Sunday, November 9, 2008

on thai democrat

"ประจักษ์ ก้องกีรติ" อาจารย์หนุ่มจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ วิพากษ์บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ว่ายังยึดมั่นในระบบรัฐสภาอยู่หรือไม่ หลังลงไปเล่นการเมืองบนท้องถนน? ระวังแฟนพันธุ์แท้ปชป.จะผิดหวังนะ !! วันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากแฟนพันธุ์แท้พรรคประชาธิปัตย์หลายๆ คนว่า ตกลงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยประกาศว่ายึดมั่นในระบบรัฐสภา จะยังคงทำงานในสภาต่อไปหรือไม่ เพราะหลายครั้งและหลายคนของประชาธิปัตย์ลงไปเล่นการเมืองบนท้องถนนกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตไม่เข้าร่วมแถลงนโยบายของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม หรือล่าสุดไม่เข้าร่วมประชุม 4 ฝ่ายในการปฏิรูปการเมืองผ่าน ส.ส.ร.3 โดยอ้างเหตุผลไม่อยากร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลมือเปื้อนเลือดเหล่านี้ เป็นเหตุผลถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด หรือมีเหตุผลอะไรที่มากกว่านั้น ? "ประจักษ์ ก้องกีรติ" อาจารย์ผู้สอนวิชาพรรคการเมือง ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วิพากษ์บทบาททางการเมืองของประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจ@ มองบทบาทการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร ท่ามกลางบ้านเมืองแตกแยกแบ่งขั้วอย่างหนัก ผมมองด้วยความเป็นห่วง เพราะพรรคประชาธิปัตย์อาจกำลังสับสนกับบทบาทของตัวเองในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ซึ่งต่างจากกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะในแง่การตรวจสอบรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย มี 2 ส่วน คือ การตรวจสอบในสภากับการตรวจสอบนอกสภา พูดง่ายๆ คือ ส่วนหนึ่งอยู่ในกรอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน อีกส่วนหนึ่งคือกรอบประชาธิปไตยแบบทางตรง ซึ่งบทบาทประชาธิปัตย์คือ การทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านในรัฐสภา หรือการตรวจสอบในรัฐสภา ต้องอย่าสับสน ส่วนบทบาทการตรวจสอบนอกรัฐสภา ก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าสื่อมวลชนหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ฉะนั้น ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ยึดหลักตรงนี้ให้มั่นก่อนว่า พรรคอยู่ในฐานะอะไรในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และมีบทบาทหน้าที่ที่ควรจะทำคืออะไรบ้าง ผมว่าจะทำให้เป๋ไปได้ และยิ่งนานวัน จะเดินห่างออกจากบทบาทที่ควรจะเป็นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าประชาธิปัตย์ยังเล่นบทอย่างนี้ต่อไป ประชาธิปัตย์จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่ามีบทบาทในการทำให้วิกฤตการเมืองหนักหน่วงยิ่งขึ้นเช่นกัน@ การต่อสู้กับระบอบทักษิณ อาจใช้กลไกในระบอบรัฐสภาไม่พอ ? ก็ต้องถามด้วยว่า ประชาธิปัตย์ได้พยายามทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภาได้เต็มที่แล้วหรือยัง ได้ใช้กลไกในระบอบรัฐสภาอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง แล้วช่องทางหรือกลไกที่จะก่อให้เกิดทางออก ประชาธิปัตย์ได้เข้าไปร่วมมากน้อยแค่ไหนหลายครั้งที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์บอยคอตเอง ไม่เข้าไปร่วม ไม่ว่าตอนแถลงนโยบายรัฐบาล หรือล่าสุดคือการบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ในการปฏิรูปการเมือง ปัญหาตอนนี้จึงกลายเป็นการเล่นเหมือนเด็ก เป็นปัญหางูกินหาง แต่ปัญหาคือ ก็ประชาธิปัตย์บอยคอต ก็เลยทำให้กระบวนการเกิดความไม่ชอบธรรม ถ้ากลัวว่ารัฐบาลจะใช้ช่องทางนี้แก้ไขเพื่อประโยชน์ตัวเอง วิธีที่ดีกว่าคือ การเข้าไปร่วมและเข้าไปตรวจสอบ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่านักวิชาการจำนวนหนึ่ง หรือสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ก็มาบอกว่า ส.ส.ร.ไม่ใช่ทางออกแล้ว ผมคิดว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง จะมาเล่นแบบเด็กเล่นขายของหรือบอยคอตตีรวนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ตัวเองมีหน้าที่ที่ต้องทำอยู่ และจริงๆ คนก็ฝากความหวังกับประชาธิปัตย์ไว้เยอะ โดยเฉพาะคนที่เห็นว่าการตรวจสอบในระบอบมีปัญหา หรือการที่รัฐบาลพลังประชาชนหรือสมัยรัฐบาลทักษิณมีอำนาจมากเกินไป คนก็ฝากความหวังไว้กับประชาธิปัตย์ ...แต่ตอนนี้ผมชักไม่แน่ใจ @ ประชาธิปัตย์อ้างว่า รัฐบาลสมชายหมดความชอบธรรม เพราะสั่งสลายชุมนุมประชาชนในวันที่ 7 ตุลาคม ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ เพราะผลการสอบสวนเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ยังไม่เสร็จสิ้น ถ้าเราใจเย็นๆ อย่าเพิ่งใช้อารมณ์มากเกินไป ผมว่าสังคมยังไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ว่ารัฐบาลทำไม่ถูก ทำไม่ถูกมากน้อยแค่ไหน อะไรที่เป็นความผิดที่ควรจะต้องรับผิดชอบ อย่าเพิ่งไปกล่าวหารัฐบาลจนเกินเหตุที่เขาได้กระทำลงไป พูดง่ายๆ คือ เรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลทำผิดมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นผมคิดว่าสังคมก็ต้องใจเย็นก่อน แล้วก็อย่าลืมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนกำลังตรวจสอบอยู่ ผลรายงานที่ออกมาเป็นด้านที่ตรวจสอบรัฐบาล แต่กรรมการสิทธิฯก็กำลังตรวจสอบการใช้ความรุนแรงจากฝั่งผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน @ มองในแง่ฐานเสียง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่ประชาธิปัตย์ตัดสินใจมาอยู่ข้างพันธมิตรฯ เพราะมีฐานเสียงเดียวกันคือชนชั้นกลาง ผมคิดว่าเป็นไปได้ ในฐานะพรรคการเมืองเช่นเดียวกับพรรคการเมืองทุกๆ พรรค แต่ผมคิดว่าประชาธิปัตย์ต้องระวังให้ดีในการเอาเสียงคนกรุงเทพฯมาคำนวณ เพราะจริงๆ แล้ว ผู้เลือกตั้งใน กทม.ไม่เคยเป็นฐานเสียงถาวรของพรรคการเมืองไหนเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาผู้เลือกตั้งในกรุงเทพฯเป็น negative voter คือ เลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง พราะไม่ได้ชอบพรรคนั้น แต่เลือกเพื่อไปคานอำนาจกับกลุ่มอื่นๆ เช่นสมัยหนึ่งคนกรุงเทพฯเลือกประชาธิปัตย์ไปคานอำนาจทหาร หรือเลือกประชาธิปัตย์เพื่อไปคานไทยรักไทย หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุด ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์ที่เลือกคุณอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) แต่เลือกเพราะไม่ต้องการให้พลังประชาชนมีฐานเสียงใน กทม. ดังนั้นประชาธิปัตย์ต้องคิดเหตุผลลึกๆ ให้ดี เพราะคน กทม.เปลี่ยนไปตามกระแสมาตลอด ถ้าการเมืองเกิดพลิกผัน ประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็เคยมีประวัติมาแล้วว่า ช่วงที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลคนก็ไปเลือกพรรคอื่นเพื่อมาคานดังนั้นประเด็นประชาธิปัตย์กับพันธมิตรฯ ผมคิดว่ามีประเด็นให้พูดถึงมากมาย แต่ถ้าประชาธิปัตย์มองถึงอนาคตในระยะยาว อย่ามองแค่ผลประโยชน์การเมืองในระยะสั้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำคือ การรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างพรรคกับพันธมิตรฯ เพื่อแก้ภาพที่จะเกิดขึ้นว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคพันธมิตรฯ หรือแก้ภาพที่บอกว่า ถ้าคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็จะเป็นนายกฯพันธมิตรฯผมไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภามีความสัมพันธ์กันไม่ได้เลย หลายประเทศก็มีลักษณะเช่นนี้เชื่อมโยงกันอยู่ แต่เขาเชื่อมความสัมพันธ์กับหลายๆ กลุ่ม ไม่ใช่ไปผูกติดอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะพรรคการเมืองเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะถ้าอยากชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าประชาธิปัตย์อยากได้เสียงข้างมากของทั้งประเทศ แล้วขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องรักษาระยะห่างที่เหมาะสม คือไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทุกประเด็นของพันธมิตรฯ ประเด็นไหนที่ถูกต้องเหมาะสม ผมว่าก็เห็นด้วยได้ก็สนับสนุนไป ประเด็นไหนที่พันธมิตรฯเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม ล้ำเส้น หรือกระทบต่อระบบรัฐสภา ผมว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ แสดงจุดยืนให้เห็น เพราะอย่าลืมว่า คน 60 กว่าล้านคน ไม่ได้มีทุกคนที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯทั้งหมด ฉะนั้น ถ้าประชาธิปัตย์ไม่แก้ภาพลักษณ์ว่าพรรคกลายเป็นพรรคการเมืองพันธมิตรฯ อีกหน่อยถ้าคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ คุณอภิสิทธิ์ก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกันกับที่พรรคพลังประชาชนเจอ คือถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนแค่บางกลุ่ม ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ก็อาจจะเจอภาวะแบบเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็สามารถจัดการชุมนุมได้อย่างที่พันธมิตรฯจัดการชุมนุมเช่นกัน @ มองบุคลิกภาพทางการเมืองของอภิสิทธิ์อย่างไร เป็นผู้นำทางการเมืองในอนาคตได้หรือไม่ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์สร้างความผิดหวังให้กับคนหลายๆ คน แม้กระทั่งคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์เองก็ตาม แต่ที่ยังเลือกอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเป็น negative voting ก็คือต้องการให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งไปคานพรรคพลังประชาชน ถามว่าทำไมคนผิดหวัง เพราะหากดูจากคุณวุฒิและวัยวุฒิ สังคมคาดหวังกับคุณอภิสิทธิ์มากกว่านี้ มากกว่าบทบาทที่คุณอภิสิทธิ์เล่นมาถึงปัจจุบัน พูดง่ายๆ ถ้าเป็นกีฬา คุณอภิสิทธิ์เล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเล่น นี่พูดด้วยความห่วงใย เพราะการที่จะขึ้นมาบริหารประเทศ จะเก่งเรื่องวาทะทางการเมืองมันไม่พอ ต้องมีด้านที่เป็นผู้นำด้วย ที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม อย่าง บารัก โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ผมเคยไปฟังเขาพูด เขาเป็นนักโต้วาทีที่เก่งด้วย สะกดจิตคนได้อยู่หมัด แต่เขาไม่ได้มีแค่นั้น เพราะสิ่งที่สังคมอเมริกันคาดหวังคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่ผู้นำที่พูดเก่งเท่านั้น แต่ต้องมีนโยบายที่แตกต่าง แล้วก็มีความเอาจริงเอาจัง มีวิสัยทัศน์ เป็นนักปฏิบัติได้ด้วย ซึ่งวันนี้สังคมไทยเองก็ต้องการความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน คนที่ไม่ชอบพลังประชาชนก็ไม่มีความหวังอื่นนอกจากประชาธิปัตย์ ฉะนั้นคุณอภิสิทธิ์ต้องเป็นมากกว่านี้ ต้องสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้คนเห็นว่า ถ้าขึ้นมาแล้วจะบริหารประเทศได้ ไม่ใช่แค่การชนะการอภิปรายในสภาเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องมีนโยบายทางเลือกที่แตกต่าง เอาชนะใจคนทั้งประเทศให้ได้ ...