Tuesday, October 21, 2008

review commodifying marxism

การเมืองวัฒนธรรมเรื่องลัทธิมาร์กซิสต์-ความเป็นไทย-ตลาดทุนนิยม ใน
Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958


“นี่เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนบทความหลายชิ้นของนักวิจัย… แต่มันเหมือนนวนิยาย ทำให้เราอยากจะหัวเราะ หรือบางครั้งก็อยากจะร้องไห้”
เบเนดิค แอนเดอสัน[1]

ภูมิประเทศทางปัญญาของหนังสือ
ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอสัน ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในการศึกษาภูมิภาคอุษาคเนย์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) เจ้าของผลงานวิชาการเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมอันลือลั่นเรื่อง Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเปรียบเทียบชะตากรรมและชีวิตทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายอินโดนีเซียกับฝ่ายซ้ายไทยยุคหลังขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลายในทั้งสองประเทศไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง[2] จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ หากใครสนใจขอให้ติดตามอ่านจากบทความดังกล่าว
เมื่อมองภาพตัดเปรียบเทียบระหว่างฝ่ายซ้ายหลังขบวนการคอมมิวนิสต์ในทั้งสองประเทศ เขาพบว่าแม้จะมีความแตกต่างกันหลายประการอันเนื่องมาจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และภูมิประเทศทางการเมืองวัฒนธรรมที่ผิดแผกแตกต่างกัน แต่ก็มีเส้นใยลึกลับบางประการที่เชื่อมโยงร้อยรัดนักคิดฝ่ายก้าวหน้าของทั้งสองประเทศให้มีคุณลักษณะร่วมกันทางปัญญาด้วย เบเนดิค แอนเดอสันพูดถึง- ชาตินิยม, ประวัติศาสตร์ และการพิมพ์
ในกรณีของนักคิดฝ่ายซ้ายไทย เมื่อโบกมือลาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ออกจากป่าคืนสู่เมือง ในแง่ชีวิตส่วนตัว, พวกเขามีโอกาสร่ำเรียนศึกษาต่อจนจบกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ตามมหาวิทยาลัย มิต้องเผชิญสภาพทุกข์ทรมานของการถูกคุมขัง เนรเทศ หรือลี้ภัยไปต่างแดนเช่นเดียวกับสหายร่วมอุดมการณ์ในอินโดนีเซีย ในทางความคิด, พวกเขาทุ่มเทเวลาและสติปัญญาทั้งหมดที่มีเพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาจึงพ่ายแพ้ทางการเมือง อะไรเป็นมูลฐานของความผิดพลาดล้มเหลว ในขณะเดียวกันอะไรที่ทำให้ศัตรูของพวกเขาถึงเข้มแข็งนัก
คำถามเหล่านี้นำพาพวกเขา “แลไปข้างหลัง” เพราะเชื่อว่าความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีมูลเหตุสำคัญมาจากการขาดความเข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถ่องแท้
สำหรับพวกเขาประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นกุญแจไขคำตอบ มิใช่เพื่อเข้าใจอดีตที่มิอาจหวนคืนเท่านั้น แต่เพื่อที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างรู้เท่าทันด้วย
เบเนดิค แอนเดอสันยกผลงาน 3 ชิ้นขึ้นมาเป็นตัวแทนเพื่อฉายให้เห็นภาพที่เขานำเสนอ งานทั้ง 3 ชิ้นเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย 3 คนที่เดินทางไปเรียนต่อยังต่างประเทศ (อเมริกาและออสเตรเลีย) ในช่วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยจบชีวิตทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว (และในระหว่างที่ร่ำเรียนอยู่ พวกเขาก็ทันเห็นสหภาพโซเวียตล่มสลายไปกับตา) ได้แก่ วิทยานิพนธ์ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล[3], เกษียร เตชะพีระ[4] และธงชัย วินิจจะกูล[5] และเพื่อความสมบูรณ์เราควรเพิ่มวิทยานิพนธ์อีกฉบับหนึ่งซึ่งออกมาทีหลังสุดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเข้าไปด้วย[6] ในขณะที่สองเล่มแรกเป็นวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ สองเล่มหลังเป็นวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ แต่ทั้งหมดล้วนใช้แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์เข้าสู่ปัญหา
ทั้ง 4 เล่มเป็นการไต่สวนศึกษาอดีตด้วยวิธีการ มุมมอง ข้อมูล และทัศนะใหม่ ก่อเกิดเป็นผลงานการค้นคว้าชั้นดี ละเอียดลออ แปลกแหวกแนวที่มีผลพลิกกลับมุมมองกระทั่งท้าทายความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนสิ้นสุดยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2500) ที่มีการศึกษากันมาก่อนหน้า
ในขณะที่เสกสรรค์และธงชัยพิจารณาไปที่กำเนิดและความเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยและความเป็นชาติไทยโดยดูผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และความรู้ทางภูมิศาสตร์ (แผนที่) ตามลำดับ สมศักดิ์กับเกษียรพิเคราะห์อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มุ่งศึกษาทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ศัตรูที่สำคัญและเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นลัทธิการเมืองที่พวกเขาเคยสมาทานจนถึงกับอุทิศชีวิตตัวเองเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุอุดมการณ์ดังกล่าวก่อนที่จะผิดหวังฝันสลายในเวลาต่อมา การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นการทำความเข้าใจ “ผี” ที่หลอกหลอนรัฐไทยและหลอกหลอนพวกเขาด้วยในเวลาเดียวกัน
ในบรรดางานทั้ง 4 ชิ้น งานของธงชัยถูกนำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรียบร้อยก่อนใครอื่น[7] จนเมื่อปีที่ผ่านมาเกษียร เตชะพีระ ปรับปรุงแก้ไขวิทยานิพนธ์ของเขาตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนาขนาด 390 หน้า ห่างจากระยะเวลาที่มันปรากฏตัวครั้งแรกในรูปวิทยานิพนธ์ถึง 9 ปีเต็ม[8]

เมื่อลัทธิมาร์กซิสต์สวมความเป็นไทย และวางขายในตลาดทุนนิยม
เกษียรแบ่งหนังสือของเขาออกเป็นทั้งหมด 9 บท กรอบทฤษฎีและมุมมองในการศึกษา ยังคงยืนตามที่เขานำเสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ แม้จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดงอกเงยเพิ่มพูนจากงานชิ้นอื่นที่ออกมาหลังจากวิทยานิพนธ์ของเขาซึ่งเขาก็ได้นำมาใช้ในการปรับปรุงงาน แต่มิได้ส่งผลกระทบต่อการตีความและข้อถกเถียงหลักที่เขาเสนอไว้
จุดเด่นและข้อต่างประการสำคัญของหนังสือเรื่อง Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 จากงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์โดยนักวิชาการไทยและต่างประเทศที่ผ่านมาทั้งหมดอยู่ที่กระบวนทัศน์ในการศึกษา ซึ่งผู้เขียนพลิกเปลี่ยนมุมมองทัศนะและใช้เครื่องมือในการศึกษาใหม่
เขาปฏิเสธแนวทางการศึกษาที่ถือทัศนะแอนตี้คอมมิวนิสต์เป็นที่ตั้ง อาศัยแต่เอกสารราชการ และอิงนโยบายรัฐบาลไปมองความเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ การศึกษาแนวนี้เชื่ออย่างสนิทใจล่วงหน้าไปแล้วว่าคอมมิวนิสต์คือความเป็นอื่น แปลกแยก เข้ากันไม่ได้กับความเป็นไทย และดังนั้นจึงไม่ควรและไม่อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ในขณะเดียวกันเขาก็ถอยห่างออกจากการศึกษาในเชิงทฤษฏีสังคมของบรรดามาร์กซิสต์ที่ถือเอาลัทธิมาร์กซ์เป็นสัจธรรมสากล สนใจแต่แง่มุมความถูก-ผิดทางทฤษฏีของการประยุกต์ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์มาใช้ในสังคมไทย จึงให้เหตุผลว่าที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ล้มเหลวพ่ายแพ้ทางการเมืองเพราะเข้าใจหรือใช้ทฤษฎีผิดพลาด โดยมองข้ามและไม่ตระหนักถึงปัญหาทางภาษาและวัฒนธรรมของการนำเข้าลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ซึ่งถือกำเนิดในต่างประเทศมาเผยแพร่ประยุกต์ใช้ในสังคมไทย
เกษียรปรับกระบวนทัศน์ใหม่เข้าไปมองประเด็นปัญหา โดยใช้การศึกษาในแนว “การเมืองวัฒนธรรม” (Cultural Politics) ซึ่งมิได้พิจารณาเน้นไปที่การต่อสู้ในเชิงองค์กรหรือขบวนการทางการเมืองหรือเน้นที่ความถูก/ผิดทางทฤษฎีของแนวคิด แต่ให้ความสำคัญกับการขับเคี่ยวต่อสู้ช่วงชิงนิยามคำและความหมายระหว่างกลุ่มฝ่ายต่างๆในสังคมการเมืองหนึ่งๆ เพื่อรองรับปฏิบัติการทางการเมืองและการครองอำนาจของตน มองในแง่นี้วาทกรรมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ซึ่งถูกนำเข้าข้ามวัฒนธรรมและภาษามาจากสังคมอื่นจึงมิอาจนำมาปลูกลงในเนื้อดินของสังคมไทยโดยสะดวกง่ายดายปลอดโล่งอุปสรรค มองในสายตานักการเมืองวัฒนธรรม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อัตวิสัยของปัญญาชนลัทธิมาร์กซิสต์ว่าเข้าใจทฤษฏีถูกหรือผิดแต่ด้านเดียว แต่เป็นเพราะวาทกรรมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ต้องมาเผชิญหน้าปะทะประสานกับวัฒนธรรมไทยที่ดำรงอยู่ก่อน ซึ่งได้ถูกปัญญาชนเจ้านายและ ขุนนางอนุรักษ์นิยมสร้างภูมิคุ้มกันเพาะเชื้อแอนตี้คอมมิวนิสต์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
นอกจากนั้น เกษียรยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ถูกนำเข้ามาในสังคมไทย และเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านตลาดสิ่งพิมพ์ ผลที่เกิดขึ้นคือ มันกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ตรรกของตลาดทุนนิยมเฉกเช่นเดียวกับสินค้าอื่น (อุปสงค์-อุปทาน-กลไกราคา) การนำลัทธิมาร์กซิสต์มาเผยแพร่โดยมุ่งหวังที่จะสร้างอิทธิพลต่อสาธารณชนไทยจึงต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ของตลาดทุนนิยมอีกด่านหนึ่งด้วย ประเด็นนี้นับว่าทั้งแปลกแหวกแนวและสร้างสรรค์ เนื่องจากไม่เคยมีงานศึกษาชิ้นอื่นพิจารณาถึงความสัมพันธ์นี้เลย
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์กับวัฒนธรรมไทยและตลาดทุนนิยมจึงเป็นหัวใจและปมปริศนาของหนังสือเล่มนี้

การนำเข้า ผลิตซ้ำ ตีความ เผยแพร่ และซื้อขายลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์
เขาเริ่มต้นบทที่ 2 “Lookjin Communist: The Bridgehead of SiameseCommunism”จากการพิจารณาตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการนำความคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย ซึ่งมิใช่บรรดานักเรียนนอกที่ไปร่ำเรียนในตะวันตกเหมือนดังประเทศเพื่อนบ้าน หากคือชาวจีนและเวียดนามอพยพที่เข้ามาในไทยเมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เพื่อเคลื่อนไหวกู้ชาติของตน คนเหล่านี้ (โฮจิมินห์เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง) เข้ามาเคลื่อนไหวทางความคิด นำเข้าหนังสือคอมมิวนิสต์ เปิดร้านหนังสือและสโมสร จัดทำหนังสือพิมพ์และใบปลิว ตั้งโรงเรียนเอกชน จัดตั้งองค์กรทางการเมือง ทั้งหมดนี้มุ่งไปยังชุมชนชาวจีนและเวียดนามอพยพเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญเป็นแกนในการเคลื่อนไหวและสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศไทยในเวลาต่อมาคือ บรรดาลูกจีนคอมมิวนิสต์ที่เกิดในไทย ในส่วนนี้เกษียรลำดับให้เห็นความเคลื่อนไหวของชาวคอมมิวนิสต์ในระยะแรกซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนพัวพันกับความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียและระดับสากล มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับที่จะเข้าใจความคลี่คลายต่อมา
ในขณะที่ความคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เดินทางมาจากทิศตะวันออก ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า
การแอนตี้คอมมิวนิสต์เดินทางมาจากทิศตะวันตกผ่านชนชั้นนำสยามที่กลับมาจากการไปร่ำเรียนในยุโรป โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับการเมืองวัฒนธรรมไทยที่เกษียรชี้ให้เห็นคือ การแอนตี้คอมมิวนิสต์นั้นเกิดขึ้นก่อนที่ความคิดคอมมิวนิสต์จะเข้ามาแพร่หลายในสังคมไทยเสียอีก เข้าทำนองวางหมากทางวัฒนธรรมดักสกัดความคิดที่จะมีอันตรายต่อชนชั้นนำล่วงหน้า รัชกาลที่ 6 อาศัยอัจฉริยภาพทางการประพันธ์โยงลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งกำลังเฟื่องฟูจากการปฏิวัติรัสเซียในพ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) เข้ากับความเชื่อทางศาสนาเรื่องอุตตระกุรุ และศาสนาพระศรีอารยเพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตามพระองค์ว่าคอมมิวนิสต์นั้นเป็นความคิดที่เพ้อฝัน ปฏิบัติจริงไม่ได้
บวกกับอุดมการณ์ชาติพันธุ์ว่าด้วย “ความเป็นไทย” (the ethno-ideology of Thainess) ซึ่งก่อตัวขึ้นมาจากการนิยามความเป็นไทยของชนชั้นนำสยาม ไม่ว่าจะเป็น “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) “ลักษณะไทย” (สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งเป็นคำนิยาม “ความเป็นไทย” ที่เน้นความจงรักภักดี เคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจ อดกลั้นประสานประโยชน์ ในแง่นี้ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงขัดแย้งกับ “ความเป็นไทย” โดยสิ้นเชิง
ชาวคอมมิวนิสต์จีน-เวียดนามอพยพที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามและลูกหลานของพวกเขาจึงถูกกีดกันและผลักไสออกจากความเป็นไทย พวกเขามิอาจเป็นไทยได้ในทางการเมืองวัฒนธรรมทั้งโดยเชื้อชาติและอุดมการณ์
ปัญหาก็คือ เพื่อที่จะบรรลุอุดมการณ์ทางการเมือง ชาวคอมมิวนิสต์มิอาจอาศัยกำลังของตนเพียงลำพัง ดังนั้นจึงต้องเชื่อมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เข้ากับคนไทยโดยตนเองทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ ก้าวข้าม “ความไม่เป็นไทย” ทางการเมืองวัฒนธรรม เพื่อสามารถดัดแปลงแปรเปลี่ยนลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากจีนให้กลายเป็นไทย
ประเด็นนี้เป็นเนื้อหาของบทที่ 3 “Institutions of Thaification: How the Lookjin Communists Turned Thai Patriots” ซึ่งเกษียรได้วิเคราะห์ให้เห็นอย่างพิสดารว่าลูกจีนคอมมิวนิสต์แม้จะมิอาจเปลี่ยนเชื้อชาติและไม่ยอมเปลี่ยนอุดมการณ์ แต่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองให้ก้าวข้ามความไม่ไทยอย่างไรในเชิงสังคมวิทยา-ภาษาศาสตร์ (socio-linguistic notion of Thainess) ตั้งแต่หัดเรียนเขียน-อ่าน-พูดภาษาไทย เปลี่ยนไปประกอบอาชีพที่คนไทยนิยมทำ (รับราชการ) และคบค้าสมาคมผูกสัมพันธ์กับคนไทย เขาอภิปรายถึงสถาบันหลักๆ 5 แห่งที่ช่วยให้ลูกจีนคอมมิวนิสต์เข้าไปเดินชุบตัวออกมากลายเป็นไทย ได้แก่ คุก โรงเรียน โรงงาน สหภาพแรงงาน และหนังสือพิมพ์ ส่วนที่น่าประทับใจที่สุดเห็นจะอยู่ตอนที่เขาบรรยายให้เห็นการสังสันทน์แลกเปลี่ยนทางปัญญาระหว่างนักโทษการเมืองต่างอุดมการณ์ในคุกบางขวาง ได้แก่นักโทษกบฏบวรเดชอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมกับนักโทษคอมมิวนิสต์ ฝ่ายหลังสอนภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีนให้ฝ่ายแรก ในขณะที่ฝ่ายแรกสอนภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และทักษะการใช้ภาษาไทยให้ฝ่ายหลัง แถมนักโทษคอมมิวนิสต์คนหนึ่งยังได้ชื่อสกุลภาษาไทยที่ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายกบฎบวรเดชตั้งให้ติดตัวออกมาจากคุกด้วย!!
ประเด็นที่สำคัญที่สุดในบทที่ 3 และน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องชาตินิยม คือ การที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าลูกจีนคอมมิวนิสต์ได้แปรชาตินิยมจีนของพวกเขากลายมาเป็นชาตินิยมไทยในเวลาเดียวกันได้อย่างไร สำหรับเขาจุดพลิกผันสำคัญอยู่ที่การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเดินทัพเข้ามายึดครองประเทศไทย เหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นให้เกิดจินตนาการทางการเมืองวัฒนธรรมเปรียบเทียบระหว่างการรุกรานของญี่ปุ่นในจีน (แผ่นดินบ้านเกิด) และไทย (แผ่นดินที่อยู่อาศัย) เกิดความรู้สึกว่ามีศัตรูร่วมกัน เปิดโอกาสทางประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกให้ลูกจีนคอมมิวนิสต์เล่นบทเป็นทั้งนักชาตินิยมจีนต่อต้านญี่ปุ่นและผู้รักชาติไทยต่อต้านญี่ปุ่นไปพร้อมๆกัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เขาโต้แย้งกับงานของเออิจิ มูราชิมานักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ศึกษาความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในเมืองไทยที่แม้จะให้ข้อมูลรายละเอียดดีเยี่ยม แต่มองไม่เห็นการกลายพันธุ์ของชาตินิยม กลับตีความการเคลื่อนไหวของลูกจีนคอมมิวนิสต์ระหว่างสงครามโลกทั้งหมดว่ามีเป้าหมายทางการเมืองเน้นไปที่ประเทศจีนเท่านั้น[9]
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 คอมมิวนิสต์เริ่มโผล่จากการเคลื่อนไหวใต้ดินขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองเปิดมากขึ้น แถมยังกลายเป็นองค์การทางการเมืองถูกกฏหมายเนื่องจากมีการยกเลิกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2489 อย่างไรก็ตามเกษียรชี้ว่ากระบวนการแปรลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นไทยเพิ่งจะบรรลุความสำเร็จแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
เพราะนอกจากสถานะความชอบธรรมทางกฎหมายแล้ว ภารกิจอีกครึ่งหนึ่งที่ต้องทำต่อคือ การแปรความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม, เชื้อชาตินิยม-ทหารนิยมให้มีเชื้อมูลของความเป็นซ้าย กล่าวโดยรูปธรรมคือ เขาหมายถึงการประกอบสร้างประวัติศาสตร์ไทย วาทกรรมทางการเมือง วรรณกรรม สัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น ”การจินตนาการชุมชนชาติไทยใหม่” (ดูหน้า 58)
บทที่ 4-7 เกษียรอภิปรายถึงกรรมวิธี กระบวนการผลิตวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมในรูปของสิ่งพิมพ์ เผยแพร่เข้าสู่ตลาดวัฒนธรรมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขานำเสนอว่าผ่านทุนนิยมการพิมพ์และตลาดทุนนิยมนั่นเองที่สินค้าทางวัฒนธรรมต่อต้านทุนนิยมอย่างลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ได้เฟื่องฟูและแพร่กระจายความคิดและภาษาของมันออกสู่สาธารณะ และก่อตัวขึ้นเป็นวาทกรรมต่อต้านวาทกรรมครอบงำตลอดช่วงทศวรรษ 2490 หากในขณะเดียวกันสินค้ายี่ห้อลัทธิมาร์กซิสต์ก็ต้องจ่ายราคาให้แก่ตลาดทุนนิยมด้วยเช่นกัน คือ ต้องตกอยู่ภายใต้ตรรกทางเศรษฐกิจ (อุปสงค์-อุปทาน-กลไกราคา) และโอกาสที่จะเสื่อมสาธารณ์ทางอุดมการณ์ในตลาดทุนนิยม
บทที่ 4 และ 5 เขาวิเคราะห์ด้านที่เป็นอุปสงค์ (demand) ที่ทำให้ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เป็นที่ดึงดูดและได้รับความสนใจ อุปสงค์พื้นฐานประกอบด้วย 3 ปัจจัยได้แก่ มีกลุ่มผู้อ่านที่มีศักยภาพ (อ่านออกเขียนได้และมีความรู้พอ) จะเสพงาน สองเกิดกระแสการเมืองระดับโลกที่ค่ายสังคมนิยมกลายเป็นมหาอำนาจหลังสงคราม บวกกับการปฏิวัติในประเทศจีน (พ.ศ. 2492 ) และกระแสการปฏิวัติกู้ชาติของเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ และสามความเสื่อมโทรมผุกร่อนตกต่ำของเศรษฐกิจสังคมในประเทศหลังสงคราม ทั้งหมดนี้ทำให้ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกทางการเมืองที่อาจจะมาช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ยากของคนไทยหลังสงคราม นอกจากนี้ยังมีอุปสงค์ที่เป็นตัวเร่งให้ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์เป็นที่นิยมอีก 2 ประการใหญ่ๆคือ ประการแรก การเสื่อมโทรมและหมดความชอบธรรมของอุดมการณ์การเมืองก่อนหน้านี้ที่เคยถูกทดลองใช้และรับมาปฏิบัติในเมืองไทยโดยกลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการทหารนิยม-ชาตินิยม และประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญนิยม ทำให้ระบบการเมืองใหม่อย่างคอมมิวนิสต์ซึ่งยังไม่เคยถูกนำมาใช้มีความน่าพิสมัยเสน่หา (เพราะยังไม่เคยใช้ จึงยังไม่เคยล้มเหลวเหมือนอุดมการณ์อื่น)
ประการที่สองคือ การเคลื่อนไหวมวลชนที่ปรากฏถี่ขึ้นภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด (ภายใต้บรรยากาศการเปิดเสรีทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่มีปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ) ซึ่งขบวนการคอมมิวนิสต์มีส่วนสร้างขึ้น (การเคลื่อนไหวกรรมกร-นักศึกษา-ชาวนา) ได้กระตุ้นความสนใจของประชาชนต่อความคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ และกระตุ้นจินตนาการของปัญญาชนหัวก้าวหน้าให้ตื่นเต้นกับกิจกรรมทางการเมืองของขบวนการคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษ 2490 นี่เองที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สามารถดึงดูดสมาชิกกลุ่มใหม่ที่มีความแตกต่างไปจากสมาชิกรุ่นก่อน (มีการศึกษาสูงและส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทย) เข้าร่วมขบวนการ คือนักศึกษาและปัญญาชนนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้พคท.ได้เชื่อมต่อกับความเป็นไทยรวมทั้งได้กำลังสำคัญในการผลิตเผยแพร่วาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์
ในบทที่ 6 เขาหันมาพิจารณาอุปทาน (supply) ของลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ที่จะมารองรับอุปสงค์ที่ขยายตัวขึ้น เกษียรชี้ให้เห็นความขาดแคลนของอุปทานในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บรรยากาศการเมืองยังไม่เอื้ออำนวย ช่องทางที่คนไทย (กลุ่มเล็กๆ) จะได้สัมผัสลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์มีเพียงช่องทางเล็กๆ คือ วิชาลัทธิเศรษฐกิจที่มีเปิดสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนเมื่ออุปสงค์ขยายตัวออกไปมากหลังสงคราม จึงเกิดตลาดรองรับ สิ่งพิมพ์จึงหลั่งไหลออกมาอย่างท่วมท้น หลากหลายและเป็นไปอย่างเปิดเผย แหล่งป้อนสินค้าลัทธิมาร์กซิสต์จากต่างประเทศสู่สังคมไทยที่เกษียรแจกแจงไว้ประกอบด้วย 4 แหล่งคือ 1.ร้านหนังสือเอกชน (เพื่อการค้าล้วนๆ กับที่มีเป้าหมายทางการเมือง) 2.ห้องสมุดสาธารณะ (ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ) 3.คลังหนังสือส่วนตัวของปัญญาชน (ที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เช่น สุภา ศิริมานนท์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ฯลฯ) 4.สถานทูตต่างประเทศ (สหรัฐฯและโซเวียต) โดยเกษียรเสนอว่าแหล่งแรกเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด
ตอนที่อภิปรายถึงบทบาทของสถานทูตโซเวียตและสหรัฐฯ นับว่าสนุกสนานมาก ทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติและลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของการแอนตี้คอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามว่าเป็นทั้งแฟชั่นทางการเมือง, กิจกรรมที่ดึงดูดความช่วยเหลือจากมหาอำนาจ (กระทั่งหน่วยงานของรัฐผลิตนิตยสาร มหาชน ของพคท.ฉบับปลอมออกมาเพื่อสร้างให้สหรัฐฯเห็นว่าผีคอมมิวนิสต์มีอยู่จริง ฉะนั้นสหรัฐฯช่วยสนับสนุนกิจกรรมแอนตี้คอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทยต่อไปเถิด!!) และเป็นเครื่องมือเอนกประสงค์ที่เอามาใช้ข่มขู่ บีบคั้น กดปราบศัตรูทางการเมืองของรัฐซึ่งบ่อยครั้งก็มิได้เป็นหรือเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์แต่ประการใด
สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นการแพร่กระจายของความคิดข้ามสังคม บทนี้ของเกษียรจะน่าสนใจเป็นพิเศษ และอาจเป็นตัวแบบให้นำไปศึกษากรณีอื่นได้ มันช่วยชี้ให้เราเห็นว่าการแพร่กระจายของความคิดนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนมาจากหลายช่องทาง และเกี่ยวพันกับบริบททางการเมือง ลักษณะทางสังคมของประชากร และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของสังคมอย่างพัวพัน
หลังจากแจกแจงวิเคราะห์อุปสงค์-อุปทานของตัวสินค้า เขาอภิปรายให้เห็นต่อไปถึงกระบวนการและกรรมวิธีที่สิ่งพิมพ์ลัทธิมาร์กซิสต์ภาษาต่างประเทศที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามา ถูกผลิตซ้ำโดยแปล/แปลง/ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไร เพราะการทำมันเป็นภาษาไทยเป็นเงื่อนไขที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ถ้าต้องการให้ความคิดนี้เป็นที่แพร่หลายและส่งผลสะเทือนต่อผู้อ่าน เนื่องจากประชากรไทยที่อ่านภาษาฝรั่งและภาษาจีนออกมีอยู่เพียงหยิบมือเดียวในสมัยนั้น นี่เป็นประเด็นของบทที่ 7 และ 8
เกษียรแบ่งกลุ่มผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ออกมาเป็นภาษาไทยเป็น 2 กลุ่ม คือ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนและเวียดนาม การศึกษา (ยกเว้นบางคน) ต่ำกว่าระดับปริญาญตรี กับกลุ่มปรีดี/อักษรสาส์น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานไทย การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีและสูงกว่า ทำงานรับราชการ/หนังสือพิมพ์ เมื่อเทียบกันแล้วกลุ่มแรกมีลักษณะมนุษยนิยมและเป็นนักทฤษฎีกว่ากลุ่มแรก เขาเสนอว่าการแบ่งเช่นนี้ยังคงมีประโยชน์ในการเข้าใจความจริงทางการเมืองวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายไทยในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะมีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสมาชิกสองกลุ่มในแง่บุคลิกทางปัญญาและกิจกรรมทางการเมืองอยู่จริง โดยเฉพาะในแง่องค์กร กลุ่มพคท.มีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง มีวินัยและมีความเด็ดเดี่ยวยืนหยัดทางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามปราบปรามฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างหนัก เราจะเห็นปรากฏการณ์ที่พคท.ค่อยๆ กลายเป็นองค์กรผูกขาดการผลิตและเผยแพร่ลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ในขณะที่กลุ่มอื่นสลายตัวไป อย่างไรก็ตามเขาพยายามย้ำว่าเรามิอาจยึดติดกับการแบ่งกลุ่มเช่นนี้อย่างตายตัว เพราะในความเป็นจริงมีคนที่ผลิตและเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมโดยมิได้สังกัดทั้งสองกลุ่มนี้ นอกจากนั้นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มก็มีการทำงานร่วมกันไขว้กันไปมา และสุดท้ายทั้งสองกลุ่มไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดภายในกลุ่มแต่อย่างใด หากเข้าใจเจตนาไม่ผิด เกษียรกำลังเสนอให้มองความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาอย่างไม่ยึดติดกลุ่มตายตัว แต่มองอย่างมีพลวัตร
ในบรรดาสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายที่ผลิตออกมามากมายแข่งขันกันในท้องตลาด (ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ/ระยะเวลาที่ออก/เจ้าของและบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายในยุคสมัยนั้นทั้งหมดขอให้ดูตารางที่ 7-1 หน้า 150 ซึ่งเกษียรได้รวบรวมเอาไว้) เขาหยิบนิตยสาร 3 ฉบับที่เขาเห็นว่าสามารถเป็นภาพตัวแทนที่สำคัญและดีที่สุดที่จะสะท้อนชะตากรรมของสินค้าลัทธิมาร์กซิสต์ภายใต้รัฐบาลเผด็จการแอนตี้คอมมิวนิสต์และภายใต้ตลาดทุนนิยมมาอภิปรายอย่างละเอียดในบทที่ 8 ได้แก่นิตยสาร มหาชน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2485-2494) อักษรสาส์น ซึ่งก่อตั้งและบรรณาธิการโดยสุภา ศิริมานนท์ (พ.ศ. 2492-2495) และ การเมืองรายสัปดาห์ ที่ก่อตั้งโดยประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และบุญชู โรจนเสถียร
พ้นไปจากแนวคิดและการตีความที่ใหม่แหวกแนวเกี่ยวกับการผลิตซ้ำลัทธิมาร์กซิสต์เป็นภาษาไทยแล้ว ในแง่ข้อมูลของบทที่ 7 และ 8 นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่จะได้รู้จักตัวละครทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน หรือได้ยินแต่ไม่เคยรับรู้บทบาทบางเรื่องในอดีตของพวกเขา (ยกตัวอย่างกรณีประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และบุญชู โรจนเสถียร สองยักษ์ใหญ่แห่งธนาคารกรุงเทพฯ) และถ้าจะให้การอ่านมีรสชาติเพิ่มขึ้น ขอแนะนำให้อ่านวิทยานิพนธ์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลควบคู่ไปด้วย
“What Is Left?” ชื่อบทสุดท้ายที่เก๋ไก๋โดยเล่นกับคำว่า left ในภาษาอังกฤษ เป็นบทที่พบว่ามีการปรับแก้จากวิทยานิพนธ์มากที่สุด (นอกจากบทที่ 3 ซึ่งมีการปรับแก้ข้อมูลโดยอาศัยงานของมูราชิมาและสมศักดิ์) ผู้อ่านที่สนใจว่าเปลี่ยนอย่างไรขอให้กลับไปอ่านเทียบจากวิทยานิพนธ์ บทนี้เป็นการดึงเอาประเด็นข้อคิดที่เขาพบระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งสามารถเขียนออกมาเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งต่างหากที่นอกเหนือไปจากกระบวนการและโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมทางการเมือง (กลุ่มคนและสถาบันต่างๆ) ที่ทำไว้ในวิทยานิพนธ์ แต่เป็นประเด็นว่าด้วยการเจาะลึกไปที่เนื้อในของกระบวนการสร้างงานวัฒนธรรมลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยว่ามันเกิดปัญหาแยกแย้งอย่างไรบ้าง และสุดท้ายทั้งลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์และวัฒนธรรมไทยถูกเปลี่ยนโดยอีกฝ่ายอย่างไร เขาประมวลมันมาเขียนเป็นสรุปแบบสังเขปโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์มันด้วยกองหลักฐานข้อมูล ประเด็นที่เขาหยิบมาเป็นหัวข้ออภิปรายมีอาทิ คู่ความขัดแย้งในการทำลัทธิมาร์กซิสต์ให้เป็นสินค้า, การเมืองของการแปล, การทำลัทธิมาร์กซิสต์เป็นกลอน เป็นต้น
ทุกประเด็นล้วนน่าตื่นตาตื่นใจ ก็ได้แต่หวังว่าผู้เขียนจะมีโอกาสผลิตมันออกมาเป็นสินค้าทางภูมิปัญญาอีกชิ้นหนึ่งแก่ผู้อ่านชาวไทยในภายภาคหน้า
การที่หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในภาษาอังกฤษ พิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ต่างประเทศซึ่งทำให้ราคาหนังสือค่อนข้างแพง คงทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าถึงผู้อ่านชาวไทยได้ลำบาก ถ้าจะให้คนไทยเข้าถึงได้ มันคงต้องถูกแปรให้กลายเป็นไทยสักวันหนึ่งข้างหน้าเฉกเช่นเดียวกับสิ่งพิมพ์ลัทธิมาร์กซิสต์ที่มันวิเคราะห์ถึง นอกจากนั้นความหนาและความเข้มข้นทางวิชาการของมันก็คงทำให้อุปทานของหนังสือไม่มากมายพุ่งพราดเหมือนหนังสือฮาวทูที่มีดกดื่นในตลาดหนังสือ กล่าวในแง่นี้ชะตากรรมของหนังสือวิชาการในตลาดทุนนิยมก็ไม่ได้ดีกว่าสิ่งพิมพ์ลัทธิมาร์กซิสต์เท่าไรเลย


[1] ตอนหนึ่งจากการสนทนาเปิดตัวและวิพากษ์หนังสือของเกษียร เตชะพีระ เรื่อง Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545.
[2] Benedict Anderson, “Radicalism after Communism,” New Left Review 202 (Nov.-Dec. 1993) ต่อมาพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือของผู้เขียนคนเดียวกันเรื่อง The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia, and the World (London: Verso, 1998).
[3] Seksan Prasertkul, “The Transformation of the Thai State and Economic Change” (Ph.D. thesis, Cornell University, 1989).
[4] Thongchai Winichakul, “Siam Mapped: A History of the Geo-Body of Siam” (Ph.D. thesis, University of Sydney, 1988).
[5] Kasian Tejapira, “Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958” (Ph.D. thesis, Cornell University, 1992).
[6] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand” (Ph.D. thesis, Monash University, 1993).
[7] Thongchai Winichakul, Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation (Honolulu: University of Hawaii Press, 1994).
[8] Kasian Tejapira, Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 (Melbourne: Kyoto University Press and Trans Pacific Press, 2001). อย่างไรก็ดี งานทั้ง 4 ชิ้นยังไม่ถูกแปลเป็นไทย ซึ่งทั้งน่าเสียดายและชวนสงสัยไปพร้อมๆ กัน.
[9] เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ.1924-1941, แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และวรศักดิ์ มหัทธโนบล (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย, 2539); เออิจิ มูราชิมา, “สัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น กับชาวจีนในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2“, แปลโดยเออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ฮายะโอะ ฟูกุย, ญี่ปุ่น-ไทย-อุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541).

No comments: