ประจักษ์ ก้องกีรติ
นิตยสารสารคดี
การเมืองของความทรงจำ
หากชีวิตมนุษย์แต่ละคนต่างมีช่วงตอนที่เจ็บปวด ยากแก่การจดจำจารึกไว้ในอัตชีวประวัติของตน
ชีวิตของสังคมก็เฉกเช่นเดียวกัน
คำถามคือ แล้วจะอยู่กับอดีตที่ยากแก่การจดจำนั้นอย่างไร?
ในระดับปัจเจกบุคคล แต่ละคนต้องผ่านการต่อสู้กับอดีตของตัวเอง คัดสรร ตัดตอน เลือกจำ เลือกลืมทั้งโดยสำนึกรู้ตัวบ้าง ไม่รู้บ้าง จนหลอมรวมเป็นความทรงจำในรูปลักษณ์ที่อย่างน้อยที่สุด อธิบายชีวิตที่ผ่านมาของตนได้ในแบบที่สามารถอยู่กับมันอย่างไม่เจ็บปวดเกินไปนัก พอให้ชีวิตดำเนินต่อไปข้างหน้าได้อย่างปรกติสุข
ในระดับสังคม สมาชิกแต่ละคนแต่ละกลุ่มในสังคมหนึ่งๆ ต่างก็เข้ามาต่อสู้กันในพื้นที่สาธารณะ เพื่อสถาปนาเรื่องราวในสำนวนของตนให้เป็นความทรงจำของสังคม โดยธรรมชาติแล้วไม่มีใครชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการต่อสู้นี้ แต่ละสำนวนได้ครอบครองพื้นที่มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามสัดส่วนความสัมพันธ์ทางอำนาจ แม้แต่กลุ่มที่ด้อยอำนาจที่สุดก็อาจรักษาและสืบทอดความทรงจำนั้นไว้เป็นส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่มมิให้สูญหาย รอวันที่สถานการณ์ทางสังคมการเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจแปรเปลี่ยนไป ก็อาจจะรื้อฟื้นความทรงจำของตนขึ้นมาเบียดขับแย่งชิงพื้นที่กระทั่งแทนที่ความทรงจำเดิมที่ครอบงำอยู่ได้
กระบวนการนี้ดำเนินอยู่ตลอดเวลาในชีวิตของทุกสังคม แม้จะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเรื่องราวครึกโครม สะดุดตา แต่ก็ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว เป็นกระบวนการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ไม่จบสิ้นกันง่ายๆ ผู้ชนะในวันนี้อาจเพลี่ยงพล้ำในวันถัดไป
ในสังคมไทย เราเพิ่งได้เห็นตัวอย่างของสงครามความทรงจำจากหนังอิงประวัติศาสตร์สองเรื่อง – “สุริโยทัย” และ “14 ตุลา สงครามประชาชน”
ในกรณีของเรื่องหลัง แม้จะทำรายได้เทียบไม่ติดกับเรื่องแรก แต่ในการกระตุ้นให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วดูจะชนะเรื่องแรกขาดลอย การถกเถียงที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นต่อหนังเรื่อง “14 ตุลา สงครามประชาชน” ก็คือฉากของสงครามความทรงจำอีกยกหนึ่งเกี่ยวกับอดีตที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากและความขัดแย้งที่สุดช่วงหนึ่งของสังคมไทย ไล่ตั้งแต่ 14 ตุลา, 6 ตุลา และสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)กับรัฐไทย
การถกเถียงในยกนี้ เป็นไปอย่างรุนแรงในหมู่คนที่เคยร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาก่อน มากกว่าที่จะถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่เคยอยู่ตรงกันข้าม สะท้อนให้เห็นความยุ่งยากและซับซ้อนของการเขียนประวัติศาสตร์หรือเสนอความทรงจำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อยุคสมัยดังกล่าว ว่าไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างสองฝักสองฝ่าย ระหว่างรัฐกับนักศึกษาประชาชน หรือฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ฯลฯ อย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น เพราะแม้แต่คนที่เคยอยู่ร่วมใน “ขบวนการ” หรือ อุดมการณ์เดียวกันก็เห็นต่างกันอย่างรุนแรง เป็นอุทธาหรณ์ชวนให้คิดว่า
คนที่เคยมีชีวิตร่วมกันในอดีต อาจจะไม่มี “อดีต” ร่วมกันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ใช่แต่สังคมไทยเท่านั้นที่มีปัญหาในการอยู่กับอดีตของตนอย่างไม่ราบรื่น เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน (และอาจะรุนแรงกว่าเมื่อมองในบางแง่มุม) เป็นปัญหาที่คล้ายกัน คือ จะอยู่กับอดีตของตนอย่างไร? โดยเฉพาะอดีตที่สังคมเคยขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทางอุดมการณ์ ในบริบทของไทยและอินโดนีเซียก็คือ ความเป็นจริงที่ว่าสมาชิกจำนวนหนึ่งของสังคมเคยเป็น “ซ้าย” หรือ ยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยม
ความทรงจำเรื่อง “ฝ่ายซ้าย” ในอินโดนีเซีย
ความหมายและนัยสำคัญของการเป็น “ซ้าย” ในการเมืองวัฒนธรรมอินโดนีเซียนั้นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับผู้คนโดยทั่วไปมาก เพราะมันเป็นอุดมการณ์ความเชื่อที่ถูกประกาศให้ผิดกฏหมายอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่คำสั่งของสภาที่ปรึกษาประชาชนของอินโดนีเซีย (People's Consultative Assembly) ในปี 2509 ในสมัยรัฐบาลซูฮาร์โต ที่ห้ามไม่ให้มีการตั้งพรรคการเมืองหรือเผยแพร่ความคิดลัทธิสังคมนิยมมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์โดยเด็ดขาด ตลอดสมัยแห่งการปกครองอันยาวนานของซูฮาร์โต บุคคลที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังรวมกลุ่มเผยแพร่ความคิดดังกล่าวล้วนประสบชะตากรรมอันเลวร้าย ตั้งแต่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน จนกระทั่งถูกสังหารชีวิต จนก่อให้เกิดความเข็ดขยาดแก่ประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การกดปราบ กำจัด และกระหน่ำโจมตีด้วยมาตรการที่เข้มงวดและโหดร้ายต่อฝ่ายซ้ายของรัฐบาล ก่อให้เกิดผลประการหนึ่งซึ่งรัฐอาจจะไม่ได้คาดคิดหรือปรารถนา คือ ทำให้การเป็นซ้ายพัฒนาไปสู่อีกรูปลักษณ์ที่มีความหมายพิเศษจำเพาะ กล่าวคือ มันมิได้มีฐานะเป็นเพียงอุดมการณ์ความเชื่อทางระบบการเมืองเศรษฐกิจแบบใดแบบหนึ่งตามคำนิยามเท่านั้น หากได้กลายเป็นเครื่องหมายของความกล้าหาญในหมู่คนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมือง สำหรับพวกเขา ความต้องห้ามของอุดมการณ์มาร์กซิสม์กลับกลายเป็นความลึกลับชวนให้ค้นหา
ความลึกลับชวนค้นหา
กล่าวโดยตลกร้ายแล้ว ความลึกลับของความคิดมาร์กซิสม์นั้น เป็นผลมาจากการสั่งห้ามของรัฐนั่นเอง การศึกษาหาข้อมูลความรู้ต่างๆเกี่ยวกับลัทธิอุดมการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำกันใต้ดินและดำเนินไปอย่างลึกลับซ่อนเร้น เล็ดลอดมาเป็นเสียงกระซิบกระซาบถึงหูของคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง ยิ่งการห้ามมิให้มีการจำหน่ายเผยแพร่หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้มันมีสถานะไม่ต่างจากหนังสือโป๊ไปภายในเวลาอันรวดเร็ว คือ มีสถานะต้องห้ามแต่ก็พอหาได้ในตลาดมืดหรือแหล่งลึกลับ และด้วยความลึกลับ ต้องห้าม หายากก็ยิ่งทำให้มีเสน่ห์เย้ายวนดึงดูดเยาวชนที่ตื่นตัวสนใจใคร่รู้ คนหนุ่มสาวอินโดนีเซียเที่ยวเสาะแสวงหาหนังสือ”ซ้าย” อย่างหิวกระหาย ใครบังเอิญได้ต้นฉบับมาก็ถ่ายเอกสารทำสำเนาเวียนแจกกันอ่านในหมู่เพื่อนฝูงคอเดียวกัน ตั้งเป็นกลุ่มศึกษาลับๆ จนในที่สุดบางคนได้พัฒนาตนเองกลายเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆพิมพ์งานลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ขายในเวลาต่อมาเมื่อเสรีภาพเปิดออกหลังการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลซูฮาร์โตในปี 2541 ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์ Teplok (ชื่อสำนักพิมพ์มาจากชื่อตะเกียงชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับจุดในห้องศึกษาปิดลับของพวกเขา) ที่ตีพิมพ์งานขนาดยักษ์ของเรื่อง Das Kapital ของ Karl Marx ออกจำหน่าย
มีผู้ศึกษาว่าไม่ถึง 1 ปีหลังจากปี 2542 มีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดสังคมนิยมพิมพ์ออกมาถึง 40 กว่าเรื่อง เช่น หนังสือแปลงานเกี่ยวกับคาร์ล มาร์กซ์ เช กูวารา หรืองานของอดีตปัญญาชนฝ่ายซ้ายอินโดนีเซียสมัยปลายยุคอาณานิคมอย่างตัน มาลากา(Tan Malaka) ซึ่งชื่อของเขาไม่เคยปรากฏให้ได้ยินในที่สาธารณะเลยตลอดเวลาหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โต หนังสือเชิงแนะนำความคิดมาร์กซิสม์เบื้องต้นบางเล่มขายได้ถึง 20,000 กว่าฉบับภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี จนต้องพิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้ง ยังมีสำนักพิมพ์ (ซึ่งโดยส่วนใหญ่บริหารโดยคนหนุ่ม)ถึงอย่างน้อย 7 แห่งที่ผลิตหนังสือ จุลสาร วารสารในแนวนี้ออกมาอย่างแข็งขัน อาทิเช่น วารสาร Majalah Kerja Budaya, Kiri, Kritik ฯลฯ ชวนให้นึกถึงปรากฏการณ์เดียวกับที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลัง “การปฏิวัติตุลาคม 2516” ที่นิสิตนักศึกษาพากันตั้งสำนักพิมพ์ผลิตงานวรรณกรรมและทฤษฎีการเมืองมาร์กซิสม์- เหมาอิสม์ออกมาท่วมท้นตลาดหนังสือ
การตื่นตัวต่อกระแสความคิดทางซ้าย มิได้จำกัดอยู่แค่เพียงแวดวงหนังสือและวรรณกรรม หากลุกลามมายังวงการศิลปะด้วย เกิดกลุ่มที่ผลิตงานในแนวนี้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงปี 2540 เช่น Apotik Komik (Cartoon Pharmacy) ซึ่งมุ่งที่จะใช้งานศิลปะถ่ายทอดให้คนตระหนักถึงปัญหาสังคม งานของกลุ่มนี้มักจะวาดภาพร่างกายมนุษย์ในสภาพที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและโกรธแค้นในสไตล์เหนือจริงภายใต้ฉากหลังที่ระบายด้วยสีพื้นเรียบง่าย สื่อถึงความเป็นจริงอันทารุณโหดร้ายในยุคซูฮาร์โต
สำหรับคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ความหมายของการเป็นซ้ายมีมากกว่าการคัดค้านทางการเมืองในรูปแบบที่ฝ่ายซ้ายในอดีตเคยกระทำ หากมันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์และเป็นการเมืองของความทรงจำที่คนหนุ่มสาวคับเขี่ยวกับรัฐบาลเผด็จการที่ต้องการกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นคอมมิวนิสต์และโยนความผิดบาปทั้งหลายในอดีตให้แก่คอมมิวนิสต์ พวกเขาเลือกเอาอัตลักษณ์ความเป็นซ้ายมาสวมใส่และพลิกฟื้นความทรงจำใหม่ต่อมัน การต่อสู้นี้จึงไม่ได้ดำเนินไปในรูปแบบของการชุมนุมประท้วงอย่างเปิดเผย หากดำเนินผ่านรูปแบบเชิงสัญลักษณ์อันหลากหลาย อาทิเช่น
-- รัฐบาลเผด็จการอินโดนีเซียใช้สื่อภาพยนตร์อย่างแข็งขันเพื่อกล่อมเกลาประชาชนให้จำอดีตในแบบที่ตนต้องการ ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกๆปีนับตั้งแต่ปี 2524 คนหนุ่มสาวอินโดนีเซียถูกบังคับให้ต้องดูภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเรื่อง “การทรยศของขบวนการ 30 กันยายน-พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย” (Pengkhianatan G30S-PKI) ซึ่งวาดภาพพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI)ให้เป็นผู้ร้าย เป็นฆาตกรกระหายเลือดผู้ลงมือสังหารนายพลของกองทัพอย่างเลือดเย็นจนเป็นเหตุให้ซูฮาร์โตต้องทำการรัฐประหารเข้ามาเพื่อ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ของประเทศ นอกจากฉายตามโรงภาพยนตร์แล้ว หนังเรื่องนี้ยังออกอากาศทางโทรทัศน์ในช่วงเวลายอดนิยมด้วย คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งก็ใช้วิธีประท้วงเงียบโดยการไม่ยอมไปดูหนังเรื่องนี้
-- ในขณะที่ตำราเรียนเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ฉบับ “ชาตินิยมทางการ” ที่เชิดชูบทบาทของซูฮาร์โตและกองทัพ โดยไม่เอ่ยถึงสามัญชนและบทบาทในด้านบวกของปัญญาชนนักเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์ และยังบิดเบือนความจริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ เช่น อธิบายการเข้าไป “ยึด” และ “ผนวก” ติมอร์ตะวันออกด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรงว่าเป็นการ “ขอ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียด้วยความสัมครใจเต็มใจของฝ่ายติมอร์เอง ฯลฯ[1] คนหนุ่มสาวก็ประท้วงไม่อ่านตำราเรียนเหล่านี้ และหันไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฉบับไม่เป็นทางการผ่านการแอบลักลอบอ่านงานต้องห้ามที่เขียนขึ้นระหว่างถูกกักขังอยู่บนเกาะบูรูของปราโมทยา อนันต์ ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) นักโทษการเมืองและนักเขียนผู้เป็นศัตรูคนสำคัญของรัฐบาลอย่างกระหายใครรู้[2] นอกจากนี้ในการจัดประชุมปิดลับหลายครั้ง พวกเขาก็ได้เชื้อเชิญอดีตนักโทษการเมืองที่เคยเป็นสมาชิกหรือมีสัมพันธ์กับพรรค PKI มาร่วมพบปะพูดคุยด้วย
-- จงใจแต่งกายโดยอิงแอบสัญลักษณ์ที่หวนให้ระลึกถึงฝ่ายซ้ายในสมัยที่เฟื่องฟูเมื่อปลายทศวรรษ 2500
แม้ความลึกลับของอดีตที่ถูกกดขี่ของฝ่ายซ้ายจะชวนให้คนหนุ่มสาวหลงใหลต่อความคิดอุดมการณ์สังคมนิยม แต่ “ซ้ายใหม่” ในอินโดนีเซียก็ไม่ต้องการที่จะย่ำเท้าตาม “ซ้ายเก่า” ไปเสียทุกเรื่อง พวกเขาพยายามแสวงหาเส้นขอบฟ้าแห่งพรมแดนความคิดใหม่ที่จะมาตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตของประเทศในปัจจุบัน
โรคหวาดกลัวคอมมิวนิสต์
ถึงแม้ว่าจะเกิดการรื้อฟื้นให้ความหมายใหม่ต่ออุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในช่วงท้ายของรัฐบาลซูฮาร์โต แต่ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่จางหายไปจากสังคมอินโดนีเซียในชั่วข้ามคืน ตรงกันข้ามมันยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนอินโดนีเซียอย่างลึกซึ้ง แม้จะหมดยุคของรัฐบาลเผด็จการไปแล้วก็ตามที
อดีตประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นคนบัญญัติศัพท์อินโดนีเซียคำว่า Komunistofobia (โรคกลัวคอมมิวนิสต์)ขึ้นมาในทศวรรษ 2500 เพื่อใช้วิจารณ์กลุ่มและพรรคการเมืองทั้งหลายที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ รังเกลียดเดียดฉันท์พรรค PKI และปฏิเสธความพยายามของเขาที่จะหลอมรวมให้เกิด “แนวร่วม” กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากซูการ์โนหลุดจากวงโคจรอำนาจไปในปี 2509 โรคกลัวคอมมิวนิสต์ก็แพร่ระบาดขึ้นสู่จุดสุดยอดในภาษาและปฏิบัติการทางการเมืองในยุคระเบียบใหม่ (New Order)ของซูฮาร์โต
เริ่มจากการสังหารหมู่คนที่ถูกสงสัยว่าเป็นสมาชิกของพรรค PKI ไปราว 500,000 คนในระหว่างปี 2508- 2509 อันเป็นผลจากการโหมโฆษณาปลุกระดมสร้างความเกลียดชังต่อคอมมิวนิสต์โดยเครื่องมือของรัฐบาล ผลจากโพลที่ทำการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้โดยนิตยสาร Tempo[3] ก็ยังชี้ชัดถึงอาการตกค้างของโรคนี้อย่างชัดเจน เด็กนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 คนจากโรงเรียนใน 3 เมืองใหญ่ มีถึง 57% ที่ตอบว่าไม่ควรอนุญาติให้มีการจัดการเรียนการสอนใดๆอันเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์แก่นักเรียน นอกจากนั้น 60% คัดค้านการที่จะเปิดให้มีการจำหน่ายหรือเผยแพร่หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ 97% ของนักเรียนได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2508(เหตุการณ์ที่มีการจับกุมและสังหารผู้นำกองทัพ) จากครูและตำราเรียน และ 80% เชื่อว่าเนื้อหาของเหตุการณ์ที่บรรยายในหนังของรัฐบาลเรื่อง Pengkhianatan G30S-PKI ถูกต้องเที่ยงตรงทุกประการ
เมื่อเร็วๆนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2544 กลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นานและนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจซูฮาร์โตและกองทัพ ก็ได้นำหนังสือที่พวกเขาพิจารณาว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหา “ซ้าย” มาเผาในที่สาธารณะ และยังได้ขู่ที่จะเข้าบุกยึดร้านหนังสือที่ขายหนังสือประเภทนี้ด้วย จนร้านหนังสือต้องพากันโละหนังสือของปราโมทยาและนักเขียนก้าวหน้าคนอื่นๆออกจากชั้นเพื่อความปลอดภัย
การคงอยู่ของความทรงจำเชิงลบต่อฝ่าย “ซ้าย” เช่นนี้นับเป็นอุปสรรคในความพยายามที่จะก่อรูประบอบประชาธิปไตยขึ้นในอินโดนีเซีย เพราะที่จริงแล้วอดีตที่เป็นบาดแผลสามารถมีคุณูปการในการเป็นบททดสอบให้ชาติได้ใช้สติปัญญาคิดค้นสร้างสรรค์กลวิธีและมาตรการที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในการแก้ไขความขัดแย้ง และยังเป็นการสะสมทุนทางสังคมที่จะเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน ที่จะสร้างให้เกิดความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในสังคมอันจะนำไปสู่การจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ แต่น่าเสียดายที่มีสัญญาณชี้ให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวในอินโดนีเซียอาจจะประสบกับความล้มเหลว
ปราโมทยากับข้อเสนอเรื่องการปรองดองของวาฮิด
อดีตประธานาธิบดีอับดุลระห์มาน วาฮิดเป็นผู้นำที่มีความพยายามจะสร้างความปรองดองไกล่เกลี่ยแก่คนในชาติผ่านการชำระสะสางอดีตที่เป็นบาดแผล ไม่นานหลังจากที่เขาขึ้นมามีอำนาจ เขาได้กล่าวขอโทษในนามขององค์กรมุสลิมที่เขาเป็นผู้นำ-Nahdatul Ulama- สำหรับความรุนแรงที่องค์กรนี้เคยมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในช่วงปี 2508-09 เขายังได้ตอบรับข้อเสนอจากบรรดาอดีตนักโทษการเมืองคอมมิวนิสต์ที่เสนอให้ยกเลิกคำสั่งของสภาที่ปรึกษาประชาชนของอินโดนีเซีย(People's Consultative Assembly) ในปี 2509 ที่ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคผิดกฎหมายและห้ามการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยม และที่สำคัญเขาเสนอว่าจะให้มีการรื้อฟื้นคดีที่มีการกล่าวหาว่าพรรค PKI มีส่วนพัวพันในการสังหารนายพลของกองทัพขึ้นสู่ศาล เพื่อสะสางข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กระจ่าง
ผลตอบรับที่เขาได้คือ คำวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทุกพรรคการเมืองในรัฐสภา รวมทั้งกลุ่มมุสลิมในประเทศทั้งหลาย ในเดือนพฤษภาคม 2543 รัฐสภาได้ลงมติปฏิเสธข้อเสนอของวาฮิดที่จะยกเลิกคำสั่งของสภาที่ปรึกษาประชาชนของอินโดนีเซียปี 2509 นับเป็นการถูกโดดเดี่ยวจากรัฐสภาอย่างแท้จริง เสียงที่สนับสนุนมีแค่เพียงพรรค National Awakening Party (PKB) ที่เขาเป็นหัวหน้า ปัญญาชนและนักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
ปราโมทยาก็เป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านความคิดเรื่องการปรองดองไกล่เกลี่ยอดีตของวาฮิด เขาไม่ยอมรับคำขอโทษและคิดว่าวาฮิดไม่จริงใจ ปราโมทยากล่าวว่าเขาไม่ต้องการความสมานฉันท์หากต้องการให้นำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฏหมาย ดังที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า
“คนที่ทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายยังคงเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ในขณะที่ผู้กระทำผิดมิได้จดจำอะไรเลย การปรองดองไกล่เกลี่ยจึงเป็นเรื่องไร้สาระ… มันเป็นแค่คำพูดของคนที่อยู่ในอำนาจ” (Forum Keadilan, 26 มีนาคม 2543)
อย่างไรก็ดีเพื่อนพ้องที่เป็นอดีตนักโทษด้วยกันแม้แต่เพื่อนที่สนิทที่สุดก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับเขา บางคนวิจารณ์ว่าความคิดของปราโมทยาสุดโต่งรุนแรงบุ่มบ่ามเกินไป อาจจะกลายไปเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มการเมืองอื่นแพร่กระจายความหวาดกลัวต่อคอมมิวนิสต์มากขึ้น เป็นการทำลายพันธมิตรและสร้างความเข้มแข็งให้ปฏิปักษ์โดยใช่เหตุ ตรงกันข้ามกับปราโมทยา อดีตนักโทษการเมืองส่วนใหญ่เชื่อในความจริงใจของวาฮิด และคิดว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยและชำระสะสางอดีตไม่ถึงกับไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยประเด็นปัญหาที่สำคัญในอดีตก็จะได้ถูกนำมาขบคิดใคร่ครวญถกเถียงกันอย่างเปิดเผยโปร่งใสเสียทีแทนที่จะซุกเอาไว้ใต้พรมเช่นในอดีต แต่เกือบทุกคนก็ตระหนักดีว่ามันเป็นกระบวนการที่ยากลำบากและต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามมากมาย ตั้งแต่ระบบยุติธรรมของอินโดนีเซียที่ง่อนแง่นขาดประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถืออันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคเผด็จการ ความซับซ้อนและใหญ่โตของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2508-2509 ทำให้คนที่เกี่ยวข้องและควรมีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมครั้งนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลจนยากแก่การชำระสะสาง รวมทั้งประเด็นอันอ่อนไหวเกี่ยวกับความเป็น “เหยื่อ” ของเหตุการณ์
อุปสรรคอีกประการหนึ่งในการสร้างกระบวนการชำระสะสางอดีตอันเป็นบาดแผลก็คือ ประเทศอินโดนีเซียขาดกลุ่มผู้นำที่จะผนึกกำลังกันอย่างแข็งขันและมีเจตจำนงมุ่งมั่นในการผลักดันกระบวนการดังกล่าวแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ แม้ว่าในช่วงที่การถกเถียงเรื่องนี้กำลังดำเนินไปอย่างร้อนแรง ได้มีความพยายามของคณะทำงานชุดหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาร่วมด้วยที่จะจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง” เช่นที่มีการจัดตั้งขึ้นในแอฟริกาใต้ภายใต้การริเริ่มผลักดันของประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป ประกอบกับความสนับสนุนทางการเมืองต่อวาฮิดเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง และเกิดปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์และปาปัว ก็ทำให้กระบวนการดังกล่าวถูกละเลยไปในที่สุด ประธานาธิบดีเมกาวตี ซูการ์โน บุตรี ที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจากวาอิดก็ไม่ได้แสดงสัญญาณใดๆว่าได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว
สังคมอินโดนีเซียจึงยังคงมีชีวิตอยู่กับบาดแผลจากอดีตในแบบที่มันเคยอยู่มาแล้วร่วม 3 ทศวรรษ คาราคาซังและอิหลักอิเหลื่อต่อไป
แล้วสังคมไทยล่ะ? เราจะมีโอกาสได้เห็นกระบวนการชำระ “บาดแผล” ในอดีตอย่างร่วมแรงร่วมใจจากสมาชิกในสังคมหรือไม่?
อาจจะเร็วเกินไปที่จะตอบ
แต่หากหวังการริเริ่มผลักดันจากรัฐ สุนทรพจน์ต่อไปนี้อาจบอกอะไรเราได้บ้าง
“ผมอยากเห็นข้อขัดแย้งทั้งหลายในสังคมไทยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยุติลง เพราะประเทศไทยไม่มีเวลาที่จะมาทะเลาะในเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้… ผมอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า เหตุการณ์ในวันนี้ไม่อยากให้มองว่าใครผิดใครถูก อยากให้มองว่าทุกคนต่างมีหน้าที่ แต่ความเข้าใจอาจจะขัดแย้งหรือต่างกัน… ต่อไปนี้ ไม่ใช่ว่าทุก 14 ตุลา เราจะต้องมานั่งเถียงกันว่าประวัติศาสตร์ถูกหรือไม่ถูก เราจะช่วยเหลือคนพิการหรือไม่ช่วย จากนี้ไปจนถึง 14 ตุลาปีหน้า เหตุการณ์เหล่านี้ต้องยุติ วันนี้ตั้งใจจะมาบอกกับพี่น้องว่า ‘อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก’ เพราะสังคมไทยมีเรื่องที่ต้องแก้ไขมากมาย เรื่องทั้งหมดที่ท่านกำลังบ่นกันอยู่นี้ ขอให้เลิก”[4]
เอกสารประกอบการเขียน
- Goenawan Mohamad, “Remembering the Left”, in Grayson lloyd (ed.) Indonesia Today: Challenges of History (Singapore: Institute of South Asian Studies, 2001), p.126-135.
- Gerry van Klinken, “The Battle for History after Suharto: Beyond Sacred Dates, Great Men, and Legal Milestones” in Critical Asian Studies 33:3 (2001), p.323-350.
- Ariel Heryanto, “Indonesian middle-class opposition in the 1990s” in Garry Rodan (ed.) Political Opposition in Industrialing Asia (New York: Routledge, 1996), p.241-271.
- Vaudine England, “Book-burning raids spark backlash” South China Morning Post May 19, 2001.
- รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ “ตลาดหนังสือหลังเดือนตุลาคม 2516” ถนนหนังสือ (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543), น. 16-27.
- “สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว ณ บริเวณอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย
วันที่ 14 ตุลาคม 2544”
[1] ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลซูฮาร์โต ครูประวัติศาสตร์จำนวนมากทำเรื่องถึงรัฐบาลขอย้ายออกจากติมอร์รวมทั้งเกาะอื่นๆ เพราะเกรงจะได้รับอันตรายจากบรรดาผู้ปกครองที่โกรธแค้นว่าพวกเขาสอนแต่สิ่งโกหกและบิดเบือนให้เยาวชน ในเดือนตุลาคม 2541 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลประธานาธิบดีฮาบีบีมีมีคำสั่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้เนื้อหามี “ความสมดุล” มากขึ้น เนื้อหาที่ถูกทบทวนมีอยู่ทั้งหมด 5 เหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ การผนวกติมอร์ตะวันออกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในปี 2519.
[2] นวนิยายจตุรภาคชุด The Buru Quartet ของปราโมทยาอันประกอบด้วย Bumi manusia, Jelak langkah, Anak semua bangsa และ Rumah kaca ตีพิมพ์ครั้งแรกในจาร์กาตาในทศวรรษ 2520 แต่ถูกแบนในเวลาอันรวดเร็ว จนต้องนำไปตีพิมพ์ซ้ำในเนเธอร์แลนด์และมาเลเซีย ต่อเมื่อภายหลังการสิ้นสุดของรัฐบาลซูฮาร์โต งานชุดนี้รวมทั้งงานเก่าอื่นๆของเขาได้กลายเป็นงาน best seller ที่สำนักพิมพ์ต้องเร่งผลิตแข่งให้ทันกับความต้องการของผู้อ่าน
[3] นิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถืออย่างสูง มียอดจำหน่ายถึง 200,000 ฉบับต่อเล่ม ถูกรัฐบาลซูฮาร์โตเพิกถอนใบอนุญาตในปี 2537 สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจนลุกลามเป็นการประท้วงใหญ่ ขณะนี้กลับมาออกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งจัดทำฉบับ online ด้วย
[4] “สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว ณ บริเวณอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย
วันที่ 14 ตุลาคม 2544” ถอดเทปแบบคำต่อคำใน section “คำปราศรัยและบทความ”
No comments:
Post a Comment