยแต่เอกสารราชการ และอิงนโยบายรัฐบาลไปมองความเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ การศึกษาแนวนี้เชื่ออย่างสนิทใจล่วงหน้าไปแล้วว่าคอมมิวนิสต์คือความเป็นอื่น แปลกแยก เข้ากันไม่ได้กับความเป็นไทย และดังนั้นจึงไม่ควรและไม่อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ในขณะเดียวกันเขาก็ถอยห่างออกจากการศึกษาในเชิงทฤษฏีสังคมของบรรดามาร์กซิสต์ที่ถือเอาลัทธิมาร์กซ์เป็นสัจธรรมสากล สนใจแต่แง่มุมความถูก-ผิดทางทฤษฏีของการประยุกต์ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์มาใช้ในสังคมไทย จึงให้เหตุผลว่าที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ล้มเหลวพ่ายแพ้ทางการเมืองเพราะเข้าใจหรือใช้ทฤษฎีผิดพลาด โดยมองข้ามและไม่ตระหนักถึงปัญหาทางภาษาและวัฒนธรรมของการนำเข้าลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ซึ่งถือกำเนิดในต่างประเทศมาเผยแพร่ประยุกต์ใช้ในสังคมไทย
เกษียรปรับกระบวนทัศน์ใหม่เข้าไปมองประเด็นปัญหา โดยใช้การศึกษาในแนว “การเมืองวัฒนธรรม” (Cultural Politics) ซึ่งมิได้พิจารณาเน้นไปที่การต่อสู้ในเชิงองค์กรหรือขบวนการทางการเมืองหรือเน้นที่ความถูก/ผิดทางทฤษฎีของแนวคิด แต่ให้ความสำคัญกับการขับเคี่ยวต่อสู้ช่วงชิงนิยามคำและความหมายระหว่างกลุ่มฝ่ายต่างๆในสังคมการเมืองหนึ่งๆ เพื่อรองรับปฏิบัติการทางการเมืองและการครองอำนาจของตน มองในแง่นี้วาทกรรมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ซึ่งถูกนำเข้าข้ามวัฒนธรรมและภาษามาจากสังคมอื่นจึงมิอาจนำมาปลูกลงในเนื้อดินของสังคมไทยโดยสะดวกง่ายดายปลอดโล่งอุปสรรค มองในสายตานักการเมืองวัฒนธรรม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อัตวิสัยของปัญญาชนลัทธิมาร์กซิสต์ว่าเข้าใจทฤษฏีถูกหรือผิดแต่ด้านเดียว แต่เป็นเพราะวาทกรรมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ต้องมาเผชิญหน้าปะทะประสานกับวัฒนธรรมไทยที่ดำรงอยู่ก่อน ซึ่งได้ถูกปัญญาชนเจ้านายและ ขุนนางอนุรักษ์นิยมสร้างภูมิคุ้มกันเพาะเชื้อแอนตี้คอมมิวนิสต์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
นอกจากนั้น เกษียรยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ถูกนำเข้ามาในสังคมไทย และเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านตลาดสิ่งพิมพ์ ผลที่เกิดขึ้นคือ มันกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ตรรกของตลาดทุนนิยมเฉกเช่นเดียวกับสินค้าอื่น (อุปสงค์-อุปทาน-กลไกราคา) การนำลัทธิมาร์กซิสต์มาเผยแพร่โดยมุ่งหวังที่จะสร้างอิทธิพลต่อสาธารณชนไทยจึงต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ของตลาดทุนนิยมอีกด่านหนึ่งด้วย ประเด็นนี้นับว่าทั้งแปลกแหวกแนวและสร้างสรรค์ เนื่องจากไม่เคยมีงานศึกษาชิ้นอื่นพิจารณาถึงความสัมพันธ์นี้เลย
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์กับวัฒนธรรมไทยและตลาดทุนนิยมจึงเป็นหัวใจและปมปริศนาของหนังสือเล่มนี้

การนำเข้า ผลิตซ้ำ ตีความ เผยแพร่ และซื้อขายลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์
เขาเริ่มต้นบทที่ 2 “Lookjin Communist: The Bridgehead of SiameseCommunism”จากการพิจารณาตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการนำความคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย ซึ่งมิใช่บรรดานักเรียนนอกที่ไปร่ำเรียนในตะวันตกเหมือนดังประเทศเพื่อนบ้าน หากคือชาวจีนและเวียดนามอพยพที่เข้ามาในไทยเมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เพื่อเคลื่อนไหวกู้ชาติของตน คนเหล่านี้ (โฮจิมินห์เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง) เข้ามาเคลื่อนไหวทางความคิด นำเข้าหนังสือคอมมิวนิสต์ เปิดร้านหนังสือและสโมสร จัดทำหนังสือพิมพ์และใบปลิว ตั้งโรงเรียนเอกชน จัดตั้งองค์กรทางการเมือง ทั้งหมดนี้มุ่งไปยังชุมชนชาวจีนและเวียดนามอพยพเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญเป็นแกนในการเคลื่อนไหวและสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศไทยในเวลาต่อมาคือ บรรดาลูกจีนคอมมิวนิสต์ที่เกิดในไทย ในส่วนนี้เกษียรลำดับให้เห็นความเคลื่อนไหวของชาวคอมมิวนิสต์ในระยะแรกซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนพัวพันกับความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียและระดับสากล มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับที่จะเข้าใจความคลี่คลายต่อมา
ในขณะที่ความคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เดินทางมาจากทิศตะวันออก ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า
การแอนตี้คอมมิวนิสต์เดินทางมาจากทิศตะวันตกผ่านชนชั้นนำสยามที่กลับมาจากการไปร่ำเรียนในยุโรป โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับการเมืองวัฒนธรรมไทยที่เกษียรชี้ให้เห็นคือ การแอนตี้คอมมิวนิสต์นั้นเกิดขึ้นก่อนที่ความคิดคอมมิวนิสต์จะเข้ามาแพร่หลายในสังคมไทยเสียอีก เข้าทำนองวางหมากทางวัฒนธรรมดักสกัดความคิดที่จะมีอันตรายต่อชนชั้นนำล่วงหน้า รัชกาลที่ 6 อาศัยอัจฉริยภาพทางการประพันธ์โยงลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งกำลังเฟื่องฟูจากการปฏิวัติรัสเซียในพ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) เข้ากับความเชื่อทางศาสนาเรื่องอุตตระกุรุ และศาสนาพระศรีอารยเพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตามพระองค์ว่าคอมมิวนิสต์นั้นเป็นความคิดที่เพ้อฝัน ปฏิบัติจริงไม่ได้
บวกกับอุดมการณ์ชาติพันธุ์ว่าด้วย “ความเป็นไทย” (the ethno-ideology of Thainess) ซึ่งก่อตัวขึ้นมาจากการนิยามความเป็นไทยของชนชั้นนำสยาม ไม่ว่าจะเป็น “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) “ลักษณะไทย” (สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งเป็นคำนิยาม “ความเป็นไทย” ที่เน้นความจงรักภักดี เคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจ อดกลั้นประสานประโยชน์ ในแง่นี้ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงขัดแย้งกับ “ความเป็นไทย” โดยสิ้นเชิง
ชาวคอมมิวนิสต์จีน-เวียดนามอพยพที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามและลูกหลานของพวกเขาจึงถูกกีดกันและผลักไสออกจากความเป็นไทย พวกเขามิอาจเป็นไทยได้ในทางการเมืองวัฒนธรรมทั้งโดยเชื้อชาติและอุดมการณ์
ปัญหาก็คือ เพื่อที่จะบรรลุอุดมการณ์ทางการเมือง ชาวคอมมิวนิสต์มิอาจอาศัยกำลังของตนเพียงลำพัง ดังนั้นจึงต้องเชื่อมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เข้ากับคนไทยโดยตนเองทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ ก้าวข้าม “ความไม่เป็นไทย” ทางการเมืองวัฒนธรรม เพื่อสามารถดัดแปลงแปรเปลี่ยนลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากจีนให้กลายเป็นไทย
ประเด็นนี้เป็นเนื้อหาของบทที่ 3 “Institutions of Thaification: How the Lookjin Communists Turned Thai Patriots” ซึ่งเกษียรได้วิเคราะห์ให้เห็นอย่างพิสดารว่าลูกจีนคอมมิวนิสต์แม้จะมิอาจเปลี่ยนเชื้อชาติและไม่ยอมเปลี่ยนอุดมการณ์ แต่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองให้ก้าวข้ามความไม่ไทยอย่างไรในเชิงสังคมวิทยา-ภาษาศาสตร์ (socio-linguistic notion of Thainess) ตั้งแต่หัดเรียนเขียน-อ่าน-พูดภาษาไทย เปลี่ยนไปประกอบอาชีพที่คนไทยนิยมทำ (รับราชการ) และคบค้าสมาคมผูกสัมพันธ์กับคนไทย เขาอภิปรายถึงสถาบันหลักๆ 5 แห่งที่ช่วยให้ลูกจีนคอมมิวนิสต์เข้าไปเดินชุบตัวออกมากลายเป็นไทย ได้แก่ คุก โรงเรียน โรงงาน สหภาพแรงงาน และหนังสือพิมพ์ ส่วนที่น่าประทับใจที่สุดเห็นจะอยู่ตอนที่เขาบรรยายให้เห็นการสังสันทน์แลกเปลี่ยนทางปัญญาระหว่างนักโทษการเมืองต่างอุดมการณ์ในคุกบางขวาง ได้แก่นักโทษกบฏบวรเดชอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมกับนักโทษคอมมิวนิสต์ ฝ่ายหลังสอนภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีนให้ฝ่ายแรก ในขณะที่ฝ่ายแรกสอนภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และทักษะการใช้ภาษาไทยให้ฝ่ายหลัง แถมนักโทษคอมมิวนิสต์คนหนึ่งยังได้ชื่อสกุลภาษาไทยที่ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายกบฎบวรเดชตั้งให้ติดตัวออกมาจากคุกด้วย!!
ประเด็นที่สำคัญที่สุดในบทที่ 3 และน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องชาตินิยม คือ การที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าลูกจีนคอมมิวนิสต์ได้แปรชาตินิยมจีนของพวกเขากลายมาเป็นชาตินิยมไทยในเวลาเดียวกันได้อย่างไร สำหรับเขาจุดพลิกผันสำคัญอยู่ที่การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเดินทัพเข้ามายึดครองประเทศไทย เหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นให้เกิดจินตนาการทางการเมืองวัฒนธรรมเปรียบเทียบระหว่างการรุกรานของญี่ปุ่นในจีน (แผ่นดินบ้านเกิด) และไทย (แผ่นดินที่อยู่อาศัย) เกิดความรู้สึกว่ามีศัตรูร่วมกัน เปิดโอกาสทางประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกให้ลูกจีนคอมมิวนิสต์เล่นบทเป็นทั้งนักชาตินิยมจีนต่อต้านญี่ปุ่นและผู้รักชาติไทยต่อต้านญี่ปุ่นไปพร้อมๆกัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เขาโต้แย้งกับงานของเออิจิ มูราชิมานักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ศึกษาความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในเมืองไทยที่แม้จะให้ข้อมูลรายละเอียดดีเยี่ยม แต่มองไม่เห็นการกลายพันธุ์ของชาตินิยม กลับตีความการเคลื่อนไหวของลูกจีนคอมมิวนิสต์ระหว่างสงครามโลกทั้งหมดว่ามีเป้าหมายทางการเมืองเน้นไปที่ประเทศจีนเท่านั้น[9]
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 คอมมิวนิสต์เริ่มโผล่จากการเคลื่อนไหวใต้ดินขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองเปิดมากขึ้น แถมยังกลายเป็นองค์การทางการเมืองถูกกฏหมายเนื่องจากมีการยกเลิกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2489 อย่างไรก็ตามเกษียรชี้ว่ากระบวนการแปรลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นไทยเพิ่งจะบรรลุความสำเร็จแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
เพราะนอกจากสถานะความชอบธรรมทางกฎหมายแล้ว ภารกิจอีกครึ่งหนึ่งที่ต้องทำต่อคือ การแปรความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม, เชื้อชาตินิยม-ทหารนิยมให้มีเชื้อมูลของความเป็นซ้าย กล่าวโดยรูปธรรมคือ เขาหมายถึงการประกอบสร้างประวัติศาสตร์ไทย วาทกรรมทางการเมือง วรรณกรรม สัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น ”การจินตนาการชุมชนชาติไทยใหม่” (ดูหน้า 58)
บทที่ 4-7 เกษียรอภิปรายถึงกรรมวิธี กระบวนการผลิตวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมในรูปของสิ่งพิมพ์ เผยแพร่เข้าสู่ตลาดวัฒนธรรมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขานำเสนอว่าผ่านทุนนิยมการพิมพ์และตลาดทุนนิยมนั่นเองที่สินค้าทางวัฒนธรรมต่อต้านทุนนิยมอย่างลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ได้เฟื่องฟูและแพร่กระจายความคิดและภาษาของมันออกสู่สาธารณะ และก่อตัวขึ้นเป็นวาทกรรมต่อต้านวาทกรรมครอบงำตลอดช่วงทศวรรษ 2490 หากในขณะเดียวกันสินค้ายี่ห้อลัทธิมาร์กซิสต์ก็ต้องจ่ายราคาให้แก่ตลาดทุนนิยมด้วยเช่นกัน คือ ต้องตกอยู่ภายใต้ตรรกทางเศรษฐกิจ (อุปสงค์-อุปทาน-กลไกราคา) และโอกาสที่จะเสื่อมสาธารณ์ทางอุดมการณ์ในตลาดทุนนิยม
บทที่ 4 และ 5 เขาวิเคราะห์ด้านที่เป็นอุปสงค์ (demand) ที่ทำให้ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เป็นที่ดึงดูดและได้รับความสนใจ อุปสงค์พื้นฐานประกอบด้วย 3 ปัจจัยได้แก่ มีกลุ่มผู้อ่านที่มีศักยภาพ (อ่านออกเขียนได้และมีความรู้พอ) จะเสพงาน สองเกิดกระแสการเมืองระดับโลกที่ค่ายสังคมนิยมกลายเป็นมหาอำนาจหลังสงคราม บวกกับการปฏิวัติในประเทศจีน (พ.ศ. 2492 ) และกระแสการปฏิวัติกู้ชาติของเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ และสามความเสื่อมโทรมผุกร่อนตกต่ำของเศรษฐกิจสังคมในประเทศหลังสงคราม ทั้งหมดนี้ทำให้ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกทางการเมืองที่อาจจะมาช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ยากของคนไทยหลังสงคราม นอกจากนี้ยังมีอุปสงค์ที่เป็นตัวเร่งให้ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เป็นที่นิยมอีก 2 ประการใหญ่ๆคือ ประการแรก การเสื่อมโทรมและหมดความชอบธรรมของอุดมการณ์การเมืองก่อนหน้านี้ที่เคยถูกทดลองใช้และรับมาปฏิบัติในเมืองไทยโดยกลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการทหารนิยม-ชาตินิยม และประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญนิยม ทำให้ระบบการเมืองใหม่อย่างคอมมิวนิสต์ซึ่งยังไม่เคยถูกนำมาใช้มีความน่าพิสมัยเสน่หา (เพราะยังไม่เคยใช้ จึงยังไม่เคยล้มเหลวเหมือนอุดมการณ์อื่น)
ประการที่สองคือ การเคลื่อนไหวมวลชนที่ปรากฏถี่ขึ้นภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด (ภายใต้บรรยากาศการเปิดเสรีทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่มีปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ) ซึ่งขบวนการคอมมิวนิสต์มีส่วนสร้างขึ้น (การเคลื่อนไหวกรรมกร-นักศึกษา-ชาวนา) ได้กระตุ้นความสนใจของประชาชนต่อความคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ และกระตุ้นจินตนาการของปัญญาชนหัวก้าวหน้าให้ตื่นเต้นกับกิจกรรมทางการเมืองของขบวนการคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษ 2490 นี่เองที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สามารถดึงดูดสมาชิกกลุ่มใหม่ที่มีความแตกต่างไปจากสมาชิกรุ่นก่อน (มีการศึกษาสูงและส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทย) เข้าร่วมขบวนการ คือนักศึกษาและปัญญาชนนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้พคท.ได้เชื่อมต่อกับความเป็นไทยรวมทั้งได้กำลังสำคัญในการผลิตเผยแพร่วาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์
ในบทที่ 6 เขาหันมาพิจารณาอุปทาน (supply) ของลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ที่จะมารองรับอุปสงค์ที่ขยายตัวขึ้น เกษียรชี้ให้เห็นความขาดแคลนของอุปทานในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บรรยากาศการเมืองยังไม่เอื้ออำนวย ช่องทางที่คนไทย (กลุ่มเล็กๆ) จะได้สัมผัสลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์มีเพียงช่องทางเล็กๆ คือ วิชาลัทธิเศรษฐกิจที่มีเปิดสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนเมื่ออุปสงค์ขยายตัวออกไปมากหลังสงคราม จึงเกิดตลาดรองรับ สิ่งพิมพ์จึงหลั่งไหลออกมาอย่างท่วมท้น หลากหลายและเป็นไปอย่างเปิดเผย แหล่งป้อนสินค้าลัทธิมาร์กซิสต์จากต่างประเทศสู่สังคมไทยที่เกษียรแจกแจงไว้ประกอบด้วย 4 แหล่งคือ 1.ร้านหนังสือเอกชน (เพื่อการค้าล้วนๆ กับที่มีเป้าหมายทางการเมือง) 2.ห้องสมุดสาธารณะ (ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ) 3.คลังหนังสือส่วนตัวของปัญญาชน (ที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เช่น สุภา ศิริมานนท์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ฯลฯ) 4.สถานทูตต่างประเทศ (สหรัฐฯและโซเวียต) โดยเกษียรเสนอว่าแหล่งแรกเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด
ตอนที่อภิปรายถึงบทบาทของสถานทูตโซเวียตและสหรัฐฯ นับว่าสนุกสนานมาก ทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติและลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของการแอนตี้คอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามว่าเป็นทั้งแฟชั่นทางการเมือง, กิจกรรมที่ดึงดูดความช่วยเหลือจากมหาอำนาจ (กระทั่งหน่วยงานของรัฐผลิตนิตยสาร มหาชน ของพคท.ฉบับปลอมออกมาเพื่อสร้างให้สหรัฐฯเห็นว่าผีคอมมิวนิสต์มีอยู่จริง ฉะนั้นสหรัฐฯช่วยสนับสนุนกิจกรรมแอนตี้คอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทยต่อไปเถิด!!) และเป็นเครื่องมือเอนกประสงค์ที่เอามาใช้ข่มขู่ บีบคั้น กดปราบศัตรูทางการเมืองของรัฐซึ่งบ่อยครั้งก็มิได้เป็นหรือเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์แต่ประการใด
สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นการแพร่กระจายของความคิดข้ามสังคม บทนี้ของเกษียรจะน่าสนใจเป็นพิเศษ และอาจเป็นตัวแบบให้นำไปศึกษากรณีอื่นได้ มันช่วยชี้ให้เราเห็นว่าการแพร่กระจายของความคิดนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนมาจากหลายช่องทาง และเกี่ยวพันกับบริบททางการเมือง ลักษณะทางสังคมของประชากร และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของสังคมอย่างพัวพัน
หลังจากแจกแจงวิเคราะห์อุปสงค์-อุปทานของตัวสินค้า เขาอภิปรายให้เห็นต่อไปถึงกระบวนการและกรรมวิธีที่สิ่งพิมพ์ลัทธิมาร์กซิสต์ภาษาต่างประเทศที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามา ถูกผลิตซ้ำโดยแปล/แปลง/ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไร เพราะการทำมันเป็นภาษาไทยเป็นเงื่อนไขที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ถ้าต้องการให้ความคิดนี้เป็นที่แพร่หลายและส่งผลสะเทือนต่อผู้อ่าน เนื่องจากประชากรไทยที่อ่านภาษาฝรั่งและภาษาจีนออกมีอยู่เพียงหยิบมือเดียวในสมัยนั้น นี่เป็นประเด็นของบทที่ 7 และ 8
เกษียรแบ่งกลุ่มผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ออกมาเป็นภาษาไทยเป็น 2 กลุ่ม คือ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนและเวียดนาม การศึกษา (ยกเว้นบางคน) ต่ำกว่าระดับปริญาญตรี กับกลุ่มปรีดี/อักษรสาส์น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานไทย การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีและสูงกว่า ทำงานรับราชการ/หนังสือพิมพ์ เมื่อเทียบกันแล้วกลุ่มแรกมีลักษณะมนุษยนิยมและเป็นนักทฤษฎีกว่ากลุ่มแรก เขาเสนอว่าการแบ่งเช่นนี้ยังคงมีประโยชน์ในการเข้าใจความจริงทางการเมืองวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายไทยในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะมีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสมาชิกสองกลุ่มในแง่บุคลิกทางปัญญาและกิจกรรมทางการเมืองอยู่จริง โดยเฉพาะในแง่องค์กร กลุ่มพคท.มีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง มีวินัยและมีความเด็ดเดี่ยวยืนหยัดทางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามปราบปรามฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างหนัก เราจะเห็นปรากฏการณ์ที่พคท.ค่อยๆ กลายเป็นองค์กรผูกขาดการผลิตและเผยแพร่ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ในขณะที่กลุ่มอื่นสลายตัวไป อย่างไรก็ตามเขาพยายามย้ำว่าเรามิอาจยึดติดกับการแบ่งกลุ่มเช่นนี้อย่างตายตัว เพราะในความเป็นจริงมีคนที่ผลิตและเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมโดยมิได้สังกัดทั้งสองกลุ่มนี้ นอกจากนั้นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มก็มีการทำงานร่วมกันไขว้กันไปมา และสุดท้ายทั้งสองกลุ่มไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดภายในกลุ่มแต่อย่างใด หากเข้าใจเจตนาไม่ผิด เกษียรกำลังเสนอให้มองความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาอย่างไม่ยึดติดกลุ่มตายตัว แต่มองอย่างมีพลวัตร
ในบรรดาสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายที่ผลิตออกมามากมายแข่งขันกันในท้องตลาด (ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ/ระยะเวลาที่ออก/เจ้าของและบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายในยุคสมัยนั้นทั้งหมดขอให้ดูตารางที่ 7-1 หน้า 150 ซึ่งเกษียรได้รวบรวมเอาไว้) เขาหยิบนิตยสาร 3 ฉบับที่เขาเห็นว่าสามารถเป็นภาพตัวแทนที่สำคัญและดีที่สุดที่จะสะท้อนชะตากรรมของสินค้าลัทธิมาร์กซิสต์ภายใต้รัฐบาลเผด็จการแอนตี้คอมมิวนิสต์และภายใต้ตลาดทุนนิยมมาอภิปรายอย่างละเอียดในบทที่ 8 ได้แก่นิตยสาร มหาชน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2485-2494) อักษรสาส์น ซึ่งก่อตั้งและบรรณาธิการโดยสุภา ศิริมานนท์ (พ.ศ. 2492-2495) และ การเมืองรายสัปดาห์ ที่ก่อตั้งโดยประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และบุญชู โรจนเสถียร
พ้นไปจากแนวคิดและการตีความที่ใหม่แหวกแนวเกี่ยวกับการผลิตซ้ำลัทธิมาร์กซิสต์เป็นภาษาไทยแล้ว ในแง่ข้อมูลของบทที่ 7 และ 8 นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่จะได้รู้จักตัวละครทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน หรือได้ยินแต่ไม่เคยรับรู้บทบาทบางเรื่องในอดีตของพวกเขา (ยกตัวอย่างกรณีประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และบุญชู โรจนเสถียร สองยักษ์ใหญ่แห่งธนาคารกรุงเทพฯ) และถ้าจะให้การอ่านมีรสชาติเพิ่มขึ้น ขอแนะนำให้อ่านวิทยานิพนธ์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลควบคู่ไปด้วย
“What Is Left?” ชื่อบทสุดท้ายที่เก๋ไก๋โดยเล่นกับคำว่า left ในภาษาอังกฤษ เป็นบทที่พบว่ามีการปรับแก้จากวิทยานิพนธ์มากที่สุด (นอกจากบทที่ 3 ซึ่งมีการปรับแก้ข้อมูลโดยอาศัยงานของมูราชิมาและสมศักดิ์) ผู้อ่านที่สนใจว่าเปลี่ยนอย่างไรขอให้กลับไปอ่านเทียบจากวิทยานิพนธ์ บทนี้เป็นการดึงเอาประเด็นข้อคิดที่เขาพบระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งสามารถเขียนออกมาเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งต่างหากที่นอกเหนือไปจากกระบวนการและโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมทางการเมือง (กลุ่มคนและสถาบันต่างๆ) ที่ทำไว้ในวิทยานิพนธ์ แต่เป็นประเด็นว่าด้วยการเจาะลึกไปที่เนื้อในของกระบวนการสร้างงานวัฒนธรรมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยว่ามันเกิดปัญหาแยกแย้งอย่างไรบ้าง และสุดท้ายทั้งลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์และวัฒนธรรมไทยถูกเปลี่ยนโดยอีกฝ่ายอย่างไร เขาประมวลมันมาเขียนเป็นสรุปแบบสังเขปโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์มันด้วยกองหลักฐานข้อมูล ประเด็นที่เขาหยิบมาเป็นหัวข้ออภิปรายมีอาทิ คู่ความขัดแย้งในการทำลัทธิมาร์กซิสต์ให้เป็นสินค้า, การเมืองของการแปล, การทำลัทธิมาร์กซิสต์เป็นกลอน เป็นต้น
ทุกประเด็นล้วนน่าตื่นตาตื่นใจ ก็ได้แต่หวังว่าผู้เขียนจะมีโอกาสผลิตมันออกมาเป็นสินค้าทางภูมิปัญญาอีกชิ้นหนึ่งแก่ผู้อ่านชาวไทยในภายภาคหน้า
การที่หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในภาษาอังกฤษ พิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ต่างประเทศซึ่งทำให้ราคาหนังสือค่อนข้างแพง คงทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าถึงผู้อ่านชาวไทยได้ลำบาก ถ้าจะให้คนไทยเข้าถึงได้ มันคงต้องถูกแปรให้กลายเป็นไทยสักวันหนึ่งข้างหน้าเฉกเช่นเดียวกับสิ่งพิมพ์ลัทธิมาร์กซิสต์ที่มันวิเคราะห์ถึง นอกจากนั้นความหนาและความเข้มข้นทางวิชาการของมันก็คงทำให้อุปทานของหนังสือไม่มากมายพุ่งพราดเหมือนหนังสือฮาวทูที่มีดกดื่นในตลาดหนังสือ กล่าวในแง่นี้ชะตากรรมของหนังสือวิชาการในตลาดทุนนิยมก็ไม่ได้ดีกว่าสิ่งพิมพ์ลัทธิมาร์กซิสต์เท่าไรเลย


[1] ตอนหนึ่งจากการสนทนาเปิดตัวและวิพากษ์หนังสือของเกษียร เตชะพีระ เรื่อง Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545.
[2] Benedict Anderson, “Radicalism after Communism,” New Left Review 202 (Nov.-Dec. 1993) ต่อมาพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือของผู้เขียนคนเดียวกันเรื่อง The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia, and the World (London: Verso, 1998).
[3] Seksan Prasertkul, “The Transformation of the Thai State and Economic Change” (Ph.D. thesis, Cornell University, 1989).
[4] Thongchai Winichakul, “Siam Mapped: A History of the Geo-Body of Siam” (Ph.D. thesis, University of Sydney, 1988).
[5] Kasian Tejapira, “Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958” (Ph.D. thesis, Cornell University, 1992).
[6] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand” (Ph.D. thesis, Monash University, 1993).
[7] Thongchai Winichakul, Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation (Honolulu: University of Hawaii Press, 1994).
[8] Kasian Tejapira, Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 (Melbourne: Kyoto University Press and Trans Pacific Press, 2001). อย่างไรก็ดี งานทั้ง 4 ชิ้นยังไม่ถูกแปลเป็นไทย ซึ่งทั้งน่าเสียดายและชวนสงสัยไปพร้อมๆ กัน.
[9] เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ.1924-1941, แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และวรศักดิ์ มหัทธโนบล (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย, 2539); เออิจิ มูราชิมา, “สัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น กับชาวจีนในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2“, แปลโดยเออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ฮายะโอะ ฟูกุย, ญี่ปุ่น-ไทย-อุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541).

history, nation, and intellectuals

คำนำเสนอหนังสือนิธิ เอียวศรีวงศ์
ว่าด้วย ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน

ประวัติศาสตร์-ชาติ-ปัญญาชน คำสามคำนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
“ปัญญาชน” เป็นศัพท์ที่มีปัญหามากคำหนึ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังเถียงกันไม่รู้จบว่าบุคคลประเภทไหนสมควรถูกนับเนื่องจัดจำแนกเข้าข่ายให้เป็นปัญญาชนบ้าง เราจะไม่เสียเวลาเข้าไปคลุกวงในถกเถียงประเด็นดังกล่าว ณ ที่นี้ เพราะไม่ว่าจะนิยามกว้างแคบถี่ห่างอย่างไร นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของผลงานรวมเล่มชิ้นนี้ก็สามารถและสมควรถูกเรียกขานว่าเป็นปัญญาชนได้อย่างเต็มปากและอย่างไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ ทั้งโดยผลงานวิชาการ บทบาททางสังคม และอิทธิพลทางความคิด
อาจารย์นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ ข้อนี้ใครๆ ก็รู้กันอยู่ อย่างไรก็ตาม หากกวาดสายตามองไปยังปัญญาชนเด่นๆ ที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงในสังคมไทยปัจจุบันนั้น เราจะพบว่าปัญญาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมีพื้นเพทางการศึกษาและอาชีพไม่เป็นนายแพทย์ ก็พระ หรือนักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักนิติศาสตร์ (คงพอเดากันได้ว่าหมายถึงใครบ้าง) แต่หาคนที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักประวัติศาสตร์แทบจะไม่มี นิธิดูจะเป็นคนเดียวกระมังในหมู่ปัญญาชนคนสำคัญของยุคสมัย แน่ละว่าความลุ่มลึกแหลมคมและอิทธิพลทางความคิดของปัญญาชนคนหนึ่งที่มีต่อวงวิชาการและสังคมวงกว้าง คงมาจากองค์ประกอบหลากหลายที่ไม่ได้ขึ้นกับพื้นฐานทางการศึกษาและอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลิกภาพ สถานะทางสังคม ความสามารถทางภาษาของคนๆ นั้นด้านหนึ่ง บวกกับวาทกรรมหลักที่ครอบงำสังคมในแต่ละยุคสมัย (ซึ่งทำให้ความคิดของบางคนดูเข้าท่า ในขณะที่ความคิดของบางคนฟังอย่างไรก็ “ไม่ขึ้น”, “ไม่ถูกได้ยิน” หรือได้ยินก็ “เสียงไม่ดัง”) แน่นอนว่าในแง่บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว อาจารย์นิธิมีความเป็นนักคิดลัทธิแก้โดยธรรมชาติ คิดแหกคอกเป็นอุปนิสัย และเป็นนายของภาษาอย่างไม่ต้องกังขา ฯลฯ แต่ผู้เขียนคิดว่าพื้นฐานความเป็นนักประวัติศาสตร์มีความสำคัญมากต่อกระบวนการคิด (และอาจารย์นิธิก็ใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่) ไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ และทำให้งานของนิธิมีเสน่ห์ต่างไปจากปัญญาชนร่วมสมัยคนอื่นๆ เนื่องจากมันทำให้นิธิเห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็น อ่านงานของอาจารย์นิธิทีไร ผู้อ่านก็รู้สึกว่าได้มุมมองหรือความรู้ใหม่ที่ตัวเองไม่เคยมองหรือไม่เคยรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามที
อันที่จริงการที่นักประวัติศาสตร์จะกลายเป็นปัญญาชนสำคัญของสังคมนั้น แม้จะเป็นเรื่องไม่ปกติในปัจจุบัน ทว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในประวัติภูมิปัญญาของไทย ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปัญญาชนสำคัญๆ ของยุคสมัยล้วนแต่เป็นผู้ที่กุมความรู้เกี่ยวกับอดีตของสังคมและผลิตมันออกมาเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ไล่มาตั้งแต่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯลฯ เพราะประวัติศาสตร์ถูกสร้างและใช้เป็นฐานความชอบธรรมของระบอบอำนาจต่างๆ เสมอมา ยิ่งในสมัยสร้าง “ชาติ” (คำกิริยาก็บ่งบอกนัยในตัวมันเองอยู่แล้วว่า ‘ชาติ’ เป็นสิ่งที่ถูกทำให้มีขึ้น ไม่ได้มีอยู่เองโดยธรรมชาติ) ซึ่งตัวมันเองเป็นชุมชนในจินตนากรรมที่ต้องระดมเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างมาช่วยกันสร้างสำนึกร่วมของความเป็นพวกเดียวกันขึ้นมาให้สำเร็จ ประวัติศาสตร์ก็ยิ่งสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงประการหนึ่งจนขาดเสียมิได้ในฐานะองค์ประกอบของการสร้างความเป็น “ชาติ” ไทย (หรือชาติไหนๆ ก็ตาม) ขึ้นมา ตรงนี้เองที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติหรือความทรงจำร่วมกันได้บังเกิดขึ้น แต่
”ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติต้องทรงจำสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงแท้ แต่ชาติต้องทรงจำอดีตที่ “สร้าง” ขึ้นไว้ให้จดจำ เพราะอันที่จริงชาติไม่มีอัตลักษณ์อะไรของตัวเองมากนัก ฉะนั้น ครึ่งหนึ่งของอัตลักษณ์ของชาติคือความทรงจำร่วมกัน และผมขอย้ำว่าความทรงจำอันนี้ถูก “สร้าง” ขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานรองรับโครงสร้างอำนาจ, วัฒนธรรม, สังคมและการเมืองของชาติ” (ประวัติศาสตร์ก่อนประชารัฐ)
อัตลักษณ์ของชาติที่ถูกค้ำจุนไว้ด้วยความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นนี้มีความมุ่งหมายที่จะรวมเอาประสบการณ์อันหลากหลายของคนไทยไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และบอกว่ามันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากชาติอื่นในโลก ทั้งๆ ที่มันไม่มีอยู่จริง แต่มันก็ถูกสร้างและส่งผ่านช่องทางอันหลากหลายตั้งแต่แบบเรียน อนุสาวรีย์ แผนที่ เพลง ธง ฯลฯ จนทุกคนในชาติยึดมั่นถือมั่นร่วมกันในอัตลักษณ์นี้ ซึ่งรู้จักกันในนามว่า “ความเป็นไทย” ประเด็นนี้นับเป็นประเด็นสำคัญในบทความหลายชิ้นของนิธิ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นไทย” ที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมีมาแต่ดั้งเดิม สูงส่ง บริสุทธิ์ ดีงาม นั้น ที่จริงแล้วแสนจะไม่ธรรมชาติและมีความเป็น “การเมือง” อย่างยิ่ง เพราะความเป็นไทยทำหน้าที่เสมือนเป็นเส้นเขตแดน ที่สามารถกีดกันคนบางคนให้พ้นออกไปจากความเป็นสมาชิกของชาติ และสำหรับสมาชิกด้วยกัน มันยังเป็น “บันไดสำหรับจัดลำดับขั้นของคนภายในสังคมด้วย” (วัฒนธรรมรักชาติ) จากประสบการณ์ของสังคมไทยที่ผ่านมา นิธิสรุปได้อย่างกระชับชัดว่าคนที่ถูกตราหน้าว่า “ไม่ไทย” นั้น “ไม่เพียงแต่ถูกลิดรอนอำนาจและสิทธิเท่านั้น แม้แต่จะพร่าชีวิตเสียยังถือว่าเป็นความชอบธรรม” (ความเป็นไทย)
เพียงแต่หลับตานึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับข้อกล่าวหาเรื่องความเป็นญวนคงจะทำให้เห็นพลังอำนาจของ ”ความเป็นไทย” ได้ชัดเจนกระมัง
เนื่องจากอัตลักษณ์แห่งชาติที่เรียกว่าความเป็นไทยซึ่งถูกโอบอุ้มรองรับไว้ด้วยประวัติศาสต์แห่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีตามธรรมชาติ ก็ย่อมหมายความว่ามีคนสร้างมันขึ้นมา และคนที่สร้างมันขึ้นมาก็คือ ปัญญาชนนักประวัติศาสตร์รุ่นสร้างชาติทั้งหลาย (สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้งในงานของนิธิ (อยากรู้ว่ามีใครบ้าง ก็ขอให้แกะรอยตามอ่านจากงานวิจัยของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ที่กำลังทะยอยตีพิมพ์ออกมา) แน่นอนว่าใครอ่านบทความเหล่านั้นก็คงเห็นได้ไม่ยากนักว่านิธิวิพากษ์การตีความอดีตตามสำนวนที่นักปราชญ์เหล่านี้สร้างขึ้น แต่ก็ชวนให้พวกเราตระหนักด้วยว่าพลังอำนาจและความแพร่หลายของมันยังคงอยู่กับสังคมไทยถึงปัจจุบัน แม้ว่าเราจะก้าวพ้นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติถูกประดิษฐ์ขึ้นมานานแล้วก็ตามที กล่าวในแง่นี้นิธิจึงเห็นว่าปัญญาชนรุ่นสร้างชาติประสบความสำเร็จอย่างสูง (แม้แต่งานค้นคว้าทางวิชาการของฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งหลายยังถูกดูดกลืนเข้ามาอยู่ภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่นักปราชญ์เหล่านี้วางเอาไว้)
นี่เป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าชวนให้ขบและคิดต่อให้แตกและละเอียดกันต่อไปอย่างยิ่งว่า เหตุปัจจัยอันใดบ้างที่ทำให้สำนึกเกี่ยวกับอดีตแบบ “สำนักเจ้า” (ภาษาของนิธิ) หรือแบบ “ราชาชาตินิยม” (ภาษาของธงชัย วินิจจะกูล) ยังคงสืบเนื่องอยู่ถึงปัจจุบัน แม้ว่าตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิ
ราชย์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมันจะสิ้นสุดลงไปแล้วร่วม 7 ทศวรรษ
เหตุเพราะว่าการตีความอดีตตามสำนวนของนักปราชญ์รุ่นสร้างชาติยังไม่ได้ตายจากเราไปนี่เอง เราจึงยิ่งต้องให้ความใส่ใจกับมันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ที่ก่อเกิดจากการตีความอดีตแบบสำนักเจ้าเป็นอัตลักษณ์ที่มีปัญหา เพราะมันไม่ได้ให้สิทธิและอำนาจกับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน แต่มีบางคนได้มาก บางคนได้น้อย ไปจนถึงถูกกีดกันออกไปเลยโดยสิ้นเชิง พูดในสำนวนอาจารย์นิธิคือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของเรานั้นมีปัญหา และปัญหาสำคัญก็เพราะมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์แห่ง “ชาติ” จริง ที่จะให้พื้นที่แก่ความทรงจำของคนทุกหมู่เหล่าอย่างทัดเทียมกัน ที่เรียกกันว่าประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นแท้จริงแล้วมีฐานของความทรงจำที่แคบมาก เป็นเพียงความทรงจำของกลุ่มคนซึ่งอยู่บนจุดสูงสุดของปีระมิดอำนาจที่ถูกขยายและยัดเยียดให้กลายเป็นความทรงจำรวมหมู่ของคนทั้งชาติ
เราสามารถกล่าวอย่างไม่เกินเลยไปนักได้ว่า ความรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยนั้นซื่อสัตย์กับการรับใช้อำนาจเสมอมา จนไม่นานมานี้เองกระมัง ในช่วงหลังการปฏิวัติทางปัญญาเมื่อ 14 ตุลาฯ ที่มีการชำแหละ ถกเถียง ตั้งคำถามท้าทายอย่างจริงจังต่อประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบเก่าที่มีการสร้างและผลิตซ้ำต่อๆ กันมา ประวัติศาสตร์กลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในสังคมท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองอันร้อนแรง ปัญญาชนสำคัญ 2 คนที่นิธิเอ่ยถึง อย่าง
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และจิตร ภูมิศักดิ์ ล้วนมีส่วนสำคัญในการตั้งคำถามและให้ความหมายใหม่แก่ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์แห่งชาติไทย และทั้งสองคนเกี่ยวพันกับ 14 ตุลาฯ อย่างแยกไม่ออก คนแรกเป็นจิ๊กซอว์ใหญ่ชิ้นหนึ่งที่นำมาสู่ 14 ตุลาฯ ส่วนคนหลังนั้น 14 ตุลาฯ ทำให้เขามีกำเนิดครั้งที่ 2
เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติ (รวมทั้งอัตลักษณ์แห่งชาติ) ก็ยิ่งถูกท้าทายมากขึ้นจากหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน หากสรุปเอาจากงานของนิธิ เราก็จะพบว่ามีสำนักคิดทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ งอกเงยเพิ่มขึ้นจากที่มีแต่ “สำนักเจ้า” ทั้งยังร่วมกันวิพากษ์สำนักเจ้าอย่างถึงรากถึงโคน อาทิเช่น สำนักเจ๊ก และสำนักไต ซึ่งช่วยเพิ่มตัวละครใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง และกิจกรรมในมิติอื่นที่นอกเหนือจากการเมืองและสงครามเข้ามาในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่นำพาสังคมไทยเข้าสู่ยุคโลกานุวัตรก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะทำให้รัฐไทยไม่สามารถกำหนดความทรงจำแห่งชาติได้เด็ดขาดฝ่ายเดียวอีกต่อไป มาถึงตอนนี้ชนชั้นกลางก็ขอเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งฝรั่งฮอลลีวู้ดก็ขอมีเอี่ยวด้วยเหมือนกัน (ในกรณี Anna and the King)
หากเรานับผู้สร้างละครทีวีและภาพยนตร์เป็นชนชั้นกลางด้วย ก็จะเห็นว่ามีการตีความอดีตขึ้นใหม่อย่างน่าสนใจในละคร/ภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุคหลายเรื่องด้วยกัน
นิธิเองก็เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองวัฒนธรรมนี้ด้วยคนหนึ่ง จากบทความรวมเล่มชิ้นนี้ จะเห็นถึงความพยายามอย่างแข็งขันและเฉลียวฉลาดของปัญญาชนคนหนึ่งในการนิยามความหมายใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของสังคมตนเอง เพราะเหตุนี้ 24 มิถุนาฯ เอย 14 ตุลาฯ เอย ศิลาจารึกหลักที่ 1 เอย ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เอย หรือการเมืองในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงถูกนำมาตีความด้วยมุมมองและหลักฐานใหม่ๆ ดังที่ผู้อ่านจะได้สัมผัสในหนังสือเล่มนี้
โจทก์ทางประวัติศาสตร์ของนิธิ ดูจะอยู่ที่ทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์แห่งชาติ เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติจริงๆ ที่ครอบคลุมประสบการณ์ของคนอันหลากหลาย พร้อมทั้งคืนความเป็นมนุษย์ให้กับประวัติศาสตร์ (มิใช่เห็นแต่อภิมนุษย์หรือรัฐ) ขณะเดียวกันก็ไม่อธิบายประวัติศาสตร์จากแง่มุมการกระทำของตัวบุคคลเสียหมด แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับพลังของระบบ/โครงสร้างที่กำกับการตัดสินใจของมนุษย์เดินดินธรรมดาทั้งหลายในประวัติศาสตร์ด้วย
นี่ดูจะเป็นโจทก์ที่ยากแต่ก็ท้าทายอยู่ไม่น้อย
พร้อมๆ กับการสร้างสำนึกใหม่เกี่ยวกับอดีต ความหมายและอัตลักษณ์ของ “ชาติ” ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะตัวมันถูกค้ำจุนไว้ด้วยความทรงจำเกี่ยวกับอดีตแบบหนึ่ง ทำเช่นนี้เพื่อจุดประสงค์อันใด ดูเหมือนผู้เขียนได้ตอบไว้อย่างกระชับรัดกุมว่า “การสร้างสำนึกเกี่ยวกับอดีตใหม่...เท่ากับการสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทย” (สำนักเจ๊ก-สำนักไต)
ประวัติศาสตร์-ชาติ-ปัญญาชนจึงมาเกี่ยวข้องกันด้วยประการฉะนี้แล
ชาติที่น่ารักจึงไม่เพียงแต่ต้องมีประชาชนหากต้องมีปัญญาชนอยู่ด้วย เพราะ “ชาติ” ที่ไม่มีประชาชนนั้น อย่างไรเสียก็เป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ ถือว่าพิกลพิการไม่สมประกอบ ส่วน “ชาติ” ที่ปราศจากปัญญาชน โดยเฉพาะปัญญาชนแหกคอกอย่างนิธินั้น ก็คงเป็นชาติที่จืดชืดไม่มีรสชาติและไม่น่าอยู่เอาเสียเลย เพราะไม่มีใครมาชวนทะเลาะด้วยอีกต่อไป

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ท่าพระจันทร์
ธันวาคม 2546

war of memory

สงครามความทรงจำ กับปฏิบัติการทางการเมือง:
ขบวนการนักศึกษาไทยหลัง 6 ตุลา-ปัจจุบัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ

การหายตัวของนักศึกษา: อะไรหาย ?
ผู้เขียนเดาว่าหลายคนเมื่อเห็นแค่ชื่อบทความนี้ก็คงเบือนหน้าหนีเสียแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด และถ้านึกอยากไปชวนใครสนทนาถึงเรื่องบทบาทนักศึกษาเข้า ก็เชื่อได้ว่าคงหาคู่สนทนาไม่ได้เอาเสียเลย มิหนำซ้ำอาจจะถูกเย้ยหยันว่าเป็นคนเชย ตกยุค ก้าวไม่ทันโลกเอาเลยก็ได้ คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาหรือ?
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2535 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง “ชนชั้นกลางกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย” ขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดกับหัวข้อดังกล่าว เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คำว่า “ชนชั้นกลาง” ได้กลายเป็นศัพท์แสงทางการเมืองยอดนิยมที่ถูกนำไปพูดคุยถกเถียงตามหน้าหนังสือพิมพ์ และงานวิชาการต่างๆอย่างมากมายนับไม่ถ้วน[1] ในการสัมมนาครั้งนั้นได้มีการเสนอบทความรวมทั้งสิ้น 10 บทความ แม้ทว่าหัวข้อการสัมมนาจะว่าด้วยชนชั้นกลาง แต่บทความที่นำเสนอก็มิได้รวมศูนย์อยู่ที่ชนชั้นกลางแต่กลุ่มเดียว มีการพูดถึง กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นกับประชาธิปไตย, ทหาร, องค์กรพัฒนาเอกชน และลูกจ้าง คนจนเมืองกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม[2] แต่ที่สะดุดตาสะดุดใจที่สุด คือ ไม่มีบทความที่กล่าวถึงนักศึกษาเลยสักบทความเดียว
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านักศึกษาไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้นำในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เฉกเช่นการต่อสู้ในเหตุการณ์ปี 2516 และ 2519 แต่ไฉนเลยผู้จัดงานสัมมนาดังกล่าวจึงพาลละเลยไม่เอ่ยถึงแม้แต่บทบาทของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์กรนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนจะมีการรัฐประหารของรสช. และเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น องค์กรนักศึกษาก็เป็นกลุ่มที่ยืนหยัดชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของรสช. ท่ามกลางการเงียบเฉยกระทั่งชื่นชมยินดีของชนชั้นกลางไทย(ที่ภายหลังกลับถูกยกย่องว่าเป็นกองหน้าของประชาธิปไตย) ต่อการรัฐประหารครั้งนี้
ตัวอย่างที่หยิบยกมานี้ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของกลุ่มคนที่เรียกขานกันว่านักศึกษาไม่ได้รับความสนใจจากแวดวงการถกเถียงต่างๆ อีกต่อไปไม่ว่าจะในแวดวงสื่อสารมวลชน หรือในวงวิชาการ ฉะนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดยิ่งกว่าการหายไปของบทบาททางการเมืองของนักศึกษา ก็คือ การหายไปของการพูดและเขียนถึงบทบาทของนักศึกษา นักศึกษาในปัจจุบันอาจจะมีบทบาทมากบ้างน้อยบ้าง มีการรวมกลุ่มกันที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง แต่พวกเขา/เธอไม่ได้ถูกหยิบมาวิเคราะห์อย่างจริงจังอีกต่อไป
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเสียทีเดียว แต่เป็นแนวโน้มที่เริ่มเห็นได้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 และปรากฏชัดเมื่อขึ้นสู่ต้นทศวรรษ 2530 ประจักษ์พยานอันหนึ่งก็คือ หนังสือรวมบทความที่นักศึกษาจัดทำกันเองในวาระครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีบทความที่เขียนถึงบทบาทนักศึกษาเพียงบทความเดียว[3] และอีก 2 ปีถัดมาในหนังสือรำลึกวาระ 14 ปี 14 ตุลา การพูดถึงบทบาทนักศึกษาก็หายไปโดยสิ้นเชิง[4] ในขณะที่เมื่อย้อนกลับไปในการจัดงานรำลึก 10 ปี 14 ตุลา เนื้อที่ที่มีให้กับการวิเคราะห์ถึงบทบาทของนักศึกษายังมีอยู่ค่อนข้างมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ประเด็นนี้จะขยายความต่อไปข้างหน้า) ฉะนั้น นอกจากแวดวงของผู้ที่อยู่ภายนอกจะไม่สนใจที่จะพูด/เขียนถึงนักศึกษาแล้ว ตัวนึกศึกษาเองก็ปฏิเสธที่จะพูด/เขียนถึงตัวเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ที่พยายามทวนกระแสความเงียบงันนี้ ลุกขึ้นมาเขียนบทความทั้งที่เป็นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และการทบทวนประวัติศาสตร์พร้อมทั้งข้อเสนอเชิงนามธรรมบางประการต่อขบวนการนักศึกษา[5] และอย่างน้อยเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ก็ได้เป็นแรงผลักดันให้มีการกลับมาพูดถึงบทบาทของนักศึกษาอยู่บ้าง แม้จะเกิดขึ้นในระดับที่บางเบามากก็ตามที[6] สำหรับผู้เขียน ไม่ว่าบทความเหล่านี้จะถูก-ผิด ตื้นเขิน-ลึกซึ้ง แค่ไหน อย่างไรก็ตาม มันก็ควรได้รับการยกย่องชมเชย ในฐานะที่มีความตั้งใจและพยายามที่จะจุดประเด็น กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงวิวาทะเกี่ยวกับนักศึกษาขึ้นมาบ้าง โดยไม่หวั่นกลัวกับการจะถูกปรามาสหัวเราะเยาะว่าพูด/เขียนอะไรที่เชยแสนเชย
ดังได้กล่าวแล้วว่าภาวะที่บทบาทนักศึกษาไม่ถูกพูดถึง ไม่ได้รับความใส่ใจนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่ดึกดำบรรพ์ หากเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราวปลายทศวรรษ 2520 ต่อต้นทศวรรษ 2530 หลายคนคงจะไม่เชื่อว่ายุคสมัยหนึ่งสังคมไทยได้เคยทุ่มเทเวลา กำลังสมอง กำลังกายไปกับการพูด/เขียนถึงนักศึกษาอย่างคึกคักเร่าร้อนผิดกับความเงียบที่ปรากฏในปัจจุบัน เปล่าผู้เขียนไม่ได้หมายถึงช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 แต่ผู้เขียนกำลังหมายถึงยุคสมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2523-2528 เป็นต้นมาต่างหาก เพราะในช่วง 3 ปีของยุคประชาธิปไตยเบ่งบานนั้นการลงมือปฏิบัติเปลี่ยนแปลงสังคมดูจะเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน และนักศึกษาก็พอจะมีทิศทางของคำตอบให้กับตัวเองอยู่แล้ว ว่าควรจะทำอะไร และมีบทบาทอย่างไรในสังคม การวิวาทะถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทที่ควรจะเป็นของนักศึกษากลับเป็นสิ่งที่สำคัญเร่งด่วนกว่าสำหรับคนในยุคที่เรียกว่ายุควิกฤตศรัทธา หรือยุคแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ช่วงปี 2523-)[7] มีการจัดวงเสวนา อภิปราย เขียนบทความ ออกจุลสาร หนังสือ เพื่อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากมายราวดอกเห็ด กล่าวได้ว่าไม่เคยมีช่วงไหนในประวัติศาสตร์ไทยที่บทบาทของนักศึกษาจะได้รับความสนใจเป็นหัวข้อสนทนาเท่ายุคนั้นเลย
ทว่าสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้และน่าสะดุดใจมากกับการวิวาทะถกเถียงถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของนักศึกษาในยุคดังกล่าว ก็คือ มีการหยิบยกอดีตมาอ้างถึงค่อนข้างมากอย่างเห็นได้ชัด อดีตช่วง 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 ถูกนำมาใช้เป็นฐานวิเคราะห์ เป็นกรอบอ้างอิง เป็นมาตรวัด เป็นข้อเตือนใจ กระทั่งเป็นคำขู่ให้ระมัดระวังกับบทบาทในปัจจุบัน ที่มักจะมีการกล่าวกันว่าเราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อสามารถเรียนรู้บทเรียนจากอดีต ดูเหมือนว่าผู้คนในยุคนั้นจะพากันสมัครเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์กันเป็นทิวแถว ข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทนักศึกษาของแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่เสนอออกมากันในช่วงนั้น สืบค้นดูเถอะ มันล้วนวางอยู่บนความทรงจำที่มีต่ออดีตบางประการ อดีตกับปัจจุบันสนทนากันอย่างดุเดือดผ่านความทรงจำของผู้คนมากมาย จนผู้เขียนอยากจะเรียกมันว่า สงครามแห่งความทรงจำ
สิ่งที่ผู้เขียนจะทำต่อไปในบทความนี้จะไม่ใช่การเขียนประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด และก็ไม่ใช่การเสนอยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ทางออกรูปธรรมใดๆต่อขบวนการนักศึกษา(ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ) แต่ผู้เขียนอยากจะสำรวจงานที่เขียน/พูดเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาตั้งแต่ยุควิกฤติศรัทธาซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของการถกเถียงผ่านมาจนถึงสมัยปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา โดยจะชี้ให้เห็นถึงการวิวาทะของความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งในขณะเดียวกันวิวาทะเหล่านั้นก็ได้สะท้อนถึงความทรงจำต่ออดีตที่แตกต่างกันด้วย ผ่านการสำรวจงานเหล่านี้เราอาจจะตระหนักว่า ความทรงจำต่ออดีตได้มีส่วนกำหนดความคิดข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาทางการเมืองในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันการเมืองของปัจจุบันก็ทำให้เราหันกลับไปสร้างความทรงจำต่ออดีตใหม่อย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นการเล่นกลของอดีตกับปัจจุบัน ทว่าก็มีแต่การเปิดโปงกลไกการทำงานของมายากลนี้ บทบาทของนักศึกษาจึงจะก้าวไปสู่อนาคตอย่างไม่ตกเป็นเหยื่อของความทรงจำ อย่างมีความหวัง และมีความเชื่อมั่นในตนเอง

ยุควิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2 กับการเปิดฉากสงครามความทรงจำ
จะเข้าใจสิ่งที่เรียกกันว่ายุควิกฤตศรัทธาหรือยุคแสวงหาครั้งที่ 2 ได้ก็ต้องเข้าใจบริบททางการเมืองและภูมิปัญญาของสังคมไทยในเวลานั้น และประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาหลัง 6 ตุลาอยู่บางประการ
นักศึกษาในช่วงนั้นแบ่งยุคสมัยของพวกเขาหลัง 6 ตุลา เป็น 3 ช่วงย่อยๆ คือ[8]
1.ช่วงหลัง 6 ตุลา-ปลายปี 2520
สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเด็จการพลเรือน ธานินทร์ กรัยวิเชียรซึ่งดำเนินนโยบายเผด็จการ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากเดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) เนื่องจากถูกชีวิตถูกข่มขุ่คุกคามจนไม่สามารถอยู่ในเมืองได้ รวมทั้งการหมดหวังกับวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมในแนวทางอื่นๆ ยอมรับแนวทางการปฏิวัติอำนาจรัฐของพคท. อย่างไรก็ตามยังมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าป่า ยังคงอาศัยอยู่ในเมืองและร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยต่อ แต่มหาวิทยาลัยในช่วงนั้นก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกต่างๆอย่างเสรีได้ นักศึกษาที่ยังต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องเคลื่อนไหวแบบไม่เปิดเผยและลง “ใต้ดิน”
2. ช่วงปี 2520 – ปลายปี 2522
การรัฐประหารล้มรัฐบาลธารินทร์ของคณะทหาร โดยมีพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นผู้นำเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 รัฐบาลใหม่ของพล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ผ่อนคลายความเป็นเผด็จการลง เปิดให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หรือที่เรียกขานกันว่าเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ส่งผลให้นักศึกษามีโอกาสแสดงออกมากขึ้น เริ่มมีกิจกรรมระดับคณะ ชมรมขึ้นในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งมีการเรียกร้องที่จะให้มีการรื้อฟื้นองค์กรนักศึกษาที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงกลับขึ้นมาใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มนักศึกษาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย(นต.ปช.) ขึ้นมาเมื่อ 28 ก.พ. 2521 ในช่วงสั้นๆนี้มีการดำเนินกิจกรรมทางสังคมการเมืองที่เด่นๆอยู่ 2-3 เรื่อง ไล่ตั้งแต่การจัดงานรับขวัญผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลาฯ 19 คน การตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การคัดค้านรัฐบาลเวียดนามกรณีลำเลียงคนเวียดนามอพยพออกนอกประเทศ การคัดค้านการขึ้นราคาน้ำมัน สังเกตได้ว่ากิจกรรมในช่วงนี้ลดความเข้มข้นทางการเมืองลงอย่างเห็นได้ชัด แม้กระนั้นก็ตามระยะนี้เป็นระยะที่ขบวนการนักศึกษายังคงมองโลกในแง่ดีและมีความเชื่อมั่นต่อบทบาทของตนเองในการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ข้อเขียนบทความต่างๆในจุลสารที่เผยแพร่กันในขบวนการนักศึกษาเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่แล้วความเชื่อมั่นทั้งหลายก็พังทลายลง กลายเป็นความสับสน ความมุ่งมั่นถูกแทนที่ด้วยความท้อแท้ อ่อนล้า อุดมการณ์ความคิดความเชื่อที่เคยยึดถือก็ถูกท้าทายตรวจสอบ และแล้วขบวนการนักศึกษาก็ย่างเข้าสู่ยุควิกฤตศรัทธา
3. ยุควิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2[9]
จากคำเรียกขานยุคสมัยนี้ทั้งสองชื่อ ก็พอจะสะท้อนได้ว่ามีสองด้านที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไปเหมือนสองด้านของเหรียญ และนี่คือบุคลิกลักษณะของยุคสมัยนี้ คือ ด้านหนึ่งเกิดความสับสนและสูญเสียความเชื่อมั่นต่อบทบาทของขบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามที่จะออกจากทางตันนี้ แสวงหาบทบาทใหม่ที่ควรจะเป็น
ถ้าจะกล่าวโดยรวบรัดแล้ว วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นก็คือวิกฤตศรัทธาที่มีต่อความคิดสังคมนิยมซึ่งนักศึกษาได้ยึดมั่นมาตั้งแต่ประมาณปี 2518 ส่วนสาเหตุหลักก็ได้มีคนวิเคราะห์ไว้มากมายแล้ว ในที่นี้จึงขอสรุปแต่เพียงสั้นๆว่าวิกฤติศรัทธาเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการมาบรรจบกัน ได้แก่ การที่รัฐบาลตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้นโยบายที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มอื่นๆในสังคม เช่น กลุ่มนักธุรกิจ, กลุ่มทหารบางกลุ่มได้ออกมาชูความคิดประชาธิปไตยกันเกร่อไปหมด ทำให้นักศึกษาสับสนและไม่รู้จะกำหนดบทบาทท่าทีของตนทางการเมืองอย่างไร สาเหตุที่สองซึ่งสำคัญยิ่งกว่าและส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงลึกซึ้ง คือ การแตกหักระหว่าง พคท.กับบรรดานักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่า ความผิดหวังกับความไม่เป็นประชาธิปไตย ความคับแคบทางความคิด และการตกอยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้นักศึกษาจำนวนมากพากันทยอยออกจากป่า และหันมาวิพากษ์วิจารณ์พคท.อย่างดุเดือดรุนแรง มีบางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การ “ตระหนักตื่น” ของปัญญาชนนักมนุษยธรรมต่อขบวนการคอมมิวนิสต์[10] ปรากฏการณ์ตระหนักตื่นต่อพคท. นี้เกิดขึ้นพร้อมกับความสับสนในสถานการณ์การเมืองของฝ่ายสังคมนิยมในระดับสากล[11] จนเกิดเป็นความถดถอยของความคิดสังคมนิยมโดยรวม
ผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตนี้นำมาสู่การลดน้อยถอยลงของปฏิบัติการทางสังคม หรือถ้ามี ก็ปรับรูปแปรร่างไปในลักษณะที่ผิดแผกจากเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นแทนคือ การหันกลับมาตั้งคำถาม ถกเถียง จับกลุ่มพูดคุย เสวนา หรือไม่ก็วิวาทะกันด้วยการผลิตงานเขียนผ่านเวทีทางความคิดอันหลากหลายที่มีอยู่ในเวลานั้น และหัวข้อหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนและถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างมากคือ บทบาทของขบวนการนักศึกษาต่อสังคมควรเป็นเช่นไร ?
ตรงนี้เองที่สงครามความทรงจำเริ่มปรากฏให้เห็น เพราะเพื่อจะตอบคำถามนี้นักคิดทั้งหลายพากันหันกลับไปมองอดีต ฉวยคว้าและคัดสรรเอาความทรงจำบางชุดบางตอนเกี่ยวกับบทบาทของขบวนการนักศึกษาในอดีตมาเพื่อเป็นฐานของข้อเสนอในปัจจุบัน เพื่อจะบอกว่านักศึกษาควรทำ/ไม่ควรทำอะไร ข้อเสนอของแต่ละคนล้วนแฝงไว้ด้วยความทรงจำแบบใดแบบหนึ่ง แน่นอนว่าความทรงจำเองไม่ได้เท่ากับความเป็นจริงในอดีตร้อยเปอร์เซ็นต์ และผู้เขียนก็ไม่ได้กำลังมาตัดสินว่าความทรงจำของใครเที่ยงตรงต่อความเป็นจริงในอดีตมากน้อยกว่ากัน สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การเลือกสรรความทรงจำมาคนละแบบมีผลในการก่อรูปความคิดว่าควรจะทำอะไรต่อปัจจุบันแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตามกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การจราจรทางเดียวที่ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดความทรงจำแต่ฝ่ายเดียว หากทว่าความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับความทรงจำนั้นเป็นไปอย่างซับซ้อน เป็นวิภาษวิธี(dialectic) คือตอบโต้ซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าความต้องการที่จะจดจำอดีตในปัจจุบันเป็นตัวไปเลือกสรรความทรงจำบางชุดขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันความทรงจำนั้นๆ ก็กำหนดรูปความคิดในปัจจุบันด้วยเช่นกัน[12] ก็เพราะเราจำอดีตแบบหนึ่งเราจึงคิดและทำอะไรในปัจจุบันแบบหนึ่ง หรืออาจจะกล่าวอีกทางหนึ่งว่าการที่เราจะตัดสินใจทำอะไรมาจากการที่เราบอกตัวเองในขณะหนึ่งๆว่าเราคือใคร ด้วยเหตุนี้ความทรงจำจึงมีความสำคัญต่อการกระทำของมนุษย์ เพราะความทรงจำมีส่วนในการประกอบส่วนสร้างอัตลักษณ์ของมนุษย์ ดังที่มีนักวิชาการคนหนึ่งพูดถึงความสัมพันธ์นี้ไว้ว่า “ความทรงจำเป็นดังเยื่อใยโปร่งเบาที่เชื่อมเหตุการณ์ในอดีตรวมตลอดถึงเค้าโครงแห่งอดีต(plot) เข้ากับบุคลิกและตัวตนของตัวบุคคลผู้จดจำเหตุการณ์นั้น”[13]
จนกระทั่งปัจจุบัน สังคมไทยยังคงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับช่วง 14 ตุลาคม 2516 -6 ตุลาคม 2516 ขึ้นมาอย่างไร อย่าว่าแต่แบบเรียนซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของนักการเมืองและผู้มีอำนาจเลย[14] ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เป็นงานวิชาการซึ่งที่จริงแล้วสามารถผลิตได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจของกระทรวงก็ยังไม่มีสักฉบับ นักประวัติศาสตร์ไทยคนสำคัญท่านหนึ่งกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์เดือนตุลาเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ “ลงตัว” อันที่จริงยังไม่มีคำอธิบายใดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางด้วยซ้ำ”[15]
เนื่องจากการไม่มีประวัติศาสตร์ที่ลงตัวของเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่ทุกคนยอมรับนี่เอง ทำให้ความทรงจำทำงานของมันอย่างแข็งขัน มีผู้คนมากมายแวะเวียนกันเข้ามาผลิตความทรงจำเกี่ยวกับอดีตช่วงนี้ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนแย่งชิงที่จะให้ความหมายผ่านความทรงจำ ดังที่ George Orwell เคยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความทรงจำว่าใครควบคุมปัจจุบัน ควบคุมอดีต ก็สามารถควบคุมอนาคต ดังนั้นความทรงจำจึงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจและการต่อต้านขัดขืน[16]
ความทรงจำนั้นต่างกับประวัติศาสตร์ ความทรงจำนั้นมีชีวิต เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นผลของการโต้ตอบระหว่างการจำกับการลืม เปราะบางที่จะถูกควบคุมจัดการ และก็อาจจะนอนอยู่อย่างสงบเป็นเวลานาน เพียงเพื่อมาถูกปลุกให้ตื่นอย่างกะทันหัน[17] ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นการสร้างขึ้นใหม่ของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ความทรงจำเป็นปรากฏการณ์ของปัจจุบันขณะ พันธนาการเราเข้ากับปัจจุบัน ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นความพยายามเสนอภาพอดีต ความทรงจำเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและการเล่นกล เปราะบางที่จะถูกแปรเปลี่ยน คัดสรร ตัดตอนแก้ไข ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นกิจกรรมทางปัญญา มุ่งที่การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ ความต่างที่สำคัญอีกประการคือ ความทรงจำเป็นของบุคคลหรือของกลุ่มที่เชื่อมต่อกัน ความทรงจำจึงมีมากมายหลากหลาย แต่โดยธรรมชาติของมันแม้จะมีความหลากหลาย กระนั้นก็ยังมีความเฉพาะเจาะจง และยังคงดำรงลักษณะปัจเจกท่ามกลางความทรงจำรวมหมู่ ในขณะที่ประวัติศาสตร์นั้นอ้างตัวเองว่าเป็นของทุกคน ไม่เลือกหน้า และดังนั้นจึงเป็นสากล และสุดท้ายแล้วเป้าหมายของประวัติศาสตร์ก็คือ การปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากความทรงจำ ทำลายความทรงจำ และเข้าแทนที่ความทรงจำในที่สุด[18]
Pierre Nora นักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำ มีทัศนะว่าความทรงจำเป็นการจัดการอดีตของสังคมโบราณดั้งเดิม ในขณะที่เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ความทรงจำจะถูกกดเอาไว้ และถูกการจัดการอดีตแบบประวัติศาสตร์เข้าแทนที่[19] ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ไทยท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว เขาไม่คิดว่ามีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างความทรงจำกับประวัติศาสตร์อย่างที่ Nora เสนอ โดยเฉพาะในกรณีของสังคมไทยซึ่งไม่เคยมีการแตกหักอย่างแหลมคมทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา ในสังคมแบบนี้ความทรงจำไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่ทั้งสองดำรงอยู่ร่วมกัน ผสมผสานและถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน[20] แต่ในงานชิ้นสำคัญของ Nora เองก็แสดงให้เห็นว่าความทรงจำมิได้มลายหายไปโดยสิ้นเชิงในสังคมสมัยใหม่ หากมันไปปรากฏอยู่ในรูปลักษณ์ที่เรียกว่า site of memory (แปลมาจากภาษาฝรั่งเศษที่ว่า lieux de me’moire) ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปลักษณ์หลากหลายพิสดารออกไป ตั้งแต่ในรูปสิ่งของวัตถุ สถานที่ กลุ่มองค์กร หรือพิธีกรรม เช่น ปฏิทิน,รูปปั้น, อนุสาวรีย์, ตำราประวัติศาสตร์,บันทึกความทรงจำ, สุสาน,จุดท่องเที่ยว, พิพิธภัณฑ์, พิธีรำลึกต่างๆ, องค์กรรวมรุ่นต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญต่างๆ(ที่จริงแล้วก็คือความคิดต่อเหตุการณ์นั้นๆ) ด้วย จุดร่วมสำคัญเบื้องหลังความหลากหลายของสิ่งเหล่านี้ก็คือ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของความตาย มรดกต่างๆของชาติ หรือการทำให้อดีตปรากฏในปัจจุบัน[21] site of memory เป็นพื้นที่ของการผสมผสาน แปรเปลี่ยนได้ มีส่วนประกอบทั้งความเป็นกับความตาย ความเป็นชั่วคราวและความเป็นนิรันดร์ จุดมุ่งหมายของการดำรงอยู่ของมันก็เพื่อหยุดเวลาเอาไว้ สะกัดยับยั้งความหลงลืม ตรึงสภาพของสิ่งที่มันรำลึกถึง ทำสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้ปรากฏขึ้น และทำความตายให้เป็นอมตะ[22] site of memory เป็นปราการค้ำจุนอัตลักษณ์ของเรา คุณค่าความสำคัญของมันยิ่งโดดเด่นเมื่อสิ่งที่มันมุ่งหมายจะจดจำถูกคุกคาม แยกสลาย หรือกำลังถูกทำให้หายไปจากชีวิตของเรา[23]
หากลองนำความคิดข้างต้นมาประยุกต์มองกรณีที่เรากำลังพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า (ความคิดต่อ) เหตุการณ์สำคัญอย่าง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ก็จัดเป็น site of memory ที่สำคัญในสังคมไทย มีความพยายามที่จะลบเหตุการณ์นี้ออกจากความทรงจำ[24] จัดการมันด้วยความเงียบ แต่ก็อำนาจรัฐไทยก็ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงพอที่จะควบคุมความทรงจำของคนไว้ได้ เมื่อไม่ให้มีประวัติศาสตร์ ความทรงจำก็วิ่งพลุกพล่านไปหมด และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าความทรงจำเป็นปริมณฑลของอำนาจและการต่อต้านขัดขืน จึงเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขัน ทั้งตัวบุคคล/กลุ่มบุคคลมากมายในสังคมไทยพากันออกมาผลิต/รื้อฟื้น//สืบทอด/ปกปักรักษาความทรงจำนี้ผ่านรูปลักษณ์หลากหลาย site of memory มีตั้งแต่ บันทึกความทรงจำ[25] การจัดพิธีศพให้กับวีรชนผู้เสียชีวิต[26] การจัดงานรำลึกครบรอบปีของทั้งสองเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน[27] วีดีโอบันทึกเหตุการณ์[28] สมุดภาพ หอจดหมายเหตุ รูปปั้นประติมากรรม และแน่นอน รวมทั้งอนุสาวรีย์[29] กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ มาคึกคักในช่วงวิกฤติศรัทธา(จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) และยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
เราลองมาพิจารณาความทรงจำเกี่ยวกับทั้งสองเหตุการณ์นี้ในปัจจุบันสัก 2-3 ตัวอย่าง
ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพจอมพล ประภาส จารุเสถียร(17 ม.ค.2541) มีข้อเขียนชิ้นหนึ่งของพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯว่าเป็นผลการกระทำของคอมมิวนิสต์ และเรียกนักศึกษาปัญญาชนที่เคยเข้าป่าและกลับออกมาในกลางทศวรรษ 2520 ว่า “กลุ่มเดนตายที่รัฐบาลให้ออกจากป่ามาพัฒนาประเทศ” ทั้งยังชี้แนะให้ดูพฤติกรรมของพวกนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “มหาวิทยาลัย นักศึกษา อาจารย์แห่งนี้ซ่องสุมกันทำอะไรขึ้นในบ้านเมือง”[30]
นอกจากนั้นยังมีความทรงจำจากปากคำของอดีตผู้คนที่เคยต่อต้านบทบาทของนักศึกษาในสมัยปี 2516-2519 หลายท่านที่น่าสนใจเก็บมาพิจารณา คนแรกคือ สมศักดิ์ ขวัญมงคล อดีตผู้นำกระทิงแดงให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีในวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯว่า “หลังจาก 6 ตุลา บ้านเมืองเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ไม่มีการปลุกม็อบเช้าเย็น ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จ แม้ว่าเราจะถูกประณามว่าใช้ความรุนแรง เราก็ต้องยอมรับในส่วนนั้น”[31]
คนสุดท้ายคือ พล.ต.สุตสาย หัสดิน อดีตเจ้าพ่อกระทิงแดงผู้อื้อฉาว ก็ให้ทัศนะต่อเหตุการณ์ทั้งสองรวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตไปในครานั้นว่า “คนที่ไปเผาป้อมยาม ตีไฟจราจร จะให้เป็นวีรชนได้ยังไง ผมคิดว่า 6 ตุลาไม่รุนแรงนะ คนก็ตายแค่นั้น เดี๋ยวเดียวก็จบ ไม่ใช่วันเดียวด้วยซ้ำ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 7 โมงเช้าเท่านั้น 14 ตุลารุนแรงกว่า เพราะไปอาละวาด สู้กันตามถนนหนทาง เผาบ้านเผาเรือน”[32] และอีกตอนหนึ่งว่า “เรื่องนี้สุดแท้แต่ใครจะคิด แต่สำหรับผม ผมมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยยังรักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้”[33]
ภาพของอดีตที่ความทรงจำเหล่านี้บรรยายคืออะไร? ก็คงเห็นว่า มันคือภาพของนักศึกษาที่มีเจตนาไม่ดีแอบแฝงต่อชาติไทยสังคมไทย ก่อความวุ่นวายไร้ระเบียบจนบ้านเมืองสับสน เป็นอนาธิปัตย์ แถมการเคลื่อนไหวบางครั้งก็เปิดโอกาสให้กลุ่มคนอื่นมาร่วมสร้างความวุ่นวาย นอกจากนี้ยังฝักใฝ่ในลัทธิชั่วร้าย มุ่งทำลายสถาบันหลักของชาติ มีจิตใจและพฤติกรรมนิยมความรุนแรงก้าวร้าว ที่สำคัญยังไม่กตัญญูรู้คุณ ก่อความเดือดร้อนให้แม้แต่คนที่เป็นครูบาอาจารย์ บาปทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยถูกโยนไปไว้บนบ่าของขบวนการนักศึกษา ส่วนคุณงามความดีนั้นตกอยู่กับผู้รักชาติทั้งหลายที่ช่วยกันออกมาต่อต้านยับยั้งการกระทำของนักศึกษาไว้ได้ทัน สามารถปกปักรักษาสถาบันหลักของชาติและประชาธิปไตยอันเป็นที่รักไว้ได้ แล้วสังคมไทยก็กลับสู่ความเป็นปกติสุข เข้ารูปเข้ารอยของมันอย่างที่เคยเป็น ที่น่าสนใจคือ ความทรงจำเชิงลบ(negative memory) นี้สร้างขึ้นทั้งจากฝ่ายที่ต่อต้านนักศึกษาและอดีตนักศึกษาบางคนที่ครั้งหนึ่งก็เคยเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนตุลาเอง แน่นอนว่าความทรงจำเชิงลบนี้เป็นความทรงจำที่ถูกเลือกสรร(selective memory)โดยผู้จำ คือคัดบางอย่างทิ้ง เก็บรับบางอย่างไว้ ใส่สีสัน คุณค่า ความหมายให้กับมัน จนความทรงจำเชิงลบนี้ดูจะสามารถครอบงำความทรงจำสาธารณะ(public memory) ได้พอสมควร ถึงกับครั้งหนึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535 14 ตุลาฯถูกนำไปโฆษณาหนังเชิงแนะนำตักเตือนว่า “นิสิตเอ๋ย อย่าพลาดเพราะ’อาจเหมือน 14 ตุลาฯ’“[34] 14 ตุลาฯในความทรงจำเชิงลบนี้กลายเป็นเรื่องของนักศึกษาที่ไร้เดียงสา และก่อการกระทำวุ่นวายจนเกิดความผิดพลาดขึ้นในบ้านเมือง
ความทรงจำเชิงลบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะ 4-5 ปีมานี้ แต่เราสามารถย้อนร่องรอยกลับไปได้ตั้งแต่สมัยวิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2 ที่สำคัญก็คือ ในครั้งนั้นนักศึกษาปัญญาชนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ผลิตความทรงจำเชิงลบนี้เสียเอง

ความทรงจำเชิงลบต่อขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาในวิกฤตศรัทธา/แสวงหาครั้งที่ 2
ดังได้ชี้ให้เห็นในหัวข้อที่แล้วว่า ยุควิกฤติศรัทธาเป็นช่วงที่มีการหันกลับไปทบทวนเหตุการณ์เดือนตุลาอย่างคึกคัก และมีการผลิตความทรงจำออกมามากมาย แต่ความทรงจำอันมากมายนี้แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีจุดร่วมบางประการคือ มองบทบาทของนักศึกษาในช่วงเดือนตุลาไปในทางลบ ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันทั่ว
ไป[35] และส่งผลต่อข้อเสนอว่าบทบาทของนักศึกษาควรจะเป็นเช่นไรในปัจจุบัน จากการสำรวจผู้เขียนพบว่าแหล่งที่มาของความทรงจำชนิดนี้มาจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ นักศึกษาที่เข้ามาทำกิจกรรมในยุควิกฤตศรัทธา นักคิดฝ่ายพุทธ และงานวิชาการบางชิ้น
งานเขียนดกดื่นที่ปรากฏในจุลสาร/หนังสือที่จัดทำโดยนักศึกษาในช่วงปี 2523-2525 สะท้อนหรือบอกเล่าให้เห็นถึงความสับสน การขาดความเชื่อมั่น และอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ต่อการดำเนินกิจกรรมเพื่อคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในแวดวงนักศึกษานักกิจกรรม[36] ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งในปี 2524 ยอมรับว่าเรากำลังก้าวเข้าสู้ยุคที่ “นักศึกษากำลังซบเซา” เขายังแสดงทัศนะอีกว่า สิ่งที่เรียกว่าถูกต้องในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นเพียงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาเคยแสดงออกต่อสังคมรวมทั้งความคิดต่างๆก็ควรจะถูกท้าทายทบทวน ท้ายสุดเขาเห็นว่า บทบาทขบวนการนักศึกษาต่อสังคมก็ควรถูกหยิบยกมาถกเถียง และแน่นอนว่าเขาพูดถึงการทบทวนฐานะทางประวัติศาสตร์และบทเรียนของ 14 ตุลาด้วย[37] คงไม่แปลกใจหากจะบอกว่าผู้นำนักศึกษาผู้นี้คือ ผู้ที่เสนอคำเรียกขานยุคสมัยของเขาว่า “ยุคสมัยแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2”
ความทรงจำของนักศึกษาในยุคแสวงหาครั้งที่ 2 เกี่ยวกับ14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯและบทบาทของนักศึกษาในช่วงนั้น สรุปออกมาได้คือ พากันเห็นว่าช่วง 2516-2519 เป็นความผิดพลาด ซ้ายเกินไป ดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความคิดจิตใจของคนไทย(โดยเฉพาะคนชั้นกลาง) ถูกครอบงำด้วยความคิดสังคมนิยมของพคท.โดยขาดการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้นักศึกษาแปลกแยกจากมวลชน ถูกโดดเดี่ยว จนถูกปราบในที่สุด ความพ่ายแพ้นี้นักศึกษากลายเป็นเหยื่อเพราะความไม่สุขุมรอบคอบของตัวเอง[38]
ความทรงจำเชิงลบดังกล่าวที่มองว่าขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ 14 ตุลาฯถึง 6 ตุลาฯ เป็นเรื่องของความผิดพลาดและพ่ายแพ้ จึงนำมาสู่ข้อเสนอว่า อย่าซ้ายจัด อย่าเคลื่อนไหวมากนัก สุขุมรอบคอบให้มาก ประสานรอมชอมกับกลุ่มพลังต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีก เช่น มีการเสนอให้นักศึกษาประสานความร่วมมือกับกลุ่มทหารและนายทุนอุตสาหกรรมใหญ่เพราะมีความต้องการประชาธิปไตยเหมือนๆกัน ความทรงจำเชิงลบที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นคำขู่ที่มีประสิทธิภาพในการปรามให้นักศึกษาลดบทบาทของตนเองเสีย ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่ออีก ซึ่งผลลัพธ์รูปธรรมของมันก็คือปฏิบัติการทางสังคมของนักศึกษาลดน้อยถอยลงไปอย่างมหาศาล และในกรณีที่มีการเคลื่อนไหว ระดับของความแหลมคมหนักแน่นในการปฏิเสธระบบสังคมที่ดำรงอยู่ก็ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย
ขณะที่ในแวดวงขบวนการนักศึกษาเองกำลังมีการถกเถียงทบทวนบทบาทของตนในอดีตอย่างดุเดือดเข้มข้นนั้น นักคิดปัญญาชนกลุ่มหนึ่งก็เข้ามามีส่วนสมทบการรื้อฟื้นอดีตครั้งนี้ด้วย นักคิดกลุ่มนี้คือ นักคิดฝ่ายพุทธที่ให้ความสำคัญกับการนำศาสนาพุทธมารับใช้ปัจเจกบุคคลและสังคม ปฏิเสธการนับถือศาสนาแต่เพียงพิธีกรรมและรูปเคารพ ปัญญาชนคนสำคัญของกลุ่ม คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พร้อมกับลูกศิษย์อีกจำนวนหนึ่งอาทิเช่น พระประชา ปสนนธมโม(ประชา หุตานุวัตร) พระไพศาล วิสาโล วิศิษฐ์ วังวิญญู สันติสุข โสภณสิริ เวทีสำคัญในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มอยู่ที่ วารสารปาจารยสาร การหันกลับไปมองอดีตของนักคิดกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างจากกลุ่มแรกเท่าไรนักแต่มีแง่มุมวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างเพิ่มเติมและน่าเชื่อว่าส่งอิทธิพลต่อกลุ่มแรกในบางระดับด้วย โดยเฉพาะความคิดของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
ในช่วงปี 2522-2526 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาในอดีตไว้มากมาย สุลักษณ์เล่าให้นักศึกษารุ่นหลังฟังว่าที่รุ่นที่แล้วมาล้มเหลวก็เพราะคิดว่าตัวเองเป็นพระเอก ไม่ฟังใคร หลงนึกว่าตนเองได้รับชัยชนะ นึกว่าตนเองเป็นฮีโร่ เข้าไปแก้ปัญหาทุกเรื่องจนคนรำคาญ[39] มองปัญหาเป็นขาวดำ และยังอ่อนหัด ไร้เดียงสา และนิยมความรุนแรง การคัดสรรความทรงจำของสุลักษณ์ที่มีต่อเหตุการณ์ช่วงปี 2516-2519 มาเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง ให้ภาพของนักศึกษาที่อ่อนหัด ไร้เดียงสา ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มต่างๆในเวลานั้น นิยมความรุนแรง และยุ่งไปทุกเรื่องจนพาคนไปตาย ความทรงจำเช่นนี้ไม่ว่าจะมาจากความหวังดีอย่างไรย่อมบั่นทอนความคิดที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสังคมของนักศึกษา ความเชื่อมั่นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่มีปัญหา มันกลายเป็นทั้งบทเรียน คำเตือน คำขู่ และคำพิพากษา หรือมันอาจจะเป็นการแก้เผ็ดอดีตของสุลักษณ์[40] แต่อาจจะโดยไม่รู้ตัว ในกระบวนการพิพากษาอดีตผ่านการบอกเล่าความทรงจำนี้ สุลักษณ์ได้ทำให้เหยื่อกลายเป็นอาชญากร(ไร้เดียงสาแต่ก็ชอบความรุนแรง)ไปด้วย และกลายเป็นความทรงจำเชิงลบต่อขบวนการนักศึกษาแบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำสาธารณะของสังคมไทย
งานอีกชิ้นหนึ่งขอกนักคิดในกลุ่มนี้ที่จะหยิบยกขึ้นมาคืองานของ สันติสุข โสภณสิริ ที่ชื่อว่า “สุญญากาศทางอุดมการณ์ ความกึ่งดิบกึ่งดีของฝ่ายก้าวหน้าไทย”(2527)[41] กล่าวได้ว่างานชิ้นนี้ เป็นงานที่ผู้เขียนบอกเล่าอดีตของขบวนการนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ด้วยท่วงทำนองที่ดุเดือดรุนแรง บริภาษใส่ขบวนการนักศึกษาในอดีตอย่างไม่ใยดี บรรยายถึงความเอียงซ้ายสุดขั้ว มีแต่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่ขาดความเข้าใจชีวิตในมิติลึก ขาดความเข้าใจจริยธรรมขั้นพื้นฐาน(นี่เป็นข้อหาที่นักคิดฝ่ายนี้ทุกคนโจมตีขบวนการนักศึกษาในอดีต) การรับเอาความคิดสังคมนิยมของพคท.กลายเป็นอาชญากรรมที่ถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสียว่านักศึกษาขาดสติปัญญาและความกล้าหาญทางจริยธรรม มีแต่ความฝันเฟื่อง การมีศรัทธาต่อประชาชนและมุ่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามถูกมองเพียงว่านักศึกษาทำไปเพราะเป็นแฟชั่น ซ้ำร้ายนักศึกษาอาจจะเป็นเพียงแค่นักฉวยโอกาสเท่านั้น[42]
ข้อเสนอว่านักศึกษาคนหนุ่มสาวในเวลานั้นควรจะทำอะไรของนักคิดกลุ่มนี้จึงเป็นการหันไปสร้างพลังของปัจเจกบุคคล เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และความสามารถส่วนบุคคล ดังที่ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์กล่าวไว้ในปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ปี 2526 ไว้ว่า ”เรามีปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า คนเพียงคนหนึ่งถ้ามีความคิดที่ถูกต้อง และมีความเพียรพยายามที่จะกระทำตามแนวทางนั้นแล้วก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สังคมได้อย่างมาก”[43] พร้อมไปกับบอกเล่าความทรงจำเชิงลบต่อขบวนการนักศึกษา นักคิดฝ่ายนี้ได้หยิบยกปัจเจกบุคคลบางคนขึ้นมายกย่อง และยกให้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง และฉายภาพเปรียบเทียบให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีในสิ่งที่ขบวนการนักศึกษาไม่มี คือ ความเป็นอิสระ แสวงหา มีคุณธรรมจริยธรรม แนบแน่นกับอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ รู้ชัดว่าต้องการอะไร คำเนินชีวิตตามความเชื่อของตนอย่างไม่ลังเล การยกย่องปัจเจกบุคคลไม่ใช่เรื่องเสียหายเสียทีเดียว แต่การยกย่องตัวบุคคลโดยกดข่มคุณค่าของปฏิบัติการทางสังคมของกลุ่มคนหนุ่มสาวผ่านการบอกเล่าแต่ความทรงจำด้านลบจนขบวนการนักศึกษากลายเป็นปีศาจ ไม่เห็นด้านที่เป็นความเสียสละ กล้าหาญ และพลังของการรวมกลุ่ม และหันไปสร้างความทรงจำที่วิเศษสมบูรณ์จนเกินจริงให้กับปัจเจกบุคคลเหล่านั้น จนทุกท่านกลายเป็นเทวดายิ่งกว่ามนุษย์ปุถุชนที่ย่อมต้องมีการเรียนรู้ทดลอง ผิดพลาดล้มเหลว สับสนท้อแท้เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่น ใช่หรือไม่ว่านี่คือการสร้างมายาภาพขึ้นมาลวงตาคนรุ่นหลังอย่างร้ายกาจแนบเนียน ทั้งบั่นทอนและไม่เกื้อหนุนส่งเสริมสปิริตของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
แหล่งที่มาสุดท้ายที่มีบทบาทในการพยายามฝังรอยประทับความทรงจำเชิงลบบนความทรงจำสาธารณะของสังคมไทย คืองานวิชาการประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาบางชิ้น “งานวิชาการ” เหล่านี้วิเคราะห์และนำเสนอประวัติศาสตร์โดยรับเอาความทรงจำเชิงลบชุดหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจากแหล่งที่มาสองแหล่งข้างต้น พยายามยกระดับความทรงจำให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเชิงอรรถอ้างอิง ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้กลายเป็นความจริงสากลที่เป็นกลาง แต่ก็อย่างที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้กล่าวเตือนและชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทุกชิ้นมักจะอ้างว่างานของตนเที่ยงตรงต่อข้อเท็จจริง สามารถสะท้อนความเป็นจริงของอดีตอย่างรอบด้านสมบูรณ์ โดยไม่เคยตระหนักเลยว่างานของตนนั้นพูดแทนความทรงจำบางส่วนบางเสี้ยวเท่านั้น[44] ความข้อนี้ปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจนในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เขียนถึงขบวนการนักศึกษาไทยในช่วง 14 ตุลาฯ -6 ตุลาฯ
งานชิ้นแรกๆในกลุ่มนี้น่าจะเป็นงานของถนอมฤทธิ์ ธรรมราษฎร์ (นามปากกา) เรื่อง “บันทึกเชิงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของขบวนการนักศึกษาไทย” ตามมาด้วย พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม “ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และความสัมพันธ์กับพคท.” สุดท้าย งานในแนวนี้ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ในวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ของ คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง เรื่อง “ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการนักศึกษาไทยระหว่าง พ.ศ.2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”[45] โครงเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์กลุ่มนี้มีอยู่ง่ายๆว่า เริ่มบรรยายถึงการก่อเกิดของขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลาฯซึ่งมีลักษณะเป็นอิสระ แสวงหา มีความเป็นนักคิด และนักมนุษยธรรมสูง ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองมีประชาธิปไตย นักศึกษาเริ่มรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวทีละเล็กละน้อยจนสะสมชัยชนะมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมามีบทบาทนำและได้รับชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ต่อมาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯไม่นานนัก นักศึกษายังคงมีความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยซึ่งต่อเนื่องมาจากขบวนการนักศึกษารุ่นก่อนหน้า 14 ตุลาฯ แต่แล้วขบวนการนักศึกษาก็เปลี่ยนไปรับความคิดสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อยๆโดยมีเป้าหมายและแนวทางในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ระบอบสังคมนิยม ขบวนการนักศึกษาได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ตกอยู่ภายใต้การครอบงำและชี้นำจากพคท. และเมื่อนักศึกษามีความคิดเปลี่ยนไปในทางสังคมนิยมมากยิ่งขึ้นก็ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆของขบวนการนักศึกษาซ้ายจัดมากขึ้น เป็นไปในทางที่เผชิญหน้ากับอำนาจรัฐอย่างรุนแรงและแหลมคม ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนและชื่นชมนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นักศึกษาจึงถูกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากสังคมมากขึ้น มีความชอบธรรมน้อยลง จนถูกฝ่ายอำนาจรัฐทำการตอบโต้อย่างรุนแรงและถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นการยุติบทบาทของขบวนการนักศึกษาในที่สุด
โครงเรื่องที่พัฒนามาจากความทรงจำเชิงลบที่แพร่หลายในช่วงวิกฤตศรัทธานี้ได้ตอกย้ำความผิดพลาดพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาในอดีตอีกครั้ง เมื่อมาถึงปลายทศวรรษ 2520 ความทรงจำเชิงลบที่มีแหล่งที่มาจากทั้ง 3 แหล่งข้างต้นที่บรรยายมาก็ได้กลายเป็นทัศนะที่ยอมรับกันทั่วไป ปฏิบัติการทางสังคมที่ลดน้อยถอยลงของขบวนการนักศึกษาเป็นผลส่วนหนึ่งจากข้อเสนอต่างๆที่ให้กลับไปพัฒนาศักยภาพในระดับปัจเจกบุคคล ให้สุขุมรอบคอบ อย่าเคลื่อนไหวมากนัก ประนีประนอมรอมชอมได้เป็นดี ข้อเสนอเหล่านี้วางอยู่บนความทรงจำเชิงลบซึ่งเป็นความทรงจำที่ถูกเลือกสรรมาเป็นบทเรียนและคำขู่ต่อนักศึกษารุ่นหลัง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการผลิตความทรงจำเชิงลบกันอย่างเข้มข้นอยู่นั้น ก็ได้มีความพยายามเล็กๆที่จะเสนอความทรงจำเชิงบวกขึ้นมาปะทะแข่งขันด้วย

ความทรงจำเชิงบวก: ความทรงจำแย้งที่ต้องปิดฉากด้วยความพ่ายแพ้?
เนื่องจากความทรงจำเป็นพื้นที่ของอำนาจและการต่อต้านขัดขืน จึงมีการประชันขันแข่งกันเสมอในสนามของความทรงจำ เพื่อแย่งชิงพื้นที่กันในความทรงจำสาธารณะหรือความทรงจำแห่งชาติ ใครยึดกุมความทรงจำสาธารณะได้ก็ยึดกุมปัจจุบัน และอนาคตของสังคม ในการที่จะบอกว่าควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร[46] เพราะความทรงจำเป็นตัวการนิยามความสัมพันธ์ที่เรามีต่ออดีต เป็นการทำให้เราค้นพบรากของตนเอง รู้ว่าสังกัดของเราอยู่ที่ไหน มันจึงเป็นแหล่งที่มาของอัตลักษณ์ที่เต็มไปด้วยคุณค่าความหมาย[47] แน่นอนว่าในการแข่งขันนี้ความทรงจำบางชนิดอาจจะมีฐานะครอบงำความทรงจำแบบอื่นๆ แต่สถานะดังกล่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ[48]
ความทรงจำของทุกฝ่ายทุกคนล้วนเป็นความทรงจำที่เลือกสรร(selective memory) ความจริงข้อนี้ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาอยู่ที่ว่าความทรงจำที่เลือกสรรนั้น ได้เลือกที่จะจำอะไรและไม่จำอะไร หากเปรียบอดีตเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่บนเวที ความทรงจำที่เรามีต่ออดีตก็เปรียบเหมือนแสงไฟจากสปอตไลท์ที่คอยสาดส่องไปบนเวที สปอตไลท์ตัวหนึ่งๆย่อมไม่อาจให้ความสว่างกับทุกสิ่งที่อยู่บนเวทีได้ฉันใด ความทรงจำของบุคคลหนึ่งๆก็ฉันนั้น มันอาจจะเลือกฉายไปที่ตัวละครโดยไม่สนใจฉากที่อยู่เบื้องหลัง มันอาจจะจับไปที่พระเอกโดยไม่สนใจตัวประกอบอื่นๆ หรือมันอาจจงใจที่จะฉายไฟเพื่อจับผิดตัวละครในตอนที่เขาสะดุดหกล้มเพื่อเรียกเสียงหัวเราะเยาะจากคนดู ใช่หรือไม่ว่าความทรงจำเชิงลบที่มีต่อขบวนการนักศึกษาก็เลือกที่จะจำเพียงบางอย่าง ลืมบางอย่าง เลือกเน้นย้ำการกระทำบางด้าน แต่งแต้มเติมสีมันให้กับมัน ในขณะเดียวกันก็บดบังการกระทำบางด้านหรือทำให้มันสลัวๆเสีย ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ โดยการบอกเล่าความทรงจำอีกชุดหนึ่งออกมาเพื่อคานและถ่วงดุล
ชินทัศน์(นามแฝงของอดีตผู้นำนักศึกษาท่านหนึ่ง) ออกมาตอบโต้กับสิ่งที่เรียกว่าการแสวงหาครั้งที่สองที่หันไปดูหมิ่น ลดทอนคุณค่าของบทบาทนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ- 6 ตุลาฯ ที่สร้างให้กับสังคมไทย ที่บอกเล่ากันว่านักศึกษาช่วงนั้นรุนแรงไร้เดียงสา ไร้ความรู้และประสบการณ์ มีแต่ศรัทธา จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมนั้น ชินทัศน์แย้งว่าความอ่อนหัด ไม่ค่อยมีความรู้ สูตรสำเร็จ ทฤษฎีง่ายๆตายตัวที่ถูกประณามเหล่านี่นั่นแหละที่ได้ทำหน้าที่อย่างสำคัญในยุคสมัยของมันและมีคุณูปการมาถึงสมัยหลัง ปฏิบัติการทางสังคมการเมืองของนักศึกษาในยุคนั้นเป็นการตอบโต้กับระบบที่ดำรงอยู่ของสังคมอย่างถึงราก เป็นหัวหอกทะลุทะลวงปราการวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมทุกด้าน ความก้าวร้าวและการปฏิเสธอย่างถึงรากได้แผ้วถางแก่การขยายตัวของการผลิตหนังสือ วรรณกรรม การวิจารณ์ รวมถึงการตื่นตัวทางวิชาการขนานใหญ่ นำรสชาติและวิญญาณใหม่ๆมาสู่ศิลป ดนตรีที่ท้าทายและแหวกกรอบ สร้างค่านิยมที่ไม่เคยแข็งแกร่งมาก่อนในหมู่คนไทย เช่น ความสนใจทางการเมือง ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทำให้ผู้เสียเปรียบในสังคมรู้จักและกล้าที่จะรวมตัวเพื่อพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของพวกเขา[49] ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นด้านที่ดีงามและสร้างสรรค์ของขบวนการนักศึกษาในอดีตที่ถูกละเลยไปในความทรงจำเชิงลบ การสร้างความทรงจำเชิงลบจึงเป็นวิธีการที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการลดทอนความเป็นการเมือง (depoliticization) ของขบวนการนักศึกษา สร้างความชอบธรรมให้กับการเลิกที่จะปฏิเสธหรือท้าทายกับระบบสังคมที่ดำรงอยู่อย่างถอนรากถอนโคน และหันไปประนีประนอมกับระบบแทน ด้วยข้ออ้างของความสุขุม ไม่ซ้ายจัด
ในปีเดียวกันนั้น เกษียร เตชะพีระอดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในสมัยหลัง 14 ตุลาฯ ก็บอกเล่าความทรงจำด้านที่งดงามมีคุณค่าความหมายของขบวนการนักศึกษาในอดีตต่อนักศึกษารุ่นหลัง ผ่านบทบันทึกของเขาชิ้นหนึ่งที่ชื่อ “บันทึกความรู้สึกแห่งยุคสมัย” ลงตีพิมพ์ในหนังสือต้อนรับเพื่อนใหม่ ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2536 ความตอนหนึ่งในบันทึกนี้บอกเล่าอย่างชัดเจนว่า

แน่นอนผมยังอ่อนวัยขาดประสบการณ์ในวินาทีที่เดินเข้าป่าไป แต่การขยายความผิดพลาดจุดนั้นเสียจนเกินจริง เกินปริบทที่จำเป็นและเป็นจริงทางภาววิสัยของประวัติศาสตร์ ขยายมันจนปิดบังด้านที่ถูกต้อง รุ่งโรจน์ ก็จะมิใช่อาชญากรรมของนักตีความทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งหรือ? ปัจจุบันไม่เคยมีใครบอกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ดี ถูกต้องสมควรจะเกิด ไม่มีใครบอกว่าพวกขวาจัดที่ก่อรัฐประหารนองเลือดทำถูก ไม่มีใครยกย่องรัฐบาลหอย ไม่มีใครปกป้องออกหน้ารับแทนพคท. แต่มีใครเห็นหรือพุดออกมาดังๆบ้างไหมว่า จิตใจของเยาวชนคนหนุ่มสาวเรือนพันที่ถอดเครื่องแบบนักศึกษาลาพ่อแม่ญาติมิตรคนรัก ทิ้งสุขนานาที่รอให้เสพในสังคมไปตรากตรำลำบากเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทำสงครามอยู่ในรกในพงนั้นถูกต้อง? ไม่มี! ใครจะว่าอะไรผิดหรือผมผิดมหาผิดก็ว่าไป แต่อย่างหนึ่งที่ผมคิดผมเชื่อคือ จิตใจแบบนั้นถูกต้อง ยิ่งใหญ่ ควรศึกษา เชิดชู ส่งเสริม เพราะเอาล่ะ ไม่ว่ามันจะผิดถูกทางความรับรู้ความเข้าใจอย่างไรก็ตาม มันคือจิตใจที่สละมวลประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ของประชามหาชน[50]

บันทึกชิ้นนี้ของเกษียรก็คือ เสียงประท้วงต่อความทรงจำเชิงลบที่กำลังทำงานอย่างแข็งขันในช่วงนั้น แต่ดูเหมือนความทรงจำเชิงลบที่เกษียรปะทะตอบโต้ด้วยกำลังกลายเป็นความทรงจำของสังคมเข้าทุกที
การแข่งขันกันของความทรงจำเชิงลบ(negative memory) กับความทรงจำเชิงบวก(positive memory) ในยกแรกนี้จึงดูจะจบลงด้วยการผงาดขึ้นมีฐานะครอบงำของฝ่ายแรกในความทรงจำสาธารณะของสังคมไทย

ข้อเสนอว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษาในปัจจุบัน: การหลอกหลอนของความทรงจำ
เมื่อขึ้นทศวรรษ 2530 ก็แทบไม่มีใครมานั่งถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทขบวนการนักศึกษากันอีก ความเงียบปกคลุมไปทั่ว ความซบเซาของกิจกรรมนักศึกษาก็เป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาที่ไม่ต้องอาศัยการสังเกตุอย่างใกล้ชิด ก็สามารถรับรู้ได้โดยทั่วไป สปิริตของการมีส่วนร่วมทางการเมืองหายไปกับความทรงจำเชิงลบ จนนักศึกษาทั่วไปก็รู้สึกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเรื่องน่าอันตราย หวาดเสียว สกปรก เสียเวลา และพ้นสมัยเสียแล้ว “เราเป็นแค่นักศึกษา ความรู้ ประสบการณ์อะไรก็ไม่ค่อยมี ไปยุ่งเรื่องการเมืองก็ตกเป็นเครื่องมือของคนอื่นเปล่าๆ” “ไปยุ่งเรื่องการเมืองมากๆเดี๋ยวก็เป็นแบบ 6 ตุลาหรอก ไม่เข็ดหรือ?” “เราเป็นแค่นักศึกษาตัวเล็กๆ แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว” “หน้าที่ของเราคือเรียนหนังสือ ศึกษาหาความรู้นะ ไม่ใช่ไปเย้วๆ ก่อความวุ่นวาย” ใครไม่เคยได้ยินประโยคเหล่านี้บ้าง?
ที่มาของประโยคเหล่านี้ที่หลุดออกมาจากปากคำของนักศึกษารุ่นใหม่ ล้วนเป็นผลมาจากความทรงจำเชิงลบที่แพร่หลายจนพวกเขาคุ้นชิน ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ทั้งจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม และสื่อมวลชนสารพัดชนิด มันกลายเป็นความทรงจำที่ก่อร่างอัตลักษณ์ของเขาขึ้นมา นักศึกษาคือใคร ทำอะไรได้/ไม่ได้บ้าง และควรทำ/ไม่ควรทำอะไร ดูจะมีคำตอบเสร็จสรรพรอพวกเขาอยู่แล้ว
แต่ใช่ว่าความทรงจำเชิงบวกจะพ่ายแพ้หรือถูกทำให้หายไปโดยสิ้นเชิง มันยังคงมีบทบาทต่อนักศึกษากลุ่มเล็กๆ เป็นแหล่งที่มา ก่อรูปก่อร่างอัตลักษณ์ให้กับพวกเขา หล่อเลี้ยงความฝัน ความมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทช่วยเหลือแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคม ต่อสู้เพื่อคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2527 เกิดชุมชนของความทรงจำเล็กๆที่สืบทอดกันมา แต่ในสภาวะที่นักศึกษาคุ้นชินกับภาพลักษณ์ในทางลบต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ฐานของชุมชนนี้จำกัดอยู่ในกลุ่มนักศึกษาเล็กๆไม่อาจขยับขยายออกไปได้มากนัก เกิดปัญหาเรื่องการขาดคนทำงานที่บ่นกันเสมอมา ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาที่แหวกฝ่าภาพลักษณ์ลบๆที่สกปรก วุ่นวาย ของกิจกรรมนักศึกษาในอดีต เข้ามาร่วมชุมชนดังกล่าวเพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่น้อยมาก
งานที่พยายามนำเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีดูจะมีจุดบอดมองไม่เห็นกลไกการทำงานของความทรงจำเชิงลบที่มาบั่นทอนกำลังใจและความกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษารุ่นใหม่ มุ่งเสนอแต่เพียงข้อเสนอรูปธรรมเฉพาะหน้าต่อคนทำงานเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้การแก้ปัญหาวนเวียนอยู่ที่เดิม และไม่สามารถขยายฐานของการเข้ามามีส่วนร่วมลงมือกระทำการสร้างสรรค์สังคมให้แผ่กว้างออกไปได้
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นให้มีการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทนักศึกษาต่อสังคมขึ้นมาในปัจจุบัน ซึ่งมีบางประเด็นที่อยากจะหยิบยกมาไว้ในที่นี้
ในแง่ข้อเสนอเรื่องแนวทางการเคลื่อนไหว ดูเหมือนจะมีความเห็นร่วมกันที่ให้เปลี่ยนวิธีคิดมุมมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว โดยเปลี่ยนจากเรื่องของการเมืองไปเป็นประเด็นและปริมณฑลทางวัฒนธรรม หรือกล่าวในอีกภาษาหนึ่งที่ไม่ต่างกันนักคือ ขยายนิยามของ “การเมือง” ให้กว้างขวางมากขึ้นจากเรื่องของการช่วงชิงอำนาจรัฐหรือการต่อสู้ผ่านสถาบันทางการเมือง ไปเป็นการเมืองเรื่องระบบคุณค่า ต่อสู้แย่งชิงในการให้ความหมาย นิยามสิ่งต่างๆในสังคม ผู้เขียนคิดว่าข้อเสนอดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทฤษฏีทางการเมือง 2 ชุด หนึ่งคือ แนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่(new social movement) และสองคือแนวคิดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม(cultural politics) ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้เสนอทั้งสอง และน่าจะเป็นข้อเสนอที่สร้างประโยชน์ต่อขยายกรอบวิธีคิดวิธีวิเคราะห์สังคมของนักศึกษาไปได้มากมายทีเดียว
ประเด็นถัดมาที่สังเกตได้ คือ สงครามของความทรงจำยังคงทำงานของมันอยู่จนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อความคิดและการกระทำของนักศึกษา หากสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรมอยู่นั้น ความทรงจำที่หลอกหลอนไม่ใช่ความทรงจำเชิงลบดังเช่นนักศึกษาทั่วไป หากเป็นความทรงจำเชิงบวกต่อขบวนการนักศึกษาในอดีตที่เกินเลย
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าความทรงจำเชิงบวกแม้จะไม่แพร่หลายเท่าความทรงจำเชิงลบ แต่ก็มีอิทธิพลในการให้แรงบันดาลใจต่อนักศึกษากลุ่มเล็กๆที่ทำกิจกรรม หากทว่านานวันเข้า สิ่งที่เคยให้แรงบันดาลใจ และเป็นตัวหล่อเลี้ยงความฝันความเชื่อมั่นในการทำกิจกรรม ก็กลับกลายเป็นแอกที่หนักอึ้ง เป็นรอยเท้าที่ยากจะเดินตาม และที่สุดก็กลายเป็น “ผี” ที่หลอกหลอนนักกิจกรรมรุ่นหลัง บางคนเรียกมันว่าเป็น “มายาภาพของเดือนตุลา” บางคนเรียกมันว่า “ผี” ถึงกับเสนอว่าการไล่ “ผี” เหล่านี้ออกไปจากหัวสมองเป็นภารกิจอันดับแรกที่นักศึกษาในปัจจุบันควรกระทำเพื่อที่จะไม่มองข้ามศักยภาพของคนรุ่นตัวเอง

มาร่วมกันสร้างความทรงจำอย่างสร้างสรรค์
ในภาวะปัจจุบันซึ่งการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน้ำเน่ายิ่งขึ้นทุกทีด้วยฝีมือของนักการเมืองและผู้มีอำนาจทั้งหลายซึ่งผูกขาดการเมืองไว้ในหมู่พวกตน ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมก็ดูจะยังคงมีอยู่อย่างคณานับและนับวันจะรุมเร้า บีบรัดชีวิตของผู้คนยิ่งขึ้นทุกวัน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาในฐานะสมาชิกของสังคมกลุ่มหนึ่งดูจะมีความสำคัญอย่างขาดมิได้ เพราะจะเป็นพลังให้กับการเปลี่ยนแปลงสังคมของเราให้น่าอยู่ เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีงามของทุกคน
ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันสร้างความทรงจำที่งดงามมาแทนที่ความทรงจำเชิงลบที่มองบทบาทของนักศึกษาในอดีตว่าเป็นเรื่องของความวุ่นวาย ก้าวร้าว รุนแรง ฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคม และมีแต่ความผิดพลาด การตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางของนักศึกษาคนหนุ่มสาวในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานกลับไม่ถูกเอ่ยถึงหรือถูกให้คุณค่า ฉะนั้นทำอย่างไรที่จะสร้างความทรงจำที่ให้เห็นด้านที่เสียสละ กล้าหาญ รักชาติบ้านเมืองจนยอมอุทิศชีวิตให้ได้ของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ความทรงจำเชิงบวกนี้น่าจะช่วยรื้อฟื้นและเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นใหม่เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันขึ้นมาอีกครั้ง
ขณะเดียวกันก็ควรจะระมัดระวังที่จะไม่สร้างความทรงจำนั้นให้ใหญ่โตเกินจริง หรือทำให้ขบวนการนักศึกษากลายเป็นเทวดาไปเสีย เพราะนั่นก็จะกลายเป็นอุปสรรคขวากหนามอีกแบบหนึ่งของการที่จะริเริ่มสร้างสรรค์ปฏิบัติการทางสังคมใดๆของนักศึกษารุ่นหลังด้วยเช่นเดียวกัน






[1] ตัวอย่างของงานวิชาการเหล่านี้ได้แก่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, “ม็อบมือถือ”:ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ:มติชน, 2536); สองนัคราประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ:มติชน, 2538); และบทความต่างๆใน วารสารธรรมศาสตร์ 19:1(ม.ค.-เม.ย. 2536) ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับชนชั้นกลางในการเมืองไทย.
[2] ดูใน สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ:ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง, 2536) เน้นโดยผู้อ้าง.
[3] อนุช อาภาภิรม, “บทบาทของนักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, วิพากษ์ทรรัฐ (กรุงเทพฯ:สามัคคีสาส์น, 2528).
[4] วัฒนชัย วินิจจะกูล และ บัณฑิต ธรรมตรีรัตน์(บก.), เถื่อนเมืองไทย (กรุงเทพฯ:พรรคแสงธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530).
[5] งานเหล่านี้มีอาทิ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, “ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ขบวนการนักศึกษา ทางเลือกที่ต้องมีคำตอบในเร็ววัน” ปาจารยสารฉบับหัวกะทิ 22:2 (มี.ค.-เม.ย.2538), หน้า 22-24; กิตติชัย งามชัยพิสิฐ, “ผ่าทางตัน:ข้อเสนอว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา” วารสารร่มพฤกษ์ 16:2 (ต.ค. 2540 – ม.ค. 2541), หน้า 47-73.
[6] ดู บทความของ ธัญญา สังขพันธานนท์, “นักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางการเมือง กรณีพฤษภาทมิฬ” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 16:1 (ก.ค.-ธ.ค.2535).
[7] การแบ่งยุคเช่นนี้เป็นของผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้นเอง ดู บุญสม อัครธรรมกุล, “ขบวนการนักศึกษากับยุคสมัยปัจจุบัน” ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนาคตขบวนการประชาธิปไตย:รวมบทความและทัศนะแห่งยุคแสวงหาครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2524), หน้า 242-252 ผู้เขียนเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น.
[8] ดู บุญสม อัครธรรมกุล ,อ้างแล้ว, หน้า 246-248 และ ธำรง ปัทมภาส, “ขบวนการนักศึกษาฯกทม. ต่างคนต่างไปในยุคสมัยปัจจุบัน” ปาจารยสาร 12:5 (ก.ย.-ต.ค.2528), หน้า 28-30.
[9] ที่จริงแล้ว มีบางคนได้แยกสองยุคนี้ออกจากกัน คือเกิดวิกฤตศรัทธาในปี 2523-24 นำไปสู่การแสวงหาครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2525 ดู ธำรง ปัทมภาส, หน้า 29-30, แต่ผู้เขียนไม่คิดว่ามีเส้นแบ่งที่ขัดเจนพอที่จะแยกออกจากกันได้ชัดเจน และโดยข้อเท็จจริงคำว่าแสวงหาครั้งที่ 2 ก็เกิดตั้งแต่ ปี 2524 แล้ว.
[10] เกษียร เตชะพีระ, “วิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 3:3 (ม.ค.2527), หน้า 75-77, เกษียรยังชี้ให้เห็นด้วยว่าปรากฏการณ์นี้มิใช่เอกลักษณ์ของสังคมไทยแต่อย่างใด หากเคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับปัญญาชนฝ่ายซ้ายในประเทศตะวันตก.
[11] เวียดนามบุกกัมพูชาในปี 2522 และเกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างจีนกับรัสเซีย-เวียดนาม.
[12] Thongchai Winichakul, “Thai democracy in public memory: monuments of democracy and their narratives” paper presented at Seventh International Conference on Thai Studies, Amsterdam, the Netherlands, 8 July 1999, p.2.
[13] Joshua Foa Dienstag, Dancing in Chains: Narrative and Memory in Political Theory (Stanford, California: Stanford University Press, 1997), p.10.
[14] ปัญหาเรื่องแบบเรียน 14 ตุลาฯ โปรดดู จดหมายของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถึง ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำโครงการสร้างหนังสือและตรวจพิจารณา เรื่อง การตรวจพิจารณาหนังสือ “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ลงวันที่ 21 ม.ย.2542 และดู “New textbook now a diary with no details” Bangkok Post, 5 August 2000.
[15] ถอดจากเทปคำอภิปรายเรื่อง “สำนึกและความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการจัดงาน 25 ปี 14 ตุลาฯ เมื่อวันที่ 31
มี.ค. 2541.
[16] Thongchai Winichakul, ibid., p.2.
[17] Pierre Nora, “General Introduction:Between Memory and History” in Lawrence D.Kritzman(ed.) Realms of memory:Rethinking the French past (New York: Columbia University Press, 1996), p.3.
[18] ibid., p.2-4.
[19] ibid., p.2-3,13-14.
[20] Thongchai, ibid., p.2.
[21] Ibid., p.16-19.
[22] ibid., p.15.
[23] Nora, ibid., p.7.
[24] เมื่อมีการผลักดันให้ทำเป็นประวัติศาสตร์ มันก็ถูกทำให้กลายเป็นแค่อนุทิน ซึ่ง Nora เห็นว่าเป็นธรรมชาติของประวัติศาสตร์ที่จะขจัดคุณค่าความหมายออกอดีตที่ศึกษาออกไป และทำให้มันเป็นอดีตที่จืดชืด เหลือเพียงความแห้งแล้ง ธรรมดาสามัญ ดู Nora, ibid., p.3.
[25] ตัวอย่างเช่น งานเขียนหลายชิ้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ใน มหาวิทยาลัยชีวิต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:กำแพง, 2531) ; ธีรยุทธ บุญมี, ส่วนหนึ่งของความทรงจำ 20 ปี 14 ตุลา แลไปข้างหน้า (กรุงเทพฯ:วิญญูชน, 2537) และดูความทรงจำที่ค่อนข้างต่างกันออกไปได้ใน ถนอม กิตติขจร, บันทึกจากใจ (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง, 2532).
[26] มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพวีรชนอย่างยิ่งใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง(ซึ่งโดยประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรม ประเพณีของสถานที่นี้ ถูกสงวน/ยึดกุมเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของกษัตริย์และราชวงศ์เท่านั้น) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จมาเป็นประธานในพิธี มีประชาชนมาร่วมงานหลายหมื่นคน.
[27] เมื่อครบรอบสองปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์นี้อย่างยิ่งใหญ่ติดต่อกันหลายวัน(12-15 ต.ค.) ในครั้งนั้นถนนราชดำเนินกลาง ถูกยึดกุมโดยนักศึกษาประชาชน เกาะกลางถนนและทางเดินสองข้างทางถูกติดตั้งด้วยภาพเหตุการณ์และนิทรรศการความเป็นมาของการต่อสู้ของนักเรียนนักศึกษา การจัดงานรำลึก 14 ตุลาฯถูกจัดอย่างใหญ่โตอีก 2 ครั้งเมื่อครบรอบวาระ 20 และ 25 ปีของเหตุการณ์นี้ตามลำดับ สำหรับการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯนั้นอยู่ในระดับที่เล็กกว่า 14 ตุลาฯมาโดยตลอด จนเมื่อครอบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์นี้ในปี 2539 ที่มีการรวมกำลังกันของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์ ได้พร้อมใจกันจัดงานขึ้นอย่างสมเกียรติ มีการผลิตสิ่งของ กิจกรรม พิธีกรรมต่างๆขึ้นหลากหลายมากมาย.
[28] วิดีโอนี้ออกจำหน่ายเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2536 และผลิตซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน.
[29] ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว เพิ่งสามารถผลักดันให้มีการดำเนินการจัดสร้างได้เมื่อปี 2541 ในวาระครบรอบ 25 ปีของเหตุการณ์ หลังจากที่มีการวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2518 อย่างไรก็ตามรูปแบบของอนุสาวรีย์ที่กำลังจัดทำอยู่นี้ได้เปลี่ยนแปลงไปรูปแบบดั้งเดิมมาก.
[30] อ้างใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อ้างแล้ว, หน้า 17.
[31] สารคดี 12:140 (ต.ค.2539), หน้า 161, เน้นโดยผู้อ้าง.
[32] เล่มเดียวกัน, หน้า 169, เน้นโดยผู้อ้าง.
[33] เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน, เน้นโดยผู้อ้าง.
[34] ไทยรัฐ 3 พ.ค. 2535 อ้างใน เกษียร เตชะพีระ, “หนังสือ: สื่อปฏิวัติ” ศิลปวัฒนธรรม 19:10(ส.ค. 2541), หน้า 119.
[35] ชินทัศน์,“ประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา: มายาเพื่อความมั่นคง” เศรษฐศาสตร์การเมือง 4:4(ก.ค.2528), หน้า 104.
[36] ตัวอย่างเช่น วิชชา, “ทัศนะของ’เรา’ ท่ามกลางสถานการร์ปัจจุบัน:เร่งเอาชนะความสับสน ไม่มั่นใจ และความโน้มเอียงสุดขั้วทั้งหลาย” เปลวเทียน 3:1(2524), หน้า 7-19.
[37] บุญสม อัครธรรมกุล, อ้างแล้ว, หน้า 248.
[38] ชินทัศน์, อ้างแล้ว, หน้า104.
[39] รวมบทสัมภาษณ์ของสุลักษณ์ในวาระต่างๆที่เกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้น ดู นิพนธ์ แจ่มดวง(บก.), ขบวนการคนหนุ่มสาวในรอบ 2 ทศวรรษตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ (กรุงเทพฯ:เทียนวรรณ, 2529), หน้า 221-223, 239.
[40] สุลักษณ์กล่าวไว้หลายตอนว่านักศึกษาสมัยนั้นคิดว่าตนเองฉลาดรู้ดีไปหมด ไม่เคยเห็นหัวเขา ไม่เคยเห็นว่าเขาเป็นประโยชน์ เห็นเขาเป็นเพียงตัวตลก “...เวลานั้น(นักศึกษา)เป็นฮีโร่ มันเห็นผมเป็นหมาตัวหนึ่ง...” ดูหน้า 221, 239-241, 245 และ 250.
[41] สันติสุข โสภณสิริ, “สุญญากาศทางอุดมการณ์ ความกึ่งดิบกึ่งดีของฝ่ายก้าวหน้าไทย” ปาจารยสาร 11:1
(ต.ค. –พ.ย. 2527), หน้า 27-32.
[42] สันติสุข โสภณสิริ, ความกึ่งดิบกึ่งดีของฝ่ายก้าวหน้าไทย, หน้า 29.
[43] น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์, “คนหนุ่มสาวกับศรัทธาต่ออนาคต”, หน้า 91.
[44] Pierre Nora, ibid., p.4 มองจากแง่มุมของนักวิชาการที่สนใจเกี่ยวกับความทรงจำอย่าง Nora แล้ว เขาจึงเห็นว่าความพยายามที่จะทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์โดยพัฒนาวิธีการต่างๆขึ้นมานั้น จริงๆ แล้วก็คือความพยายามที่จะให้งานประวัติศาสตร์ขยายฐานของความทรงจำรวมหมู่ (collective memory) ให้กว้างขวางที่สุด.
[45] ดู ถนอมฤทธิ์ ธรรมราษฎร์(นามแฝง), “บันทึกเชิงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของขบวนการนักศึกษาไทย” สังคมศาสตร์(มช.) 6:1 (เม.ย.-ก.ย. 2525), หน้า 89-105; พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม, “ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และความสัมพันธ์กับพคท.” เอเชียปริทัศน์ 4:4 (ต.ค.-
ธ.ค. 2526), หน้า 14-49; คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง, ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการนักศึกษาไทยระหว่าง พ.ศ.2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
[46] ดูการศึกษาที่น่าสนใจของ Meta Mendel-Reyes, Reclaiming Democracy (London: Routledge, 1995) ซึ่งชี้ให้เห็นการแข่งขันกันของฝ่ายต่างๆที่จะสร้างความทรงจำให้แก่สังคมอเมริกาในยุค sixties และความทรงจำที่ขึ้นมาครอบงำนั้นได้มีส่วนกำหนด/ก่อรูปวัฒนธรรมการเมืองอเมริกาในปัจจุบันบางประการด้วย.
[47] Pierre Nora, p.11.
[48] Meta Mendel-Reyes, ibid., p. 18, 71.
[49] ชินทัศน์, “วิญญาณที่ขาดหาย: ทัศนะด้านเดียวเกี่ยวกับปัญญาชนไทยผู้คิดว่าตัวเองกำลังแสวงหา” ใน บัณฑิต ธรรมตรีรัตน์(บก.), คลื่นแห่งทศวรรษ, หน้า 196-197.
[50] เกษียร เตชะพีระ, “บันทึกความรู้สึกแห่งยุคสมัย” ใน ‘รู้สึกแห่งยุคสมัย หนังสือต้อนรับเพื่อนใหม่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,(กรุงเทพฯ:ภาพพิมพ์, 2526), หน้า 57-58 เน้นโดยผู้อ้าง.