Tuesday, October 21, 2008

ordinary people and democratic breakdown

สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย: วีรชนหรือวายร้าย
ประจักษ์ ก้องกีรติ
ประชาไท 10/06/08



เดิมทีหลังจากเขียนแนะนำหนังสือว่าด้วยสื่อมวลชนกับความรุนแรง ตั้งใจจะเขียนแนะนำหนังสือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่ออีก 3-4 เล่มว่าด้วยปัญหาการทรมาน, โลกาภิวัฒน์ของความกลัวและความรุนแรง, การออกแบบสถาบันการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ ฯลฯ แต่สถานการณ์การเมืองอันผันผวนในบ้านเรา ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเพิ่งอ่านจบไปเมื่อนานนี้ คิดว่าน่าจะสอดคล้องและมีประโยชน์ต่อการขบคิดปัญหาการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงขอพักชุดหนังสือว่าด้วยความรุนแรงไปก่อน และลัดคิวเล่มที่ว่าเข้ามาแทน
หนังสือเล่มที่จะแนะนำนี้มีชื่ออันเก๋ไก๋ว่า สามัญชนในห้วงเวลาวิกฤต: พลเมืองกับการล่มสลายของประชาธิปไตย (Ordinary People in Extraordinary Times: The Citizenry and the Breakdown of Democracy) ผู้เขียนคือ แนนซี เบอร์มิโอ ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสของวารสาร World Politics หนึ่งในสามวารสารชั้นนำระดับโลกทางด้านการเมืองเปรียบเทียบ หนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์ออกมาในปี 2003 ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่นักคิดนักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะปมปัญหาที่ว่า สามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายมีบทบาทมากน้อยอย่างไร หรือต้องร่วมรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหนในการทำให้ประชาธิปไตยล้มครืนลง พูดในภาษากฎหมายก็คือว่า เวลาระบอบประชาธิปไตยไปไม่รอด ถูกรัฐประหาร ยึดอำนาจเปลี่ยนไปเป็นระบอบเผด็จการ (จะโดยทหารหรือพลเรือนก็ตาม) นั้น ประชาชนต้องตกเป็นจำเลยในฐานความผิดก่ออาชญากรรมทำลายประชาธิปไตยด้วยหรือไม่ ถ้าผิด ผิดในฐานะจำเลยหลัก ผู้สมรู้ร่วมคิด หรือถูกจ้างวานกระทั่งถูกหลอกให้กระทำความผิด การถกเถียงในประเด็นนี้ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน เพราะมีทั้ง “ประชาธิปไตย” และ “สามัญชน” เป็นเดิมพัน
ปราชญ์ทางรัฐศาสตร์บางท่านกล่าวไว้นมนานแล้วว่า ศาสตร์ที่เรียกว่ารัฐศาสตร์นั้น หากสรุปอย่างรวบรัดตัดตอนแล้วก็มิใช่อะไรอื่น หากคือ การศึกษาว่าด้วยระเบียบและความไร้ระเบียบทางการเมือง (political order and political disorder) ว่าด้วยเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political stability and political change) หัวข้อหลักที่ศึกษานับตั้งแต่ การสร้างรัฐและการล่มสลายของรัฐ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ระบบราชการ รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติ รัฐประหาร สงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลุ่มผลประโยชน์และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อุดมการณ์ทางการเมือง อัตลักษณ์ทางการเมือง ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษามิติต่างๆ ของปริศนาหลักที่ว่าด้วยเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนักคิดนักทฤษฎีตั้งแต่โบราณพยายามขบคิดหาคำอธิบายที่สอดคล้องต้องตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด และในบรรดาหัวข้อของการถกเถียงนั้นไม่มีอะไรร้อนแรงเกินไปกว่าคำอธิบายว่าด้วยกำเนิดและการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย และบทบาทของชนชั้นนำกับสามัญชนในกระบวนการดังกล่าว
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เข้าไปร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว โดยทำการศึกษากรณีการล้มครืนของระบอบประชาธิปไตยใน 17 ประเทศ กรณีศึกษาของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ กรณีศึกษา 13 ประเทศในยุโรประหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง (1918-1939) ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองยุโรปมีความผันผวนปรวนแปรอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อันเนื่องมาจากภาวะหลังสงคราม ตัวเลขที่น่าสนใจคือ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใหม่ๆ ระบอบการเมืองในยุโรปเกือบทั้งหมดยังคงเหนียวแน่นกับระอบบประชาธิปไตยแบบรัฐสถา (26 ประเทศจาก 28 ประเทศ) ผ่านไปไม่ถึงสองทศวรรษดี ระบอบประชาธิปไตยล้มครืนลงใน 13 ประเทศ[1] โดยมีระบอบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ สถาปนาขึ้นแทนที่ โดยประวัติศาสตร์และดุลกำลังอำนาจในแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดหน้าตาระบอบเผด็จการของประเทศนั้นๆ (อาทิเช่น เผด็จการโดยการนำของกองทัพ, พันธมิตรระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทหาร, หรือเผด็จการของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง) กรณีศึกษากลุ่มที่สองคือ สี่ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 ได้แก่ บราซิล อุรุกวัย ชิลี และอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิภาคดังกล่าวประสบกับปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจและการเมืองของสงครามเย็น อันนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ปิดฉากด้วยการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม และทำลายสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน (อันที่จริงแล้วการเมืองไทยเผชิญกับปัญหาคล้ายคลึงกันมากในช่วงเดียวกันนี้) ระบอบเผด็จการทหารที่สถาปนาขึ้นทิ้งมรดกอันลึกซึ้งยาวนานไว้ให้กับสังคมเหล่านี้จนถึงปัจุบัน
ข้อสรุปทางวิชาการของแนนซี เบอร์มิโอ นั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ก่อนที่จะข้ามไปถึงข้อสรุป ผมอยากจะเล่าให้ฟังก่อนว่า ที่ผ่านมา นักวิชาการเขาถกเถียงเรื่องนี้กันไว้ว่าอย่างไร

สามัญชน ชนชั้นนำ กับการเมืองแบบแตกขั้ว
หากจะให้สรุปอย่างคร่าวๆ เราสามารถแบ่งงานวิชาการที่กล่าวถึงบทบาทของสามัญชนกับประชาธิปไตยได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ซึ่งงานของแนนซี เบอร์มิโอนั้นไม่อยู่ในทั้งสองกลุ่ม หากพยายามจะเชื่อมประสานคำอธิบายของทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มองบทบาทของสามัญชนในฐานะวีรบุรุษของระบอบประชาธิปไตย งานในกลุ่มนี้เฟื่องฟูขึ้นเป็นพิเศษในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน มีงานวิชาการถูกผลิตออกมาอย่างไม่ขาดสายเพื่อเชิดชูบทบาทของประชาชนและสิ่งที่เรียกว่า “ภาคประชาสังคม” (civil society) ซึ่งบางทีก็มีการใช้คำอื่นสลับกันไป อาทิเช่น ภาคพลเมือง ภาคสังคม ภาคประชาชน เป็นต้น ใจความหลักก็คือว่า การเคลื่อนไหวรวมกลุ่มของประชาชนซึ่งเป็นอิสระจากรัฐ หรือกระทั่งต่อต้านอำนาจรัฐนั้นเป็นคุณกับประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมเป็น “โรงเรียน” บ่มเพาะคุณค่า จิตวิญญาณ และค่านิยมแบบประชาธิปไตย ทำให้คนตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ลดความเป็นปัจเจก เห็นแก่ตัวน้อยลงและมีจิตใจเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเป็นฐานในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ สรุปได้ว่าประชาสังคมและสามัญชนถูกมองว่าเป็นทั้งรากแก้วและหัวใจที่หล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน ฐานความคิดของงานในกลุ่มแรกนี้สามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงนักปรัชญาอย่าง Alexis de Tocqueville ในงานที่ชื่อว่า Democracy in America (1835, 1840) ซึ่งอธิบายว่าเหตุที่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาลงหลักปักฐานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอเมริกา ในขณะที่ล้มเหลวในหลายประเทศในยุโรปนั้นเป็นเพราะว่าอเมริกามีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง พลเมืองเอาการเอางาน ไม่คอยพึ่งรัฐแต่อย่างเดียว งานในกลุ่มแรกนี้เฟื่องฟูและครองตลาดวิชาการอยู่พักใหญ่ จนประชาสังคมกลายเป็นคำขวัญ เป็นยาสารพัดนึกที่นักการเมือง องค์กรระหว่างประเทศ นิสิต นักศึกษาทั่วไปท่องบ่นเป็นคาถาว่าแก้โรคปวดไข้ทางเศรษฐกิจการเมืองได้ทุกประเภท งานในกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผ่านงานของนักคิดอย่าง หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น
ผ่านไปหลายปีเริ่มมีงานวิชาการหลายชิ้นตีพิมพ์ออกมาเพื่อตอบโต้งานในกลุ่มแรกนี้ ซึ่ง แนนซี เบอร์มิโอ เรียกงานในกลุ่มที่สองนี้ว่า การกลับมาของ “อนารยะสังคม” (uncivil society turn) งานในกลุ่มนี้อธิบายว่าประชาสังคมไม่ได้เป็นคุณกับประชาธิปไตยเสมอไป นอกจากไม่เป็นคุณแล้วในหลายครั้งหลายครั้งกลับเป็นโทษด้วยซ้ำ ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมกับประชาธิปไตยจึงไม่ได้เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกเสมอไป ภาคประชาสังคมสามารถกัดเซาะหรือกระทั่งทำลายการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยได้ งานวิจัยในกลุ่มนี้เสนอหลักฐานข้อมูลอันหนักแน่นจำนวนมากทั้งในประวัติศาสตร์และในการเมืองร่วมสมัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ภาคประชาสังคม แทนที่จะสนับสนุนค้ำจุนประชาธิปไตย กลับบั่นทอนและช่วยทำลายมันเสียด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือชนชั้นนำนิยม ต่อต้านความเท่าเทียมกันทางสังคม มุ่งสร้างการมืองแบบขาวดำ/มิตร-ศัตรู เห็นกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างจากกลุ่มตนเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด ปล่อยให้อยู่ร่วมสังคมการเมืองเดียวกันไม่ได้ ส่งเสริมและบ่มเพาะค่านิยมแบบคับแคบรังเกียจเดียดฉันท์คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากกลุ่มตน เช่น ความคิดคลั่งชาติ ศาสนา และสีผิว เป็นต้น ที่สำคัญมุ่งใช้วิธีการที่เน้นการปะทะเผชิญหน้า แตกหัก และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงหรือไม่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเป็นทางออก กลุ่มเหล่านี้มีอยู่มากมายเต็มไปหมดทั้งในประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาและเชื้อชาติ กลุ่มนีโอนาซี กลุ่มต่อต้านชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพ กลุ่มแอนตี้เกย์ หรือกระทั่งกลุ่มที่รวมตัวกันในนามที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย เช่น กลุ่มสมาคมการค้า (โดยเฉพาะในละตินอเมริกา) แต่มีจุดประสงค์เบื้องหลังเพื่อทำลายการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาและกรรมกร และขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของพวกตน กล่าวในภาษาที่ล้อกับงานกลุ่มแรกก็คือว่าภาคประชาสังคมกลายเป็นโรงเรียนบ่มเพาะค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตยไปเสีย การตระหนักถึงบทบาทด้านลบของภาคประชาสังคม ทำให้นักวิชาการจำนวนมากเสนอว่าเราต้องไม่ไปโฟกัสอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสังคมเท่านั้น เพราะในภาคสังคมเองก็มีความขัดแย้ง แตกแยกและมีการต่อสู้อย่างรุนแรง ภาคประชาสังคมไม่ใช่กลุ่มก้อนที่มีความกลมกลืนสมานฉันทน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การอ้างความเป็นประชาชนและภาคประชาสังคมจึงไม่ได้ทำให้กลุ่มองค์กรหนึ่งๆ มีความชอบธรรมทางการเมืองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ เพราะเงินทุน เครือข่ายกำลังคนและทรัพยากรทางการเมืองขององค์กรในภาคประชาสังคมอาจถูกใช้เป็นฐานสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบชนชั้นนำนิยมหรือเผด็จการก็ได้ ฉะนั้นเวลาพิจารณาภาคประชาสังคม เราไม่สามารถดูที่ปริมาณอย่างเดียว หากต้องดูที่คุณภาพของภาคประชาสังคมด้วยว่าเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยหลักคิดชี้นำทางการเมืองที่ส่งเสริมคุณค่าแบบประชาธิปไตย หรือว่ามุ่งปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชังทางการเมือง ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงกันข้าม และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง[2]
แนนซี เบอร์มิโอ ชี้ว่างานในกลุ่มอนารยะสังคมนี้ ทำให้ประชาสังคมมีภาพพจน์ที่กำกวมมากขึ้น จนมันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นยาสารพัดโรคหรือเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยอีกต่อไป กระทั่งมีการเสนอว่าประชาสังคมและสามัญชนเล่นบทเป็นผู้ร้ายในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตด้วยซ้ำ โดยบทผู้ร้ายนี้ดำเนินไปในสองแบบด้วยกัน หนึ่ง ในยามที่สังคมมีการแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม ถึงจุดที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยอมประนีประนอมกันอีกต่อไป หากมุ่งเอาชนะคะคานกันให้แตกหักไปข้างหนึ่ง ประชาชนเข้าร่วมเป็นฐานทางการเมืองให้ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต่อสู้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามอย่างดุเดือด ตอกลิ่มการเมืองแบบแบ่งขั้ว ทำให้ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำขยายตัวกลายเป็นความแตกแยกของทั้งสังคมการเมือง และหยั่งรากลึก จนระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ภาวะดังกล่าวอาจขยายตัวไปเป็นภาวะสงครามกลางเมือง สอง ในห้วงเวลาวิกฤตทางเศรษฐกิจการเมือง สามัญชนและประชาชนเกิดความผิดหวังเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย เหมารวมเอาว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (ไม่ใช่แค่เฉพาะคณะรัฐบาล) เป็นต้นเหตุทั้งมวลของปัญหา จนไม่มีคุณค่าที่จะต้องรักษาไว้เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ และหันไปเรียกร้องให้กลุ่มการเมืองเผด็จการเข้ามาปกครองบ้านเมืองด้วยความเข้มแข็งเฉียบขาด ตอนจบของละครการเมืองแบบนี้ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์โลก คือ การที่ท้ายที่สุดกองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองในนามของ “ประชาชนและประชาธิปไตย” “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” และข้ออ้างเพื่อยุติวิกฤตของบ้านเมือง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (ที่ถูกฉายภาพว่าวุ่นวาย) และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นแทนที่ ในกรณีที่สองนี้ สามัญชนเล่นบทเป็นผู้เชื้อเชิญให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งจากการศึกษาของแนนซี เบอร์มิโอ ชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารในยุคการเมืองมวลชนสมัยใหม่จะไม่มีทางสำเร็จ หากกองทัพไม่สามารถสร้างพันธมิตรหรือได้สัญญาณเชื้อเชิญจากกลุ่มการเมืองที่สำคัญในภาคประชาสังคม ทฤษฎีที่อธิบายบทบาทของสามัญชนในสถานการณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ทฤษฎี (ประชาชน) เอาใจออกห่าง (จากประชาธิปไตย) สะท้อนอารมณ์ผิดหวังอกหักของนักคิดที่ฝากความหวังไว้กับสามัญชนในการเป็นปราการด้านสุดท้ายของประชาธิปไตย
หนังสือของแนนซี เบอร์มิโอ มีข้อสรุปที่เห็นต่างจากทั้งสองกลุ่ม เธอไม่เห็นประชาชนและประชาสังคมเป็นวีรบุรุษแบบงานในกลุ่มแรก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงกับเห็นพวกเขาเป็นผู้ร้ายของระบอบประชาธิปไตยตามแบบงานกลุ่มที่สอง เธออธิบายว่างานในกลุ่มที่สองนั้นมีส่วนถูก แต่ถูกเพียงบางส่วน แนนซีเสนอข้อถกเถียงว่าตัวละครที่มีบทบาทหลักทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายลงในทั้ง 17 ประเทศที่เธอศึกษาคือ ชนชั้นนำมากกว่าที่จะเป็นประชาชน ประชาชนนั้นมีส่วนทำให้การเมืองมีความผันผวน แตกแยก และแบ่งขั้ว จนกระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตหรือล่มสลายลงได้จริง แต่บทบาทของประชาชนนั้นเป็นเพียงบทตัวประกอบหรือผู้แสดงสมทบเท่านั้น และจากการค้นคว้าของเธอพบว่าประชาชนไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างที่มักจะเข้าใจกัน และกลุ่มที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็ไม่ได้มีฐานสนับสนุนล้นหลามอย่างที่เข้าใจด้วย การโค่นล้มประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งต้องการโค่นล้มมัน และพวกเขาประสบความสำเร็จโดยการสร้างพันธมิตรกับผู้นำบางกลุ่มใน “ภาคประชาชน” ให้เคลี่อนไหวสร้างสถานการณ์ของการแตกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจของตนเข้ามายึดอำนาจและล้มล้างระบอบประธิปไตย

การแบ่งขั้วเทียมและมติมหาชนในจินตนาการ
งานวิชาการก่อนหน้านี้ที่ศึกษาการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในยุโรปและละตินอเมริกา เสนอว่าความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงนำไปสู่การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย แนนซี เบอร์มิโอ เสนอคำอธิบายใหม่ว่าการแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่กว้างขวางและลงรากลึกอย่างที่เราถูกทำให้เชื่อ หากเป็นการแตกแยกแบ่งขั้วที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจและอย่างบิดเบือน (constructed and distorted polarization) เป็นการแบ่งขั้วเทียมๆ ที่ถูกขยายผลให้ดูเสมือนจริงโดยชนชั้นนำที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไปเป็นระบอบอื่น ในประวัติศาสตร์ยุโรป ชนชั้นนำกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มนิยมเจ้า พรรคการเมืองฝ่ายขวา กองทัพ หรือกลุ่มการเมืองในภาคประชาสังคมที่มีอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ซึ่งต่างเห็นว่าพวกตนสูญเสียอำนาจจากกฎกติกาทางการเมืองที่ดำรงอยู่ และไม่สามารถเข้าไปแข่งขันภายใต้กติกานี้ เป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองที่พวกเขาต้องการคือ การล้มกระดานและสร้างกฎกติกาชุดใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำอภิสิทธิ์ ตัวละครการเมืองเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ ที่อาจจะเรียกว่า พันธมิตรเพื่อการรัฐประหาร (coup coalition) ความแตกแยกแบ่งขั้วที่จริงๆ แล้วจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือประชากรกลุ่มหนึ่ง ถูกขยายผลจากเครือข่ายนี้ให้สาธารณชนและชนชั้นนำกลุ่มอื่นเข้าใจว่าประเทศได้เดินมาถึงจุดวิกฤตที่ไม่อาจเยียวยาและแก้ไขได้ด้วยกฎกติกาและสถาบันการเมืองภายในระบอบประชาธิปไตย เพราะความแตกแยกนี้หยั่งรากลึกไปทั้งสังคม รอยร้าวไม่อาจประสานได้ ความขัดแย้งอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยกลไกรัฐ บ้านเมืองกำลังจะลุกเป็นไฟหรือเข้าสู่สภาพอนาธิปัตย์ ภาพการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงเช่นนี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อลดทอนความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย และสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจของพันธมิตรเพื่อการรัฐประหาร ผ่านวิถีทางนอกกติกาประชาธิปไตย ที่สำคัญและน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำกลุ่มอื่นที่อยู่นอกเครือข่ายการรัฐประหารก็มีส่วนรับผิดชอบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อการสร้างวิกฤตการเมืองและทำให้ประชาธิปไตยต้องจบชีวิตลงด้วย โดยการเดินหมากทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยง ผิดพลาด และขาดความรับผิดชอบ เช่น การที่ผู้นำรัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายกับการเคลื่อนไหวของสมาชิกในเครือข่ายรัฐประหาร เข้าไปแทรกแซงกองทัพโดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่พยายามแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแต่กลับไปหมกมุ่นกับการจับผิดและเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม รวมถึงการนิ่งเฉยดูดายกับการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและละเมิดกฎหมายของเครือข่ายรัฐประหาร ชนชั้นนำในพรรคการเมืองนอกเครือข่ายรัฐประหารก็เป็นอีกตัวละครหลักที่อาจทำให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้นด้วยการโดดเดี่ยวรัฐบาล หันไปจับขั้วเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับเครือข่ายรัฐประหารแทนที่จะโดดเดี่ยวพวกเขา ทำให้ดุลอำลังอำนาจเปลี่ยนและไปสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารเสียเอง พูดง่ายๆ ว่าในสถานการณ์วิกฤต ชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ โหมกระพือความแตกแยก (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) และสมทบส่วนกันไปมาในการขันเกลียวแห่งความขัดแย้งจนแน่นไปถึงจุดที่คลี่คลายไม่ได้
ผู้เขียนสนับสนุนข้อถกเถียงดังกล่าวด้วยการศึกษาประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมจาก 17 กรณีศึกษาตั้งต้น โดยศึกษาประเทศที่ประชาธิปไตยไม่ล่มสลายลงแม้ว่าสังคมนั้นจะเผชิญกับความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมือง เธอพบว่าทัศนคติบวกกับการตัดสินใจทางการเมืองอันถูกต้องของชนชั้นนำทางการเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประคับประคองสถานการณ์วิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ กล่าวคือ กองทัพไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองตามคำเชื้อเชิญของเครือข่ายรัฐประหาร หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย รัฐบาลไม่ตัดสินใจบุ่มบ่ามผลีผลาม หากยึดมั่นกับการบังคับใช้กฎหมายกับทุกกลุ่มการเมืองอย่างเสมอภาคกัน และผู้นำพรรครัฐบาลไม่โอนเอียงไปสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบสุดโต่งของเครือข่ายรัฐประหาร เธอเสนอว่าที่เราต้องสนใจชนชั้นนำเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ในทุกประเทศที่เธอศึกษาไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย และหันไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงอย่างที่เข้าใจ เครือข่ายเพื่อการรัฐประหารมีฐานสนับสนุนน้อยกว่าที่คิดมาก เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการปลุกปั่นกระแสในพื้นที่สาธารณะและกลบเสียงของกลุ่มอื่นๆ ทั้งด้วยกลไกการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้ความรุนแรง
ข้อสรุปสำคัญจากงานชิ้นนี้ก็คือว่า สภาพของแตกแยกแบ่งขั้วในสังคมมักจะถูกขยายความเกินจริงเสมอ และมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาพการเมืองที่บิดเบี้ยวนี้ เราต้องระมัดระวังที่จะไม่อ่านสถานการณ์การเมืองบนฐานข้อมูลที่ถูกปลุกปั่น แนนซี เบอร์มิโอ เสนอว่าในสถานการณ์วิกฤต ทุกฝ่ายต่างอ้างว่ากลุ่มตนเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงประชาชน ปัญหาคือเจตจำนงของประชาชนไม่เคยเป็นหนึ่งและก็มักจะมีมากกว่าสองขั้ว แต่ชนชั้นนำมักต้องการทำให้สังคมเชื่ออย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องไตร่ตรองว่าเจตจำนงประชาชนมีหนึ่งเดียวและอยู่ข้างตนเสมอ ในโลกแห่งความเป็นจริงทางการเมือง ไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะพบว่าเจตจำนงของประชาชนแตกออกเป็นหลายขั้ว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเด็นทางการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง ประชาชนไม่ได้ยึดติดอยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างถาวร จากการศึกษาของเธอพบว่า มีกรณีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่ประชาชนคนหนึ่งลงคะแนนเสียงในประชามติเกี่ยวกับกฎหมายฉบับสำคัญไปทางหนึ่ง พอถึงเวลาเลือกตั้งกลับออกเสียงไปอีกทางหนึ่ง ร้ายไปกว่านั้นเมื่อพรรคการเมืองที่เขาเลือกเข้ามาเองมีนโยบายที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็ออกไปบนท้องถนนร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลด้วย
คำถามใหญ่คือ เราจะประเมินมติมหาชนอย่างไร แนนซีเสนอว่ามติมหาชนสามารถปรากฎตัวในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน ในคูหาเลือกตั้ง ในโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในหนังสือพิมพ์ หรือในสภากาแฟ ปัญหาก็คือ ความแตกแยกแบ่งขั้วที่ปรากฎบนท้องถนนมักจะส่งเสียงดังกลบมติมหาชนในพื้นที่อื่นๆ เพราะเห็นชัดกว่า ตื่นเต้นเร้าใจกว่า ทำให้ปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอ ในขณะที่เสียงของประชาชนในพื้นที่อื่นๆ มักจะถูกละเลย กลายเป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน และดังนั้นจึงไม่ถูกนับรวมเข้ามาในการคิดคำนวณทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ สรุปก็คือ การแบ่งขั้วเทียม และ มติมหาชนในจินตนาการ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของฝ่ายชนชั้นนำเพื่อการรัฐประหาร งานของเธอจึงเสนอว่า เราต้องสร้างช่องทางอันหลากหลายให้เสียงของประชาชนได้ปรากฏตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาผูกขาดความเป็นเจ้าของเจตจำนงประชาชน นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนควรถูกประเมินอย่างจริงจังรอบคอบ และไม่ผลีผลามที่จะถูกด่วนสรุปว่าเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนทั้งสังคม

สงครามครั้งสุดท้าย?
หนังสือเล่มนี้จุดประเด็นมากมายให้เราได้ขบคิด ประการแรกสุดเลยก็คือว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมแรกและไม่ใช่สังคมเดียวที่เผชิญกับความผันผวนและความสับสนอลหม่านของระบอบประชาธิปไตย ประเทศอื่นในโลกต่างเผชิญกับปัญหานี้มาแล้วมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป หลายประเทศประสบความสำเร็จในการประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยอยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางอุปสรรคนานัปประการ ในขณะที่หลายประเทศล้มเหลว ทั้งชนชั้นนำและสามัญชนต่างมีบทบาทสำคัญที่อาจจะช่วยค้ำจุนหรือช่วยกันทำลายประชาธิปไตยก็ได้ บทเรียนจากประเทศอื่นน่าจะเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เรามีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นกับปัญหาที่เราเผชิญอยู่ แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยอาจจะให้กำเนิดรัฐบาลที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่น่าพิสมัย หรือทำงานขาดประสิทธิภาพ กระทั่งใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ก็ไม่มีวิกฤตอะไรที่ร้ายแรงจนปฏิรูปแก้ไขไม่ได้ด้วยกลไกและสถาบันทางการเมืองภายในระบบ เพราะระบอบประชาธิปไตยเองโดยธรรมชาติเป็นระบอบที่หยุดยุ่น ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อจัดการแก้ไขความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ
มีเหตุผลที่เข้าใจได้หลายประการที่เราจะรักประชาธิปไตยน้อยลงเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของรัฐบาลต่างๆ ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่เท่ากับระบอบ และก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหันไปโหยหาระบอบรัฐประหาร, รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลจากการแต่งตั้ง หรือระบอบอื่นใดที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง มีก็แต่ทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น ที่จะเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางการเมืองและออกจากวิกฤตประชาธิปไตย
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสงครามครั้งสุดท้ายในสังคมการเมืองประชาธิปไตย มีแต่การต่อสู้ต่อรองอันถาวรของผลประโยชน์ และความคิดเห็นที่แตกต่าง ภาษาของสงครามเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้กับการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะตรรกของสงครามบดบังจินตนาการในการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางสันติ ผลักไสให้เราใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน ให้เลือดตกยางออก ตายตกตามกัน จนรู้ผลแพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง เห็นความต่างเป็นศัตรูหรือไส้ศึกที่ต้องกำจัด ในขณะที่ตรรกของประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราแก้ปัญหาโดยสันติ เพราะมันไม่ใช่การเมืองของแตกหัก หากคือการเมืองของการโน้มน้าว จูงใจ ต่อรอง เจรจา ภายใต้กรอบกติกาที่ออกแบบอย่างรอบคอบและเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ตามสถานการณ์ ไม่มีผู้ชนะและผู้แพ้อันถาวร มีแต่ผู้ชนะและผู้แพ้ชั่วคราว ไม่มีศัตรูและข้าศึก เพราะทุกคนต่างเป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกันหากแต่มีความคิดเห็นและผลประโยชน์อันแตกต่าง
จากประสบการณ์ของประเทศอื่น การแบ่งขั้วทางการเมืองที่อยู่บนฐานของความเกลียดชัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ต้องหยุดยั้ง ก่อนที่ประชาธิปไตยไทยจะตกหล่มอีกรอบหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ชวนให้เราตระหนักว่าขั้วการเมืองในสังคมประชาธิปไตยมักมีมากกว่าสองขั้วเสมอ เพราะประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราใช้เสรีภาพตัดสินใจในประเด็นปัญหาต่างๆ อันมากมายเกินกว่าที่เราจะไปเห็นด้วยกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งไปเสียทุกเรื่อง สังคมไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เช่น เราอาจจะเห็นร่วมกันในประเด็นสิทธิบัตรยา แต่เห็นต่างกันในประเด็นการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ เห็นร่วมกันในแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่เห็นต่างกันในกรณีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมือง มาถึง ณ จุดนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะทบทวนกันอย่างจริงจังว่า ที่เราบอกว่าสังคมไทยแตกออกเป็นสองขั้วนั้น สองขั้วจริงกระนั้นหรือ? และสองขั้วที่ว่านั้นเห็นต่างกันอย่างคอขาดบาดตายในเรื่องอะไรหรือ? อะไรเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งที่ถึงกับทำให้เราโกรธเกลียดกันจนอยู่ร่วมสังคมเดียวกันไม่ได้? หรือเอาเข้าจริงความแตกแยกแบ่งขั้วที่ว่าเป็นการต่อสู้ของชนชั้นนำสองฝ่ายที่ต้องการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์กันใหม่ โดยอาศัยการเคลื่อนไหวประชาชนเป็นฉากกำบังสร้างความชอบธรรมให้กับตน โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ความแตกแยกปูทางไปสู่การรัฐประหาร โดยไม่รู้คำตอบที่ถามไปข้างต้น ผมได้แต่เสนอเอาเองเป็นตุ๊กตาว่าหากจะมีปัญหาอะไรที่ต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ผมคิดว่ามันคือ 1) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐบาลพลเรือน 2) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ 3) การปฏิรูประบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมือง 4) การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และ 5) การจัดโครงสร้างรัฐใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้
ผมเชื่อว่าสังคมไทยคงจะมีความเห็นแตกต่างกันมากมายในประเด็นเหล่านี้ และความต่างในแต่ละประเด็นนั้นคงจะมีเกินกว่าสองขั้ว ปัญหาเหล่านี้ต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยน ขบคิด อภิปราย เจรจา ต่อสู้ ต่อรองและทะเลาะกันอย่างไม่รู้จบจากทุกภาคส่วนของสังคม บนพื้นที่ทางการเมืองอันหลากหลาย ที่แน่นอนคือว่า มันไม่อาจยุติลงได้ด้วยการประกาศสงครามครั้งสุดท้ายบนท้องถนน


[1] 13 ประเทศดังกล่าวคือ ออสเตรีย บัลแกเรีย เอสโทเนีย เยอรมันนี กรีซ อิตาลี ลัทเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สเปน และ ยูโกสลาเวีย
[2] สำหรับคนที่สนใจรายละเอียดของงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม ขอให้ดู Sheri Berman, “Civil Society and the Collapse of the Weimar Republic,” World Politics 49: 3 (1997) ในกรณีเยอรมัน และ Leigh Payne, Uncivil Movements: The Armed Right Wing Movement and Democracy in Latin America (Johns Hopkins University Press, 2000) ในกรณีละตินอเมริกา.

No comments: