www.prachatai.com เว็บหนังสือพิมพ์ออนไลน์
สัมภาษณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ: ว่าด้วย ‘รัฐประหาร’ และแถลงการณ์ ‘3 หยุด’ ของเครือข่ายสันติประชาธรรม
ในบรรดาแถลงการณ์ทางการเมืองในระยะนี้ อันหนึ่งที่แหลมคมและน่าสนใจเป็นพิเศษคือ แถลงการณ์ของคณาจารย์และนักเคลื่อนไหวในนาม “เครือข่ายสันติประชาธรรม” และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลักใหญ่ใจความอยู่ 3 ข้อ คือ 1 ขอให้แกนนำการเคลื่อนไหวทุกฝ่ายหยุดนำมวลชนมาปะทะกัน 2 เรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคม หยุดให้ท้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ 3 ขอเรียกร้องต่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ให้หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้จัดรายงาน “เช้าทันโลก” ประจำคลื่น 96.5 MHz (วันที่ 31 ต.ค.51) จึงได้สัมภาษณ์นักวิชาการคนหนึ่งในเครือข่ายดังกล่าว ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาเรื่องการรุนแรงทางการเมืองโดยตรง เพื่อขอคำขยายความต่อแถลงการณ์ดังกล่าว และขยายพรมแดนแห่งความรู้ว่าด้วยเรื่องความรุนแรงทางการเมือง การรัฐประหารของทั่วโลก
0000
กรรณิการ์: จากการสำรวจการรัฐประหารทั่วโลกมีรูปแบบเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
ประจักษ์: มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาการรัฐประหารทั่วโลก ข้อสรุปเบื้องต้นคือตอนนี้การรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลังทางการเมืองทั่วโลกไปแล้ว แม้แต่ทวีปซึ่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็นทวีปแห่งการรัฐประหาร อย่างละตินอเมริกากับแอฟริกา เราก็พบสถิติว่าการรัฐประหารเป็นทางเลือกทางการเมืองที่แทบไม่มีการนำมาใช้แล้ว
กี่ปีแล้วที่ไม่มีการนำมาใช้แล้ว
ที่ลดลงอย่างชัดเจนคือตั้งแต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และเกิดสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าและระบอบประชาธิปไตยแบบสากลที่กระจายไปทั่วโลก คล้ายๆ เป็นคุณค่าที่ทั้งองค์กรระหว่างประเทศและประเทศมหาอำนาจยึดถือและพยายามกระจายเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในหลายกรณีก็เป็นเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนา ถ้าอยากได้การช่วยเหลือก็ต้องมีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้ ด้วยเหตุผลในแง่วัฒนธรรมและคุณค่าแบบประชาธิปไตยและเหตุผลในทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำให้รัฐประหารเป็นทางเลือกที่ถ้าใครจะทำก็ต้องคิดหนัก
หมายความว่า เพราะโดนปัจจัยภายนอกกดดันด้วย แล้วไม่มีประเทศไหนในแถบนี้หรือที่อยากจะมีประชาธิปไตยแบบของตัวเอง อย่างที่ขณะนี้ เราได้ยินคนพูดว่า บางทีประชาธิปไตยแบบไทยๆ อาจยังจำเป็นอยู่
ผมว่า มีความเข้าใจผิดหลายประการเวลาเราพูดว่า ต้องมีประชาธิปไตยแบบของตัวเอง และจริงๆ แล้ววิธีคิดแบบนี้ ส่วนใหญ่จะถูกฉกฉวยไปโดยกลุ่มที่ไม่ได้อยากเป็นประชาธิปไตยเสียมากกว่า เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้โดยฝ่ายเผด็จการทหารหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม ใช้เป็นข้ออ้างในการบิดเบือนความหมายของประชาธิปไตย
คือจริงๆ แล้วถ้าเราไปศึกษาดูประชาธิปไตยในแต่ละประเทศทั่วโลกไม่มีรูปแบบที่เหมือนกัน ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะอยู่แล้ว เช่นเป็นแบบประธานาธิบดี หรือระบอบรัฐสภา กระทั่งในระบอบรัฐสภาเองก็มีรูปแบบการจัดการเลือกตั้งหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป หรือในระบอบประธานาธิบดีที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ในสหรัฐฯ ก็จะพบว่า เขาก็มีรูปแบบการจัดการเลือกตั้งที่มีลักษณะเฉพาะของเขา มีการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าไปดูแล้ว ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องมีลักษณะร่วม มีลักษณะพื้นฐานบางประการที่เราพอจะบอกได้ว่า ถ้ามีสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยเรียกได้ว่า เป็นระบอบประชาธิปไตย คือถ้าเราไม่มีหลักการพื้นฐานบางอย่างที่จะมาแบ่ง มันจะยาก ทุกอย่างมันจะเบลอหมด เท่ากับว่า เราแยกไม่ได้แล้วว่าอันไหนเป็นเผด็จการ อันไหนเป็นประชาธิปไตย
ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหาร ซึ่งแน่นอนว่าทั่วโลกตื่นตระหนกมาก เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว มีความเห็นอย่างไรถ้าหากว่าในช่วงห่างกันไม่กี่ปี แล้วเกิดขึ้นอีก
ผมคิดว่าจะมีผลกระทบหลายประการมากทีเดียว จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยก็เคยอยู่กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มประเทศที่มีรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960 กับ 1970 ซึ่งตรงกับช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) จอมพลถนอม (กิตติขจร) พอดี ยุคนั้นเป็นยุคทองของรัฐประหารทั่วโลกในทุกทวีป รัฐบาลส่วนใหญ่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาถูกปกครองโดยเผด็จการทหารเป็นหลักและก็มีการรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง
พอมาถึงช่วงตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมา มีการรัฐประหารต่อปี ต่ำกว่า 2 ครั้ง ไม่ 1 ครั้ง ก็ 2 ครั้งไม่เกินกว่านี้ แล้วส่วนใหญ่หลังจากรัฐประหารแล้วก็ไม่ได้มีการรัฐประหารซ้ำในเวลาใกล้เคียงกัน มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตย กลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่ของไทยถ้าเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเวลาห่างกันแค่ประมาณสองปีเท่านั้น เราจะไปอยู่ในกลุ่มต้นๆ เลย ท็อปไฟว์ของประเทศที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง ประเด็นนี้สำคัญ
หมายถึงว่า ไม่มีใครเชื่อมั่นได้ว่าตกลงประเทศไทยจะปกครองด้วยระบอบอะไรกันแน่ กฎกติกาพื้นฐานที่ยอมรับร่วมกันก็ไม่มี ในความหมายที่ว่า วิธีขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล และวิธีลงจากอำนาจของรัฐบาล ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ก็คือยังไม่ยอมรับให้ประชาธิปไตยเป็นกติกาพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน หรือเป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Rule of the game เป็นเกมเดียวที่เราจะเล่นกันก็คือต้องขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แล้วถ้าจะออกจากอำนาจก็มีขั้นตอนของมัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการ impeachment ถ้าเป็นระบบประธานาธิบดี ของเราถ้าทำรัฐประหารอยู่อย่างนี้ ก็จะกลายเป็นว่าประเทศนี้ยอมรับให้การรัฐประหารกลายเป็นทางเลือกอันถาวรแล้วรึเปล่า แทนที่จะมีการเลือกตั้งก็มีรัฐประหารทุกปีสองปี เพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจในภาวะอย่างนี้จะไม่มีใครกล้ามาลงทุนโดยเด็ดขาด
อาจารย์พูดว่า หลังรัฐประหารส่วนใหญ่ หลายประเทศกลับไปสู่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยยังเดินหน้าต่อไปได้ หลายคนก็เลยบอกว่า น่าจะมีการเลือกตั้งอีกสักครั้งเดียว ขอครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เพื่อให้ประเทศกลับไปอยู่ในที่ทางเดิมอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์มองยังไง
หมายถึงครั้งไหนเป็นครั้งสุดท้ายครับ ครั้งที่แล้ว?
หมายถึงครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น บางคนคาดหวังให้เกิดขึ้น หรือบางคนกำลังเชียร์ให้เกิดขึ้น หรือบางคนมองว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องเกิดขึ้น
หมายถึงการรัฐประหารใช่ไหมครับ?
ใช่
คือผมคิดว่าการรัฐประหารเป็นทางเลือกที่ไม่ควรเลือกด้วยเหตุผลอย่างน้อยสี่ประการ ประการแรกคือ มันเป็นความรุนแรงในตัวเอง การรัฐประหารเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการใช้ความรุนแรง
ประการที่สอง เมื่อทำรัฐประหารแล้ว ตอนนี้มีโอกาสที่จะถูกบอยคอตจากประชาคมโลกสูงมาก ทำให้แม้แต่ผู้นำทหารของแต่ละประเทศก็ไม่มีใครที่กล้าทำรัฐประหารแล้ว โอกาสที่จะถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกสูงมาก ของไทยถ้าเกิดการรัฐประหารซ้อน 2 ครั้งในช่วงเวลาแค่ 2 ปี จะยิ่งมีโอกาสที่จะถูกบอยคอตจากประชาคมโลกมาก ครั้งที่แล้วเขายังอาจจะมองได้ว่า มีความขัดแย้งตึงเครียดสูง คือ เกิดครั้งที่ 1 คนก็ยังรอดูสถานการณ์ก่อน ตอนนี้กลับมาสู่ประชาธิปไตยแล้ว คนก็คิดว่ามันน่าจะเดินต่อไปได้ หลายๆ ประเทศเขาก็เดินต่อไปได้ ถ้าเรากลับไปทำรัฐประหารอีก โอกาสที่ครั้งนี้จะถูกบอยคอตจากประชาคมโลกสูงมาก จะไม่เหมือนครั้งที่แล้วแล้ว
ประการที่สาม บทเรียนจากทั่วโลกก็คือรัฐประหารแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ปรากฏว่ารัฐบาลที่มาหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ทหารปกครองเอง หรือพลเรือนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะทหาร ไม่ได้แก้ปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลย ปัญหาคอร์รัปชั่นก็มีอยู่เช่นเดิม แล้วเป็นการคอร์รัปชั่นที่ยากแก้การตรวจสอบด้วย เพราะว่าปกครองภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย บรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย การตรวจสอบยิ่งยากขึ้น โอกาสที่ประชาชนจะไปชุมนุมกดดัน ประท้วง ใช้สิทธิเสรีภาพยิ่งน้อยลง ฉะนั้นแก้ปัญหาไม่ได้
ประการสุดท้าย ประการที่สี่ การรัฐประหารในหลายที่ปรากฏว่า รัฐประหารแล้วไม่จบ กลับทำให้ความขัดแย้งแตกขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองยิ่งสูงขึ้น ในหลายประเทศลุกลามกลายไปเป็นสงครามกลางเมือง คือก่อนหน้ารัฐประหารมีวิกฤตอยู่ มีความขัดแย้งของประชาชนเป็นกลุ่มๆ ก็มีคนเรียกร้องให้ทหารออกมาสงบศึก มาทำรัฐประหาร แต่ปรากฏว่า มันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นมาก เป็นการมองระยะสั้น คือมันอาจจะหยุดได้ในชั่วขณะเฉพาะหน้า ปรากฏหลังจากนั้น ความรุนแรงหรือความขัดแย้งก็บานปลายขยายตัวไป เพราะมีคนที่รู้สึกว่าเขารับไม่ได้ หรือเสียงของเขาไม่ได้รับการแสดงออก อยู่ดีๆ ทหารมาล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตั้งมา ในหลายๆ ประเทศ เขาก็ยังสู้ต่อ จนบานปลายกลายไปเป็นสงครามการเมือง กลายเป็นว่าสถานการณ์ยิ่งแย่กว่าก่อนหน้าที่จะมีรัฐประหาร
เรากำลังพูดถึงรัฐประหารแบบที่รัฐประหารแบบเห็นๆ จริงๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่บางคนเรียกว่า “รัฐประหารแบบนุ่มนวล” ประสบการณ์ในต่างประเทศมีไหม และผลตอบรับเป็นอย่างไร
มี อันนี้น่าสนใจมาก มีเทรนด์ใหม่ในการรัฐประหารเกิดขึ้น ภาษาทางวิชาการที่นักวิชาการบางท่านใช้ เขาเรียกว่า รัฐประหารใต้โต๊ะ (under the table coup) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการรัฐประหาร ไม่ได้ใช้อำนาจของกองทัพออกมายึดอำนาจอย่างโจ่งแจ้งแบบที่เราคุ้นชิน ไม่ได้เคลื่อนกำลังพล รถถัง ออกมาบนท้องถนนแล้วยึดอำนาจ วิธีนี้ทำด้วยยากอยู่แล้วด้วยเหตุผลประการที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า กองทัพ ชนชั้นนำ ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยวิธีนอกระบบ ก็ค้นพบรูปแบบใหม่ คือ สิ่งที่เรียกว่าการกดดันรัฐบาลโดยกองทัพหลังฉาก ในหลายที่ รูปแบบนี้จะเป็นการทำงานร่วมกัน มีการประสานงานกันระหว่างฝ่ายกองทัพกับมวลชน โดยรูปแบบจะมีทั้งการเคลื่อนไหวที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย ดูเหมือนถูกกฎหมาย พูดง่ายๆ ว่ามันซับซ้อนขึ้น
เช่น ในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ เอาเฉพาะในละตินอเมริกา สิ่งที่เรียกว่ารัฐประหารใต้โต๊ะหรือรัฐประหารทางอ้อมเกิดขึ้นใน 5 ประเทศ ในอาร์เจนตินา 2001 เวเนซูเอล่า 2002 ไฮติ 2004 เอกวาดอร์ 2005 โบลิเวีย 2005 รูปแบบคือ จะมีการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ประท้วงอย่างรุนแรง ละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น จงใจยั่วยุให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในสังคม ให้รัฐบาลปกครองไม่ได้ อันนี้จะต่างจากการชุมนุม ประท้วงของชาวนา ผู้ยากไร้กลุ่มต่างๆ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายบางอย่าง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา ยังยอมรับรัฐบาลนั้น เพียงแต่ต้องการให้แก้ปัญหา เป็นม็อบที่มุ่งต้องการให้เกิดการรัฐประหาร มีศัพท์คำนี้เลย หรือบางคนเรียกว่า เป็นการรัฐประหารโดยภาคประชาสังคม (civil society coup) เป็นศัพท์ที่ใช้ในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เป็นการประท้วงกดดันแบบมุ่งแตกหักกับรัฐบาล
ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ประเทศอยู่ในสภาวะอัมพาต เป็นรัฐล้มละลาย (failed state) แล้วจะส่งสัญญาณให้ทหารออกมากดดันอยู่หลังฉากไม่ว่าวิธีไหนก็ตาม อาจจะพูดกับสาธารณะโดยตรง เหมือนที่เกิดขึ้นกับกรณีของไทย ที่ผู้นำเหล่าทัพไปออกรายการโทรทัศน์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หรือผ่านทางอื่น ในที่สุดทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องออกจากอำนาจไป มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เป็นฝ่ายที่พลังอนุรักษ์นิยม พลังกองทัพต้องการให้มาบริหารประเทศแทน
อาจารย์พูดถึงโบลิเวียร์ในปี 2005 แต่ในที่สุดเขาก็สามารถได้รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยด้วยและดูจะเข้าข้างคนจนคนยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราคาดหวังอย่างนั้นไม่ได้หรือ ในกรณีของไทย
ผมคิดว่ามันมีความเสี่ยงมาก หลักประกันที่จะทำให้เกิดรูปแบบนั้นขึ้นก็ยากมาก กรณีของไทยดูแล้วก็ยังมองไม่เห็นเท่าไร เวลาเราพิจารณาเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่นั้น ต้องดูทั้งเป้าหมายและวิธีการของกลุ่มผู้ชุมนุม ในหลายครั้งรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มภาคประชาสังคมถ้าไม่ได้เรียกร้องไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือรัฐบาลที่มีนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้น อันนี้กลับยิ่งอันตราย หลายครั้งมันกลายเป็นเมื่อเราชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก สิ่งที่มาแทนที่กลับเป็นรัฐบาลที่มีประชาธิปไตยน้อยลง นโยบายเศรษฐกิจก็ไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น
ผมมองเห็นแนวโน้มที่ไม่ค่อยสดใสนักในเมืองไทย ประการแรกคือ การเรียกร้องการเมืองใหม่ โดยโจมตีความระบอบปัจจุบันมันน้ำเน่าแล้ว แก้ไขปัญหาประเทศไมได้ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการเมืองใหม่คืออะไร สิ่งนี้อันตรายมาก เป็นการกดดันให้เปลี่ยนระบอบแต่เรายังไม่รู้เลยว่าจะเอาอะไรมาแทนที่
แต่ก็เริ่มมีคนพูดว่า จริงๆ แล้วลักษณะการเปลี่ยนผ่านด้วยการใช้ความรุนแรง การนองเลือด อาจเป็นความจำเป็น จากการศึกษาของอาจารย์มีประเทศไหนไหมที่เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้โดยไม่ต้องเป็นแบบนี้
มี เช่นในโปแลนด์ ขบวนการโซลิดาลิตี้ เป็นการรวมตัวกันของกรรมกร ชนชั้นล่าง โค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์โดยไม่เกิดความรุนแรงการนองเลือด ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านแบบรุนแรงเสมอไป เปลี่ยนผ่านแบบสันติก็มี แน่นอน มันมีเงื่อนไข ปัจจัยหลายประการ และข้อมูลอาจทำให้เรากังวล เพราะการเปลี่ยนผ่านมาพร้อมกับการสูญเสีย ความรุนแรงจริง โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการทหารมาเป็นประชาธิปไตย เราพบว่าในประเทศกำลังพัฒนาการเปลี่ยนผ่านแบบนั้นมักจะมีความรุนแรงตามมาด้วย โดยมีเหตุผลหลายประการ
เช่น โครงสร้างรัฐอ่อนแอ รวมทั้งการที่ธรรมชาติของระบอบเผด็จการทหารนั้นดื้อดึงต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมสูญเสียอำนาจ ผมว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ของไทยก็อยู่ในประเภทนี้ ครั้งนั้นเราก็มีความสูญเสียเกิดขึ้น แต่มันยังมีสถิติที่น่าสนใจกว่าว่า หลังจากเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว โค่นล้มทหารไปได้แล้ว หลังจากนั้นความรุนแรงจะลดลง เพราะอย่างน้อยมีระบอบรัฐสภา มีการเลือกตั้ง มีกลไกต่างๆ ขึ้นมาซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติมีมากขึ้น แม้ว่าจะมีผู้นำที่คอร์รัปชั่นขึ้นมาจากการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วเราพบว่าผู้นำคนนั้นสามารถถูกกำจัดไปด้วยกลไกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
อันนี้เป็นการศึกษาในประเทศละตินอเมริกาและแอฟริกาใช่ไหม ตอนนี้ไม่กล้าเอาประเทศไทยไปเปรียบกับประเทศอื่นๆ
ประเทศไทยกำลังเป็นกรณีที่ท้าทายสำหรับนักวิชาการรัฐศาสตร์ในหลายๆ ที่ คือ เป็นประเทศที่โดยสภาพแวดล้อม ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม การเมืองต่างๆ ไม่ควรจะมีการรัฐประหารแล้ว แต่ก็ยังเกิดขึ้น
อยากให้อาจารย์พูดถึงประเทศไทย อาจารย์มองสังคมไทยยังไง บางคนมองว่ามันเลยจุดที่จะไม่มีความรุนแรงไปแล้ว เลยจุดที่จะเจรจา ประนีประนอมได้แล้ว ยังไงก็ต้องเกิดความรุนแรง หรือถ้าไม่ อะไรคือทางเลือกทางออก
ขอค้านคำพูดนี้เลย คนที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลก ไม่ว่ามันจะขัดแย้งกันขนาดไหน บางประเทศเกิดความรุนแรงแล้วขนานใหญ่ ท้ายที่สุดแล้วเขาก็กลับมาเจรจากันได้ เพราะมันยากที่จะหาทางออกเป็นอย่างอื่น รบกันไปเสียเลือดเนื้อกันทั้งคู่ ประเทศก็เสียหายไปก่อนแล้ว บอบช้ำจนไม่เหลืออะไร ในแอฟริกาขัดแย้งรุนแรงกว่าเราด้วยซ้ำเขาก็ยังเจรจาได้ จึงไม่เห็นด้วยกับคำว่า เลยจุดที่จะเจรจาแล้ว ของเราจริงๆ โอเค คนอาจจะรู้สึกว่าตึงเครียดและหาทางออกไม่ได้ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังน้อยกว่าในแอฟริกา ละตินอเมริกาด้วยซ้ำ ทำไมจะเจราจาไม่ได้ จุดที่จะเจรจามีเยอะแยะ
ประการที่สอง ในส่วนเรื่องความรุนแรง ผมคิดว่ามันมีโอกาสป้องกันไม่ให้เกิดได้ แต่สังคม พลังเงียบต้องมีส่วนร่วมด้วย เพราะจากประสบการณ์ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในยุโรปหรือในละตินอเมริกา ปรากฏว่าสังคมที่เป็นพลังเงียบนิ่งเฉย แล้วปล่อยให้การปะทะขัดแย้งบนท้องถนนนำไปสู่จุดที่สุดโต่ง ทั้งๆ ที่กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่บนท้องถนนอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่ว่าส่งเสียงดัง สามารถเคลื่อนไหวได้คึกโครม มีการยั่วยุ สื่อสนใจรายงานจนดูเหมือนว่าทั้งประเทศมีแต่คนสุดโต่งที่จะห้ำหั่นกันให้ได้ซึ่งมันไม่จริง ในยุโรปก็แสดงให้เห็นว่า ไม่จริง ในละตินอเมริกาก็ไม่จริง แต่เพราะการเงียบ นิ่งเฉย เลยเหลือแต่คนสุดโต่งสองข้างสู้กัน จนเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การรัฐประหารบ้าง นำไปสู่ความรุนแรงบ้าง ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิด ดังนั้น พลังเงียบต้องออกมาส่งเสียงมากกว่านี้ กดดันทั้งสองฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากันแล้วเจรจากัน
ก่อนจะไปถึงทางเลือกทางออกที่เป็นรูปธรรมที่เครือข่ายสันติประชาธรรมนำเสนอ มันมีการตั้งข้อสังเกตว่า หรือว่าความรุนแรง การใช้กำลัง หรือบางคนยกมหากาพย์ภควคีตา คือ จำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อการสูญเสียที่จะลุกลามมากกว่านี้
ผมว่าอันนี้เป็นวิธีคิดที่อันตราย โดยเฉพาะในสังคมที่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ามีกลุ่มที่คิดแตกต่างกัน มีการแบ่งขั้ว ถ้ามีการใช้กำลังเข้ามาโดยกองทัพ ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะมาทำให้เกิดความสงบ จากแนวโน้มต่างๆ คิดว่ายากที่จะเกิดความสงบขึ้น ถ้ามีการรัฐประหาร พูดง่ายๆ มีกลุ่มที่แสดงตัวชัดเจนแล้วว่าจะต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ มันไม่น่าจะหยุดได้ มองด้วยความวิตกกังวลมากกว่า และกลับมองว่าความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองมันจะขยายตัวสูงขึ้น
และกองทัพก็ไม่ได้ถูกฝึกมาให้จัดการกับการชุมนุมเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีอยู่แล้ว แต่ถูกฝึกมาให้รบกับข้าศึกศัตรู ดังนั้น ถ้าเกิดการต่อต้านรัฐประหารของประชาชนโดยสันติ กองทัพจะทำยังไง ถ้าถึงจุดหนึ่งกองทัพไม่สามารถทำให้สงบได้ ถ้ากองทัพเลือกใช้วิธีปราบ ความขัดแย้งจะยิ่งลุกลามขยายตัวไปมากขึ้น ผมคิดว่า ตรงนี้ยังมองไม่เห็นว่ามันจะเกิดการแทรกแซงเข้ามาแล้วจะเกิดความสงบได้
เราจะไม่เห็นภาพที่รถถังออกมา คนไปให้ดอกไม้ อะไรแบบนั้นแล้ว
ผมคิดว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเรามองโลกในแง่ร้ายซักหน่อย คนอาจจะบอกว่าการรัฐประหาร 19 กันยาไม่ใช่การรัฐประหารครั้งสุดท้ายของสังคมไทย ผมก็ยังวิตกกังวลอยู่ แต่ผมอยากจะพูดว่าการรัฐประหาร 19 กันยา อาจเป็นการรัฐประหารที่ไม่นองเลือดครั้งสุดท้ายในเมืองไทย การรัฐประหารที่จะตามมาหลังจากนี้นั้นยากแล้วที่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง หรือการจลาจลหลังจากนั้น
ข้อเสนอของกลุ่มอาจารย์ต่อสังคมทั้งพลังเงียบ พลังไม่เงียบ คืออะไร
จริงๆ ข้อเสนอของเรา 3 หยุด เป็นข้อเสนอที่มาจากพื้นฐานที่ยังเชื่อว่ายังสามารถหาทางออกได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยด้วยกลไกแบบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องเกิดความรุนแรง และไม่ต้องใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ก็คือ การรัฐประหาร ไม่ว่าอย่างเข้มหรืออย่างอ่อน บนโต๊ะหรือใต้โต๊ะ เราเชื่อว่ายังมีทางออก สังคมไทยยังไม่เลวร้ายขนาดนั้น ข้อหนึ่ง หยุดเอามวลชนมาปะทะ ก็เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงที่จะกลายเป็นเงื่อนไขให้มีการแทรกแซงโดยกองทัพได้ หรือข้อสาม หยุดอนาธิปไตยและรัฐประหาร ก็เกี่ยวเนื่องกัน คือ อย่าใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชน สังคมเองก็อย่าไปเรียกร้อง สร้างแรงกดดันทหารให้เข้ามาแทรกแซง ข้อสอง หลายคนไปติดที่ถ้อยคำ หยุดให้ท้ายพันธมิตรฯ เลยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง
ต้องให้อาจารย์ช่วยขยายความด้วยว่า หยุดให้ท้ายพันธมิตรฯ คืออะไร
ถ้าไปอ่านโดยละเอียดแล้วคืออย่างนี้ เรามองว่าในสังคมตอนนี้ที่เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น ปมของวิกฤตถูกผูกขึ้นมาจากทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ ทั้งรัฐบาลและพันธมิตรฯ มีส่วนในการสร้างปมความขัดแย้งและทำให้ปมความขัดแย้งแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ การคลี่คลายปมความขัดแย้งต้องมากจากทั้งสองฝ่ายไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเราวิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้สติ เพราะถ้าวิจารณ์ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะคิดว่าตัวเองถูกหมด อีกฝ่ายผิดหมด
ผมว่าสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ยากที่จะบอกแล้วว่าใครถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่สถานการณ์ขาว-ดำ เทพ-มาร เมื่อทั้งสองฝ่ายมีทั้งผิดและถูก และมีส่วนทำให้สถานการณ์ความรุนแรงขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเรียกร้อง จริงๆ เราไม่ได้เรียกร้องต่อพันธมิตรฯ และรัฐบาล แต่เราเรียกร้องต่อภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ประชาชนทั่วไป ให้หยุดที่จะใช้อารมณ์เป็นตัวตั้ง และมองเห็นอีกฝ่ายที่ตนไม่ชอบเป็นศัตรู และผิดร้อยเปอร์เซ็นต์โดยมองไม่เห็นความผิดของฝ่ายที่ตนสนับสนุนเลย
ถ้าจะพูดกันตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าเรารักภาคประชาชนจริง รักพันธมิตรฯ จริง เราต้องวิจารณ์พันธมิตรฯ เพราะสถาบันทางการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองที่เคลื่อนไหวแล้วไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เลย ก็จะอ่อนแอลง หรือเคลื่อนไหวออกนอกลู่นอกทางไปได้ถ้าไม่ถูกตรวจสอบเลย โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์จากกัลยาณมิตรเพื่อสะท้อนให้เห็นตัวเอง ทบทวนสิ่งที่กำลังทำ เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายเบื้องต้นหรือเปล่า
คำถามสุดท้าย พลังเงียบควรทำยังไง
พลังเงียบทำได้หลายอย่าง อันหนึ่งที่เป็นรูปธรรม ผมสนใจข้อเสนอของกลุ่มสันติวิธีหลายกลุ่ม หรือข้อเสนอของพระไพศาลที่ออกมาเสนอก่อนหน้านี้แล้วคนไม่ได้ตอบรับเท่าไร คือ การขอปลดอาวุธจากทั้งสองฝ่าย คือ ทั้ง นปช.และพันธมิตร หรือไม่ว่ากลุ่มไหน อันนี้พลังเงียบต้องออกมาช่วยกันส่งเสียง ถ้าไม่พกพาอาวุธเลย อย่างน้อยถ้ามีการปะทะกัน มันก็ไม่บาดเจ็บมากมาย ไม่เกิดการล้มตายขึ้น แล้วมันจะทำให้การต่อสู้ภาคประชาชนเป็นแบบอหิงสาอย่างแท้จริง ไม่ใช่แบบใช้บ้างไม่ใช้บ้าง อันนี้อันตราย
เงื่อนไขอีกประการที่จะทำได้ อาจเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการที่จะสลายอัตลักษณ์เรื่องสีลงไป อันนี้ทุกคนช่วยกันทำได้ ไม่ว่าจะเชียร์ฝ่ายไหน ไม่ต้องพยายามไปเสริมให้ความแตกต่างขัดแย้งตรงนั้นขยายตัวมากขึ้น เพราะประสบการณ์หลายประเทศ เช่น รวันดา คนฆ่ากันเพราะว่าความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ทั้งที่จริงๆ เคยเป็นเพื่อนบ้านกันมาก่อน อาจจะเคยแต่งงานข้ามเชื้อชาติกันด้วยซ้ำ พลังเงียบต้องช่วยกันตรงนี้ ในกลุ่มเพื่อนสูง ครอบครัวก็ต้องคุยกันมากขึ้นไม่ใช่เอาการเมืองมาทำให้ทะเลาะกันไม่คุยกัน เพราะตอนนี้การเมืองแทรกซึมไปทุกที่ แบ่งแยกกันด้วยสีแบบง่ายๆ ว่าอยู่ฝ่ายไหน
จริงๆ ผมอยากเห็นการชุมนุมของทั้งพันธมิตรฯ และนปช.ใส่เสื้อสีอันหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องไปพันธมิตรฯ และใส่สีเหลืองอย่างเดียว หรือไป นปช.ก็ต้องแดงอย่างเดียว ถ้ามันหลากหลายมันจะลดความแตกต่างที่ไม่จำเป็นลงไป อย่าไปมองว่าฝ่ายแดงผิดตลอดกาล เห็นคนใส่เสื้อแดงบนถนนก็มองเขาด้วยสายตาแปลกๆ หรือจะไปทำร้ายร่างกายเขา เรื่องการลดทอนความแตกต่างตรงนี้พลังเงียบช่วยได้
..........................................
เกี่ยวข้อง
‘เครือข่ายสันติประชาธรรม’ ล่าชื่อผ่านเว็บ เรียกร้องแกนนำพธม.มอบตัว-เลิกภาวะฉุกเฉิน
เครือข่ายสันติประชาธรรมรณรงค์หยุดนำมวลชนปะทะ หยุดให้ท้ายพันธมิตร หยุดอนาธิปไตยและรัฐประหาร
ผบ.ทบ.ปัด ‘ปฎิวัติ’ เว้นแต่นองเลือดอาจออกมา ‘หยุดการใช้อำนาจ’
โดย : ประชาไท วันที่ : 31/10/2551
เข้าชม : 1383 แสดงความคิดเห็น : 0
-->
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment